“กิจการเพื่อสังคม” และแนวคิดที่ SME ควรสนใจ

“กิจการเพื่อสังคม” และแนวคิดที่ SME ควรสนใจ

เมื่อสองปีที่แล้วผมมีโอกาสได้ศึกษาหลักสูตร วตท รุ่นที่ 18 ที่มีการศึกษาเรื่อง กิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise เป็นกรณีศึกษาของรุ่น

ผมอยากนำเสนอรายละเอียดที่น่าสนใจเรื่อง กิจการเพื่อสังคม เพราะเชื่อว่าจะเป็นโมเดลที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการกลุ่ม Startup ของประเทศไทย

แนวคิด Social Enterprise ก่อตัวขึ้นในทวีปยุโรปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 ในระยะแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเงินขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ประสบปัญหาทางการเงินจากเงินอุดหนุนของรัฐบาล และผู้บริจาคเงินเพื่อการกุศลลดลง ในการแสวงหารายได้เพื่อให้องค์กรอยู่รอด

สำหรับในประเทศไทย รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2552 เพื่อส่งเสริมให้เกิดธุรกิจหรือวิสาหกิจที่มีลักษณะพิเศษในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

กิจการเพื่อสังคม หมายถึง องค์กรที่มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนเพื่อประโยชน์ของชุมชน ริเริ่มโดยกลุ่มของประชาชนโดยใช้เงินทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด สำหรับการบริหารงานที่เป็นอิสระ โดยแบกรับความเสี่ยงทางด้านการเงินจากการทำกิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เริ่มจากธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ยังคงมีเป้าหมายทางการเงินรวมอยู่ด้วย กิจการเพื่อสังคม แตกต่างกับค่าว่า CSR หรือ Corporate Social Responsibility ที่เป็นกิจกรรมที่สร้างภาพลักษณ์ของกิจการ แต่ยังคงมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างกำไรสูงสุดให้แก่เจ้าของกิจการและผู้ถือหุ้น

แนวคิดของธุรกิจ SE จะช่วยลดจำนวนคนยากจนให้เหลือน้อยที่สุด ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม กิจการเพื่อสังคมเป็นการประสานความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจ ผลตอบแทนทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม และผลตอบแทนทางการเงิน

ในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมา แนวคิดเรื่อง SE เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ(สกส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมี SE ที่ขึ้นทะเบียนแล้วไม่น้อยกว่า 400 ราย มีการประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม การระดมทุนเพื่อกิจการทางสังคม การจัด SE Matching Day มีพื้นที่ให้ SE ขายไอเดีย มีตลาดนัด SE มีมหาวิทยาลัยต้นแบบของ SE ที่เปิด กรณีศึกษา SE ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นแล้วและขอนำเสนอเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ ได้แก่ กรณีของ Chivalry Silk เป็นบริษัทร่วมทุนที่นำผ้าไหมคุณภาพดีของชาวบ้านกว่า 100 ครัวเรือน ในจังหวัดลำพูน ออกจำหน่ายสู่ตลาดโลก ทาง Internet (E-Commerce) โดยรับซื้อผ้าไหมโดยตรงจากชุมชน และเป็นตัวแทนจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม

อีกกรณีหนึ่งได้แก่ เครือข่ายนวัตกรรมชาวบ้าน (Grassroot Innovation Network) ที่เกิดจากแรงผลักดันของสถาบัน Thai Rural Net ที่มีแนวคิดในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนา เรียนรู้ทดลองร่วมกับชาวบ้านเพื่อหาองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับภูมิประเทศและสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เครือข่ายนวัตกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 600 เครือข่าย มีสมาชิกกว่า 400 ครัวเรือน ซึ่งทำกิจกรรมบนพื้นที่ 1 งาน สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตได้ถึง 600%

ในแง่ของการสนับสนุนแนวคิด SE ที่น่าสนใจคือ กรณี ของบริษัท บ้านปู จำกัด(มหาชน) ที่ทำโครงการ BANPU CHAMPIONS FOR CHANGE โดยการเปิดรับแผนธุรกิจเพื่อสังคม จากเยาวชน อายุ 20-30 ปี ให้เงินสนับสนุนทีมละ 50,000 บาท ให้เวลา 3 เดือน ขับเคลื่อนโครงการ โครงการที่ได้รับการคัดเลือก จะได้รับการสนับสนุนต่ออีก 6 เดือน โดยได้รับทุนเพิ่มทีมละ 200,000 บาท ใช้เงินทุนปีละ 1.3 -1.5 ล้านบาท สิ่งที่สำคัญคือการดึงพลังจากเหล่าที่ปรึกษา ซึ่งล้วนมาจากองค์กรขนาดใหญ่ เป็นพี่เลี้ยง ให้กับมือใหม่ที่หัดเป็นผู้ประกอบการ แต่ยังขาดความเชี่ยวชาญเชิงธุรกิจ

ผมเชื่อว่าถ้าองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศมีความพร้อมทางด้านบุคลากร ให้การสนับสนุนแนวคิด SE จะช่วยก่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศ ช่วยเกื้อหนุนนโยบายของรัฐบาล ให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณในเรื่องของกองทุนหมู่บ้าน ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่มากกว่าในอดีตอย่างแน่นอนครับ