เกาะลันตา กับการผสมผสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม

เกาะลันตา กับการผสมผสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม

ในฐานะที่ด้านหนึ่งของการทำงาน คือ อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ และอีกด้านหนึ่งคือ นักวิจัย

ที่ร่วมงานวิจัยกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ในฝ่ายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ที่รับหน้าที่หัวหน้าโครงการการผลักดันผลผลิตการวิจัยด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทำให้การเดินทางไปลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลวิจัยยังจังหวัดต่างๆที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวมีหลายต่อหลายครั้งนัก แต่ละจังหวัดแต่ละสถานที่ย่อมมีความเหมือนที่สอดคล้องและความต่างที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ที่น่าค้นหา

ผลงานวิจัยในด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการที่ สกว. ให้ทุนสนับสนุนในแต่ละปี แต่ละโครงการมีความโดดเด่นที่แตกต่างกันออกไปทั้งในเชิงพื้นที่ เชิงผลผลิต (output) และเชิงผลลัพธ์(outcome) ซึ่งล้วนแล้วแต่ยังผลประโยชน์ให้แก่ชุมชนและท้องถิ่น รวมถึงเป็นแนวทางสำคัญในระดับนโยบายของประเทศด้วย จากผลงานวิจัยตั้งแต่ปี 2555 ถึงปัจจุบัน ก็ได้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ที่เป็นการผลักดันและสนับสนุนผลผลิตที่เกิดจากการวิจัยของนักวิจัย ให้ไปสู่การนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ นำมาซึ่งการพัฒนาในพื้นที่ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และความยั่งยืนในอนาคต ผลงานที่โดดเด่นได้กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคภาคตะวันตก และภาคใต้

เมื่อพูดถึงทะเลใต้ เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ คือ หนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของใครหลายคน ที่อยากจะมาท่องเที่ยว และเกาะลันตาแห่งนี้ ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่วิจัยที่ได้มีโอกาสไปเยือนและเห็นถึงความงดงามที่มิใช่เพียงแต่วิวทิวทัศน์ หากแต่เป็นความงดงามที่เห็นได้ถึงคุณค่า (Value) และอัตลักษณ์ (Identity) ของวัฒนธรรมที่โดดเด่นของพื้นที่แห่งนี้

ลันตา คือ เกาะขนาดใหญ่ที่มีผู้คนอาศัยต่อเนื่องมายาวนานกว่าร้อยปี ประกอบด้วย เกาะลันตาใหญ่ และเกาะลันตาน้อย แหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่อยู่บน เกาะลันตาใหญ่ ขณะที่ เกาะลันตาน้อย เป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอเกาะลันตา ด้วยระยะทางที่ห่างไกลจากแผ่นดิน เกาะลันตา จึงยังคงความสวยงามของหาดทราย และน้ำทะเลสะอาด ในเกาะลันตาเป็นการผสมผสานอัตลักษณ์ ของชาวเกาะดั้งเดิม ที่มีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยจีน ชาวไทยมุสลิม และจากการจัด Zoning แบ่งเขตการจัดการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกระบี่ ในด้านการกำหนดขีดความสามารถในการรองรับ โดยยึดหลักการการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตชุมชน และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าต่างๆของเกาะลันตา โดยแบ่งออกเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนบ้านร่าหมาด ชุมชนศรีรายา ชุมชนโต๊ะบาหลิว เกาะปอ และชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง

คำว่า อัตลักษณ์ (Identity) เป็นความท้าทายในแวดวงวิชาการอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในสายนิเทศศาสตร์ เพราะความหมายของอัตลักษณ์ได้แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา จากเดิมที่อัตลักษณ์ได้รับการนิยามว่าเป็นคุณสมบัติเฉพาะของคนหนึ่งหรือสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับคำว่า “เอกลักษณ์” นั้น ในปัจจุบันนี้มุมมองทางสังคมศาสตร์ได้รื้อสร้างความหมายเสียใหม่ ให้เหมาะสมกับคำว่า “อัตลักษณ์” มากขึ้นด้วยการพิจารณาความหมายของอัตลักษณ์ให้สัมพันธ์กับความเข้าใจการเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในบริบทของโลกาภิวัฒน์ ที่เน้นปรากฏการณ์ในมิติของเวลาอันรวดเร็ว และมิติของพื้นที่ที่ไร้ขอบเขตจำกัด รวมทั้งการเคลื่อนไหวในระดับขบวนการที่เป็นผลให้การก่อรูปของอัตลักษณ์เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทิศทางใหม่ในเชิงสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ และปัจจัยต่างๆ มากขึ้น

