‘มัลติสกรีน’เพิ่มรายได้ทีวี

‘มัลติสกรีน’เพิ่มรายได้ทีวี

แนวโน้มการขยายตัวของ “ประชากรออนไลน์” ไทย ยังมีปัจจัยหนุนต่อเนื่อง ทั้งการให้บริการ 4จี

เต็มรูปแบบในปีหน้า “สมาร์ทโฟน” ราคาประหยัดเติบโตสูง ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญทำให้มีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต “หน้าใหม่”เพิ่มขึ้น

ประเมินว่าสัดส่วนคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแตะ 50% ในปีหน้า และโทรศัพท์มือถือจะเปลี่ยนเป็นสมาร์ทโฟนทั้งหมดในระยะเวลาอันใกล้ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ ดิจิทัล มีเดีย เป็นสื่อที่มีบทบาทสำคัญเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างไม่ต่างจากสื่อหลักอื่นๆ

ตัวเลขยืนยันความสำคัญของสื่อดิจิทัล คือเม็ดเงินโฆษณาที่ใช้ผ่านสื่อนี้ นีลเส็นคาดการณ์ปี2558 อุตสาหกรรมโฆษณามีมูลค่า 1.53 แสนล้านบาท สื่อดิจิทัล ครองสัดส่วน 6.4% หรือมูลค่า 9,800 ล้านบาท ถือเป็นสื่อที่ขยายตัวสูงต่อเนื่องจากปี 2555 ที่ครองสัดส่วนเพียง 2.4% มูลค่า 2,700 ล้านบาท โดยเฉลี่ยช่วง 4 ปีนี้ โฆษณาสื่อดิจิทัลเติบโตปีละ 39%

เมื่อพิจารณาตลาดต่างประเทศ คาดว่าปีนี้ โฆษณาสื่อดิจิทัล ในสหรัฐ มีสัดส่วน 31% เยอรมนี 24.07% ญี่ปุ่น 23.91% ทั่วโลกเฉลี่ย 28.78%  จากปัจจัยจำนวนประชากรออนไลน์ไทยและอุปกรณ์สมาร์ทโฟนขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้งบโฆษณาสื่อดิจิทัลไทยเติบโตสูงในทิศทางเดียวกับตลาดโลก นีลเส็นจึงมองว่าสัดส่วนโฆษณาสื่อดิจิทัลไทย มีโอกาสแตะระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยโลกในเร็วๆนี้

หากลองคำนวณสัดส่วนโฆษณาสื่อดิจิทัลไทยที่ 28.78% จากอุตสาหกรรมโฆษณามูลค่า 1.53 แสนล้านบาทในปีนี้ จะมีมูลค่าถึง 4.4 หมื่นล้านบาท ตัวเลขดังกล่าว ถือเป็นอีกโอกาสสร้างรายได้ของธุรกิจสื่อที่สามารถพัฒนา “คอนเทนท์” ตอบโจทย์ความสนใจผู้บริโภคสื่อ

สอดคล้องกับข้อมูลของ สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. ที่สำรวจพฤติกรรมการบริโภคสื่อ (Media Consumption) ของไทย ตามโครงการศึกษาแนวทางในการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้บริการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (Audience Measurement) พบแนวโน้มคนไทยเปิดรับสื่อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จากการใช้งานอุปกรณ์เคลื่อนที่ สมาร์ทโฟน แทบเล็ต ที่สามารถใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา วัตถุประสงค์การใช้สื่อออนไลน์ของคนไทย คือเพื่อดูรายการทีวีออนไลน์ 45% รองลงมาคือใช้เล่นโซเชียล เน็ตเวิร์ค 20% ค้นหาข้อมูลและอัพโหลดข้อมูลออนไลน์ 11%

ผลการสำรวจยังพบพฤติกรรมเปิดรับสื่อออนไลน์ในลักษณะทดแทนกัน นั่นคือในช่วงไพรม์ไทม์ทีวีเวลา 18.00–23.00 น. คนไทยจะใช้เวลาไปกับสื่อออนไลน์“ลดลง” แสดงให้เห็นว่ายังคงเปิดรับสื่อผ่าน Main Screen ในช่วงดังกล่าว

ข้อมูลวิจัยของ Millward Brown พบว่า ใน 1 วัน คนไทยเปิดรับสื่อผ่านเครื่องมือที่หลากหลาย(Multi screen) โดยเปิดรับสื่อผ่านจอทีวี 78 นาทีต่อวัน สมาร์ทโฟน 167 นาทีต่อวัน แลปท็อป 96 นาทีต่อวัน และแทบเล็ต 95 นาทีต่อวัน เมื่อรวมการเปิดรับสื่อผ่านทางอุปกรณ์เคลื่อนที่ สมาร์ทโฟน แลปท็อปและแท็บเล็ต อยู่ที่ 358 นาที หรือประมาณ 6 ชั่วโมงต่อวัน

เมื่อพิจารณาข้อมูลประกอบกับพฤติกรรมการเปิดรับสื่อในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ทีวี สะท้อนได้ว่าในช่วงดังกล่าวรวมระยะเวลา 5 ชั่วโมงที่ประชาชนเปิดรับสื่อสูงเป็นการผสมผสานกันระหว่างการรับชมรายการผ่านจอทีวีและการเปิดรับสื่อจากจออื่นๆ

จากทิศทางอุตสาหกรรมโฆษณาสื่อดิจิทัลเติบโตและพฤติกรรมการเสพสื่อรูปแบบ มัลติ สกรีน หากช่องทีวีดิจิทัลและผู้ผลิตเนื้อหารายการ ปรับตัวเป็นผู้ให้บริการคอนเทนท์ในทุกแพลตฟอร์ม นอกจากหน้าจอทีวี เพื่อทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงเนื้อหารายการหลากหลายช่องทางตามพฤติกรรมเสพสื่อ โดยอาศัยจุดเด่นด้านการผลิตคอนเทนท์หลักทางจอทีวี ที่สามารถต่อยอดสร้างเนื้อหาในจออื่นๆ

โดยอุตสาหกรรมทีวีและนีลเส็นเตรียมดำเนินการวัดเรทติ้งเนื้อหารายการผ่านจอมัลติ สกรีนในปีหน้า ซึ่งจะทำให้เรทติ้งช่องทีวีดิจิทัล“เพิ่มขึ้น” จากช่องทางมัลติ สกรีนที่ไม่เคยมีการวัดความนิยมมาก่อน

บริการมัลติ สกรีนถือเป็นอีกช่องทางโอกาสสร้างรายได้ จากสื่อดิจิทัลที่มีแนวโน้มผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณาขยายตัวสูง