แผนพัฒน์ฯ ฉบับ 13 จะทำให้ Chinese Dream เป็นจริงได้หรือไม่

แผนพัฒน์ฯ ฉบับ 13 จะทำให้ Chinese Dream เป็นจริงได้หรือไม่

อีก 5 ปีจากนี้ มังกรจีนจะเดินหน้าไปทิศทางไหน จะมีพิมพ์เขียวในการพัฒนาประเทศรูปแบบใด

มีคำตอบอยู่ใน “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ของจีนค่ะ เท่าที่ดิฉันได้เกาะติดจับตาแผนพัฒนาของจีนมาหลายฉบับ พบว่าประเทศนี้เขาค่อนข้างเดินตามแผนพัฒนาแห่งชาติที่วางไว้อย่างจริงจัง ทั้งนี้ จีนเริ่มใช้แผนพัฒนาฉบับแรกตั้งแต่ปี 1953 ในยุคของท่านเหมาเจ๋อตง  

สำหรับแผนพัฒนาฉบับใหม่ (2016-2020) จะเป็นฉบับที่ 13 หรือที่คนจีนเรียกโดยย่อว่า “สือซานอู่” ก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นแล้วว่า พิมพ์เขียวฉบับใหม่ของจีนในยุคเศรษฐกิจจีนโตช้าลง และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะออกมาหน้าตาอย่างไร  

แล้วใครจะเป็นผู้วางแผนหรือกำหนดว่า พญามังกรจีนจะทะยานบินไปในทิศทางไหน รูปแบบใด ต้องไม่ลืมว่าประเทศนี้ใครครอง จึงแน่นอนว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ย่อมจะต้องเป็นโต้โผใหญ่ในการจัดทำ “ร่าง” แผนพัฒนาบนแผ่นดินจีนแดง หลังจากนั้น รัฐสภาจีนหรือชื่อทางการว่า National People’s Congress (NPC) ก็จะเป็นผู้เห็นชอบ และประกาศใช้แผนพัฒนาแห่งชาติของจีนอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในเดือนมีนาคมปีหน้าค่ะ

ล่าสุด ผลการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็เริ่มเผยโฉมให้เห็นแล้วว่า แผนพัฒนาฉบับ 13 ของจีนจะออกมาหน้าตาอย่างไร เรามาไล่เรียงดูกันเลยนะคะ

เริ่มจากประเด็นด้านเศรษฐกิจ  เนื่องจากมีปัญหาเชิงโครงสร้างของโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจจีนแบบเดิม ในช่วง 1-2 ปีนี้ เศรษฐกิจจีนเติบโตลดลง เพราะยังคงพึ่งพาภาคการค้าระหว่างประเทศมากเกินไป เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ก็ย่อมจะฉุดดึงให้ภาคส่งออกของจีนต้องหดตัว และเศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำลงตามไปด้วย ดังนั้น ผลการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนล่าสุด จึงต้องการใช้แผนพัฒนาฉบับใหม่ในการเดินหน้า “ปรับโมเดลเศรษฐกิจจีน” อย่างจริงจัง โดยการเบนเข็มหันมาเน้นการบริโภคภายในประเทศ และปลุกปั้นเศรษฐกิจภาคบริการของจีน ให้มีบทบาทมากขึ้นอย่างแท้จริง

แม้ว่าทางการจีนได้รายงานตัวเลขมูลค่าภาคบริการที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2015 สัดส่วนภาคบริการได้ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 51.4% ของ GDP จีน ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของจีน แต่ก็ต้องยอมรับว่า จีนยังจำเป็นต้องพัฒนาภาคบริการให้มากขึ้นและดีขึ้นกว่าเดิม

น่าสนใจ คือ ในแผนพัฒนาฉบับ 13 นี้ ทางการจีนไม่ได้ประกาศเป้าหมายตัวเลขอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนเหมือนที่ผ่านมา เพียงแค่ระบุกว้างๆ ว่า จีนจะรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ “ระดับปานกลาง-สูง” ในช่วง 5 ปีจากนี้ จึงเป็นไปตามภาวะ New Normal หรือ “ซินฉางท่าย” (Xin Chang Tai) ในภาษาจีนกลาง  ผู้นำจีนพยายามนำคำนี้มาใช้อธิบายภาวะเศรษฐกิจจีนที่โตช้าลง โดยบอกว่า “นี่คือความตั้งใจของจีนเองที่จะโตช้าหน่อย แต่โตแบบมีคุณภาพ การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจากนี้ไป จะไม่หวือหวาเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเป็นการเติบโตอย่างมั่นคง

การปรับโมเดลเศรษฐกิจจีนตามแผนพัฒน์ฯ ใหม่นี้  รัฐบาลจีนมุ่งมั่นที่จะให้สัดส่วนการบริโภคภายในประเทศเพิ่มมากกว่า 60% ของ GDP จีน เพื่อดึงพลังทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคจีน มาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจแดนมังกร 

โดยเฉพาะกลุ่มพลเมืองเน็ตจีนที่มีมากกว่า 618 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีกลุ่มผู้ซื้อออนไลน์ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจนทะลุหลัก 360 ล้านคน ส่งผลให้มูลค่าการค้าปลีกบนอินเทอร์เน็ตในจีน ได้ก้าวกระโดดเป็นอันดับ 1 ของโลก แซงสหรัฐฯไปเรียบร้อยแล้ว และส่งผลต่อเนื่องให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าปลีกบนเว็บไซต์ได้เติบโตตามไปด้วย

การเติบโตของการค้าออนไลน์ในจีน จึงเป็นอีกเครื่องมือทรงพลังที่จะสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจีน ในขณะนี้ อุตสาหกรรม E-commerce คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7 ของ GDP จีน รวมทั้งมีร้านค้าบนอินเทอร์เน็ตจีนมากกว่า 4 ล้านแห่ง และยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การผลิตอุปกรณ์สมาร์ทโฟน และการบริการจัดเก็บข้อมูลแบบไร้สาย (Cloud storage service) ซึ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดตามไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มแรงงานอพยพต่างมณฑลอีกราว 269 ล้านคน หากนโยบาย Urbanization ของรัฐบาลจีนชุดนี้ทำได้จริง ก็จะทำให้แรงงานอพยพจีนที่ยากไร้เหล่านี้ ได้รับการยกระดับรายได้ขึ้นมาเป็นกลุ่มชนชั้นกลางจีน และจะเป็นอีกพลังซ่อนเร้น ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนตามแผนฯ ฉบับ 13 ที่จะปรับโครงสร้างเพิ่มสัดส่วนของการบริโภคในประเทศต่อ GDP จีนให้มากขึ้น

ชัดเจนว่า เป้าหมายสำคัญในแผนพัฒน์ฯ ฉบับ 13 ของจีน จึงไม่ใช่ตัวเลข GDP หรือ GDP Growth แต่เป็นเรื่องของรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของชาวจีน (GDP per capita) โดยถูกวางเป้าหมายชัดเจนว่า รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนจีนจะต้องเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในปี 2020 (นั่นคือ เพิ่มจาก 6,040 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ในปี 2010 เป็น 12,080 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ภายในปี 2020 ที่จะเป็นปีสิ้นสุดแผนฯ ฉบับ 13)

ในด้านประเด็นทางสังคม ผลการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งนี้ ที่ถูกจับตามากที่สุด คือ การประกาศยกเลิก “นโยบายลูกคนเดียว” ซึ่งใช้มานานตั้งแต่ปี 1979 ในตอนนี้ถูกมองว่าเป็นมาตรการที่ล้าสมัย สร้างปัญหาความไร้สมดุลของประชากรเพศชายที่มีมากกว่าเพศหญิง รวมทั้งแนวโน้มการเป็นสังคมผู้สูงอายุ ที่อาจจะทำให้ประเทศจีนมีปัญหา “แก่ก่อนรวย”

จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ในปี 2014 จากประชากรจีนทั้งหมด 1,367 ล้านคน มีสัดส่วนของผู้ที่อายุ 60 ขึ้นไปสูงถึง 15.5% และสัดส่วนของผู้ที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไปถึง 10.1% ของประชากรจีนทั้งหมด  

ด้วยภาวะความตึงตัวทางประชากรเช่นนี้ ย่อมส่งผลต่อกำลังแรงงานของประเทศ และส่งผลสืบเนื่องต่อภาคการผลิตโดยรวมของจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงต้องปรับนโยบายประชากรให้สมดุลขึ้น โดยการจะอนุญาตให้ครอบครัวจีนมีลูกสองคนได้ตามแผนพัฒนาฉบับที่ 13

เหนืออื่นใด แผนพัฒน์ฯ ฉบับ 13 ถือเป็นแผนพัฒนาแห่งชาติฉบับแรก ที่จัดทำขึ้นในยุคผู้นำจีนรุ่นที่ 5 ของท่านสี จิ้นผิง จึงต้องจับตาและร่วมลุ้นต่อไปว่า แผนพัฒน์ฯ ฉบับนี้จะทำให้ “ความฝันของจีน” (จุดประกายโดยท่านสี จิ้นผิง มาตั้งแต่ปี 2013) เป็นจริงได้หรือไม่ โดยเฉพาะความฝันที่จะเป็นสังคม “เสี่ยวคัง” คือ สังคมที่คนจีน “มีกินมีใช้” ถ้วนหน้าภายในปี 2020 ที่จะสิ้นสุดแผนฯ 13 และยังเป็นปีที่จีนเตรียมฉลองใหญ่ในวาระครบรอบ 100 ปี ของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยวางเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องยกระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนจีนเพิ่มเป็นเท่าตัว และต้องบรรลุ “สังคมเสี่ยวคัง” ให้จงได้