'เงินบาท’ บนทาง2แพร่ง!

'เงินบาท’ บนทาง2แพร่ง!

ความแตกต่างของ “นโยบายการเงินโลก” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็น “เรื่องใหญ่” ที่ยังต้องติดตาม

 โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายของประเทศหลักในกลุ่ม จี3” (สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น) เพราะการ ขยับ นโยบายของกลุ่มประเทศเหล่านี้ แรงกระเพื่อมส่งผ่านไปทั้งโลก

 ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับ แนวโน้ม การดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเหล่านี้อยู่หลายชิ้น ข่าวที่ออกมาตอกย้ำถึงความ ต่าง ที่ดูจะมีมากขึ้น

 ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด มีข่าวทำนองที่คน ตีความ ว่า เฟดอาจ ขึ้น ดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนธ.ค.นี้ ยิ่งตัวเลข ว่างงาน ของสหรัฐที่ล่าสุดลดแตะระดับ 5% ต่ำสุดในรอบ 7 ปี ยิ่งตอกย้ำถึงความเป็นไปได้ดังกล่าว

 ด้าน ธนาคารกลางยุโรป หรือ อีซีบี ส่งสัญญาณในเชิงว่า อีซีบี อาจตัดสินใจ ขยายเวลา หรือ เพิ่มปริมาณเงิน ในมาตรการ คิวอี ออกไปอีก จากเดิมที่จะครบกำหนดในเดือนก.ย.2559 และปัจจุบันอัดฉีดอยู่เดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร

 ขณะที่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ บีโอเจ แม้จะแถลงชัดว่า ยัง ไม่เพิ่ม วงเงินของมาตรการคิวอี ที่ปัจจุบันอัดฉีดอยู่ปีละ 80 ล้านล้านเยน แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ บีโอเจ ต้องลดคาดการณ์การเติบโตลง ทำให้ตลาดมองว่า อนาคตหากเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่ดีขึ้น บีโอเจ อาจต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่ม

 ความแตกต่างของนโยบายการเงินในกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่ที่ดูจะยิ่ง สวนทาง กันมากขึ้น จึงมีคำถามว่า แล้ว เงินบาท จะแกว่งตัวไปทางใด ..ต่อข้อถามนี้ กูรู ทางเศรษฐกิจหลายคนยังให้น้ำหนักกับนโยบายการเงินของเฟดมากกว่าของธนาคารกลางแห่งอื่นๆ แต่ก็ยอมรับว่า เป็นเรื่องยากเกินคาดเดาว่า เงินบาทจะเคลื่อนไหวไปทิศใด

 คุณอุสรา วิไลพิชญ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายวิจัย ธนาคารสแตนดาร์ชาร์เตอร์ ไทย มองแนวโน้มเงินบาท “แข็ง” ขึ้นในช่วงจากนี้ไป ..เธอให้น้ำหนักกับ “การคาดการณ์” ของตลาด บวกกับ “ผล” ของนโยบายที่ออกมา

 เธอมองว่า อารมณ์ และ ความรู้สึก เป็นตัวกำหนด ทิศทางตลาด ที่ผ่านมาตลาดคาดการณ์แล้วว่า “เฟด” จะขึ้นดอกเบี้ย และตลาดก็ “ซึมซับ” รับข่าวไปแล้ว สะท้อนจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้นกว่า 25% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก

 คุณอุสรา มองว่า ถ้า เฟด ขึ้นดอกเบี้ยจริง ตลาดน่าจะมีแรงขายดอลลาร์ออกมา เป็นปฎิกริยาของพฤติกรรม sale on fact ทำให้เงินบาทแข็งค่าได้ แต่ถ้า เฟด ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบ นี้ ก็จะยิ่งผิดไปจากที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้า ปรากฎการณ์เทขายดอลลาร์จะยิ่งหนักขึ้น ทำให้เงินบาทแข็งค่าเร็วยิ่งขึ้น ..เดือนธ.ค.นี้ จึงถือเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของค่าเงินบาทไทย

 ด้าน ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เงินบาทยังมีทิศทางของการ “อ่อนค่า” อยู่แม้เฟดจะขึ้นหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ก็ตาม เพราะยังไงซะปีหน้าเฟดก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยอยู่ดี เพียงแต่ระหว่างนี้ เงินบาท อาจแกว่งตัวได้

 นอกจากนี้ “ดร.เชาว์” ยังมองว่า นโยบายการเงินของเฟดมีอิทธิพลกับ “เงินบาท” มากกว่าของ “อีซีบี” และ “บีโอเจ” เพราะถ้าเทียบปริมาณธุรกรรมที่ทำในรูปดอลลาร์แล้ว ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมาก “เฟด” จึงมีน้ำหนักกับเงินบาทไทยมากกว่า

 ความเห็นของ กูรูที่มองต่างมุมในเรื่องของค่าเงินน่าจะเพียงพอทำให้ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ผู้นำเข้าหรือ ผู้ส่งออกควรเริ่มมองหา เครื่องมือที่มาจัดการกับ ความเสี่ยงเหล่านี้ เพราะดูแล้วอนาคตเงินบาทผันผวนแน่นอน!