ท่ามกลางความหลากหลายในพื้นที่ของเกาะลันตา สอดคล้องกับทัศนะของนักทฤษฎีสาย Cultural Study อย่าง Stuart Hall ที่เชื่อว่า “อัตลักษณ์” เป็นเพียงสิ่งประกอบสร้าง โดยกล่าวว่า ความเป็นตัวตนนั้นเป็นเพียงชิ้นส่วนหลายๆชิ้น ที่ถูกประกอบรวมกันขึ้นมาเท่านั้นเอง และภายใต้บริบทของสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นอาจมีการเชื่อมต่อชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน และส่งผลต่อการแสดงออกของบุคคลในลักษณะหนึ่ง แต่เมื่ออยู่ภายใต้บริบทที่แตกต่างออกไป อาจจะมีการเชื่อมต่อชิ้นส่วนต่างๆและส่งผลกระทบต่อการแสดงออกของบุคคลในอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้

จาก อัตลักษณ์ (Identity) มาสู่ การผสมผสานอัตลักษณ์ของชาวชุมชนในเกาะลันตา ที่มีการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค เป็นสุข ยึดหลักการการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตชุมชน และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าต่างๆของเกาะลันตา ได้แบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนบ้านร่าหมาด ชุมชนศรีรายา ชุมชนโต๊ะบาหลิว เกาะปอ และชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ๆ ที่ความหลากของวัฒนธรรม ที่เราเรียกได้ว่า “พหุวัฒนธรรม”

1) ชุมชนบ้านร่าหมาด “หมู่บ้านเก่าแก่ กาแฟโบราณ จักสานเตยบ้านปาหนัน สวรรค์ทุ่งทะเล พื้นเพคนดี ศรีขุนเกาะกลาง” เป็นการสื่อถึงวิถีชีวิตและความเป็นมาของชุมชนบ้านร่าหมาด ผ่านสโลแกนที่แสดงถึง อัตลักษณ์ของชุมชน มีความโดดเด่นด้านวิถีชีวิตของชุมชนและมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น อาทิ กาแฟโบราณ และข้าวซ้อมมือ และยังได้มีการสืบสานศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่นของการแสดงรองแง็ง และลิเกป่าตาหยง ที่เป็นการแสดงพื้นบ้าน

2) ชุมชนบ้านโต๊ะบาหลิว เป็นที่ตั้งของชาวเลอูรักลาโว้ย หรือที่ถูกเรียกว่า ยิปซีทะเล (Sea Gypsy) เป็นคนกลุ่มแรกที่ค้นพบเกาะลันตาเมื่อกว่า 500 ปีที่ผ่านมา เป็นชุมชนที่รักสงบ เรียบง่าย มีอาชีพประมงมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นกลุ่มแรกๆที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เกาะลันตา มีประเพณี ภาษา และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างจากกลุ่มอื่น ด้วยลักษณะบ้านเรือนที่เป็นไม้ ใต้ถุนสูง แต่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายทะเลที่น้ำทะเลท่วมถึง มีประเพณีลอยเรือ”ปลาจั๊ก”ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนทะเล

3) ชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง เป็นชุมชนมุสลิมที่มีการดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยว เป็นชุมชนที่ล้อมรอบด้วยป่าชายเลนขนาดใหญ่กว่า 2,000 ไร่ ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์และมีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยนักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมวิถีชีวิตชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็งด้วยการล่องเรือหางยาวหรือพายเรือคายัคชมความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน การปลูกหญ้าทะเล และทางเดินศึกษาธรรมชาติ

4) เกาะปอ เป็นพื้นที่ใหม่ มีความสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยามาก ท้องทะเลบริเวณนี้มากไปด้วยปะการัง บ้านเรือนที่อยู่อาศัยก็ยังคงความเป็นธรรมชาติ ต้องใช้ไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ กิจกรรมทางการท่องเที่ยว จะเน้นไปที่การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ อาทิ การพาชมค้างคาวแม่ไก่ และนกเงือก

5) ชุมชนเมืองเก่าศรีรายา เป็นชุมชนคนจีนที่ล่องสำเภามาตั้งรกรากค้าขายอยู่บริเวณนี้ เดิมเป็นศูนย์กลางการค้า ท่าเรือหลัก และหน่วยงานราชการ (ก่อนจะย้ายไปยังที่ปัจจุบัน) มีสภาพบ้านเรือน มีสถาปัตยกรรมที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ มีระเบียงหลังบ้านที่ยื่นยาวออกไปในทะเล และที่จอดเรือของแต่ละบ้าน รวมทั้งมีพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่เก่าแก่ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานและอดีตอันรุ่งเรืองของศรีรายา(พิมพ์ลภัส พงศ์กรรังศิลป์,2557)

เมื่อกล่าวถึงความโดดเด่นในเชิงของวิถีการดำเนินชีวิต (The way of life) ของชาวชุมชนในเกาะลันตา ภายใต้สังคมที่เรียกว่า พหุวัฒนธรรม(multiculturalism)  ที่เป็นการอยู่ร่วมกันของคน 4 เชื้อชาติ ทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยจีน ที่นับถือศาสนาพุทธ ชาวไทยมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลาม และชาวไทยใหม่ (ชาวเล) หรือชาวอูรักลาโว้ย ที่นับถือผีบรรพบุรุษ ท่ามกลางจารีตประเพณีที่แตกต่างกันนี้ ชาวชุมชนเกาะ ลันตา มีการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติให้การยอมรับในความแตกต่าง และหลากหลายของกลุ่มวัฒนธรรมย่อย (subculture) อย่างลงตัว ทั้งเรื่องของพิธีกรรม ภาษา ภูมิปัญญาท้องถิ่น กิจกรรมการท่องเที่ยวทางประเพณี ที่ล้วนแล้วแต่เป็นอัตลักษณ์ที่มีให้เห็นได้อย่างชัดเจน อันเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้ควรค่าแก่การมาเยือนยิ่งนัก

นักสังคมวิทยาเออร์วิง ก็อฟมัน (Erving Goffman) ได้แบ่งประเภทของอัตลักษณ์ ออกเป็น 2 ประเภทและอธิบายลักษณะความแตกต่างและความเหมือนกันไว้ว่า อัตลักษณ์ส่วนบุคคล (personal identity) คือ ภาพของปัจเจกในสายตาคนอื่น ในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยสังคมจะมีวิธีการระบุอัตลักษณ์ส่วนบุคคลแตกต่างกันไป และ2) อัตลักษณ์ทางสังคม (social identity) ของบุคคล คือ สถานภาพทางสังคม เช่น อาชีพ เพศ ชาติพันธุ์ หรือศาสนาที่ปัจเจกบุคคลนั้นชุมชนสังกัดอยู่  จากพื้นที่ของเกาะลันตาแห่งนี้ เห็นได้ชัดเจนว่าอัตลักษณ์ส่วนบุคคลและอัตลักษณ์ทางสังคมมีส่วนที่ซ้อนทับกันอยู่ เพราะอัตลักษณ์ เป็นการเชื่อมต่อกันระหว่างความเป็นปัจเจก (individual) และสังคม (social aspect) ของชาวชุมชนทั้ง 5 พื้นที่ในเกาะลันตา

โดยผลผลิตจากงานวิจัยนี้ ที่แสดงให้เห็นถึง อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ และความโดดเด่นของพื้นที่พหุวัฒนธรรมของเกาะลันตา จังหวัดกระบี่นี้ เป็นผลการวิจัยภายใต้แผนงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดกระบี่” ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยมีผู้อำนวยการแผนงาน คือ ดร.พิมพ์ลภัส พงศ์กรรังศิลป์ จากหน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่มีความพยายามและความตั้งใจจริงที่จะพัฒนา และสร้างสรรค์ผลงานวิจัยนี้

ผลงานวิจัยที่เป็นงานโดดเด่นของ สกว.ยังมีอีกมากที่จะเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ที่น่าสนใจ อันเป็นการท่องเที่ยวที่ผสมผสานไปด้วยความรู้ เรื่องราวที่น่าค้นหา และควรค่าแก่การไปเยี่ยมเยือน ซึ่งจะขอนำเสนอในโอกาสต่อไป

 ----------------------------------

อาจารย์ฉัตรฉวี คงดี

อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น