GDP ลวงโลก?

 GDP ลวงโลก?

รัฐบาลจีนเพิ่งประกาศตัวเลขการเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 6.9% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี

ส่งผลให้เกิดกระแสความเป็นห่วงถึงการ (กำลังจะ) พังพินาศของเศรษฐกิจจีน หลายฝ่ายยังเชื่อด้วยว่า ตัวเลขการเติบโตของ GDP ที่รัฐบาลจีนประกาศนั้น เป็นตัวเลขที่ตกแต่งขึ้นลวงโลก ตัวเลขของจริงน่าจะแย่กว่านั้นมาก

ตัวเลข 6.9% ดูดีเกินจริงหรือไม่ และเศรษฐกิจจีนน่าเป็นห่วงจริงหรือไม่? คำตอบสั้นๆ (และอาจดูเหมือนขัดแย้งกัน) ของผมก็คือ ตัวเลข 6.9% นั้น แม้ว่าน่าจะลวงโลก แต่เศรษฐกิจจีนของจริงยังไม่น่าเป็นห่วงในตอนนี้

เมื่อดูตัวเลขสถิติอื่นๆ อันแสนมืดมนประกอบ จะพบว่าตัวเลขการเติบโตของ GDP ที่ 6.9% นั้น ดูดีเกินไป ตัวอย่างตัวเลขแย่ๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งในและนอกประเทศจีนมักพูดถึง ได้แก่

หนึ่ง ตัวเลขปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงสามไตรมาสที่ผ่านมา แทบไม่เพิ่มขึ้นเลย สมัยก่อนเวลาเศรษฐกิจเติบโต ตัวเลขการใช้ไฟจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สอง ตัวเลขปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางรางในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมา เท่ากับ 2,200 ล้านตัน ลดลงจากก่อนหน้านี้ถึง 10.9% ตัวเลขปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางรางเฉพาะในเดือนสิงหาคมเท่ากับ 280 ล้านตัน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าถึง 15.3% และถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี ค.ศ.2010 เป็นต้นมา

สาม การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แทบไม่ขยายตัว ในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีการซื้อที่ดิน เพื่อนำมาพัฒนาโครงการคิดเป็นเนื้อที่ลดลงจากก่อนหน้านี้ถึง 33.8% การลงทุนในโครงการมีการเติบโตเพียง 2.6% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าตัวเลขการเติบโตของการลงทุนที่ผ่านมามาก

สี่ ผลกำไรในภาคอุตสาหกรรมการผลิตตกต่ำ ในช่วงเดือนสิงหาคม กำไรโดยเฉลี่ยในภาคอุตสาหกรรมการผลิตลดลงถึง 8.8% ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2012 เป็นต้นมา โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีการผลิตมากเกินความต้องการ เช่น ภาคอุตสาหกรรมเหล็ก ประสบปัญหามาก

ห้า ตลาดหุ้นจีนตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ในปีนี้ ภาคการเงินคิดเป็นสัดส่วน 19.3% และ 19.9% ของ GDP จีนตามลำดับ แต่ในขณะที่หุ้นจีนตกอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา การเติบโตของตัวเลข GDP ของจีน (ที่รัฐบาลประกาศ) กลับปรับตัวลดลงเพียง 0.1% จากไตรมาสที่ผ่านมาเท่านั้น 

ดังนั้น เมื่อพิจารณาสถิติต่างๆ อันมืดมนข้างต้น ทำให้สรุปได้ว่า ตัวเลขการเติบโตที่แท้จริงของจีนน่าจะต่ำกว่านี้ อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขการเติบโตของจีนไม่น่าจะสูงเท่าที่ประกาศออกมา แต่ก็ไม่น่าจะแย่จนเกินไป และในภาพรวม เศรษฐกิจของจีนกลับไม่น่าเป็นห่วงอย่างที่นักวิชาการบางกลุ่มเที่ยวตีฆ้องร้องป่าว

นั่นเพราะเหตุว่า ตัวเลขสถิติ (มืดมน) ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ล้วนสะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจดั้งเดิมของจีน ที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งรัฐบาลจีนมีนโยบายแน่วแน่ชัดเจนว่า จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเสียใหม่ เปลี่ยนจากการเน้นการผลิตเพื่อส่งออก มาเป็นการเน้นการบริโภคภายในประเทศ และเน้นส่งเสริมภาคบริการ

หากมองตามเป้าหมายนี้ จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจจีนยังคงมีอนาคตค่อนข้างสดใส โดยเฉพาะเมื่อดูตัวเลขที่เกี่ยวข้องประกอบ

หนึ่ง สัดส่วนภาคบริการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี ค.ศ.2001 สัดส่วนของภาคบริการอยู่ที่เพียง 41.3% ของ GDP จีน แต่ปัจจุบันสัดส่วนของภาคบริการเพิ่มขึ้นเป็น 51.4% ของ GDP แล้ว เพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ.2001 ถึงกว่า 10% และเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 2.3% สะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีนกำลังเปลี่ยนผ่านจากการเน้นภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การเน้นภาคบริการตามเป้าหมายที่รัฐบาลจีนประกาศไว้

สอง สัดส่วนการบริโภคภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเป็น 58.4% ของ GDP จีน สูงกว่าปีที่แล้วถึงกว่า 9.3% แสดงว่าการบริโภคภายในประเทศมีบทบาทมาก

สาม รายได้ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายได้เฉลี่ยของประชากรในช่วงสามไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 9.2% โดยรายได้ของประชากรในเขตเมืองปรับตัวสูงขึ้น 6.8% และรายได้ของประชากรในเขตชนบทปรับตัวสูงขึ้น 8.1% จีนหวังว่าหากสามารถยกระดับรายได้ชาวบ้านในชนบทกว่า 600 ล้านคนได้ ก็จะปลดปล่อยพลังการบริโภคอีกมหาศาล          

สี่ อัตราการว่างงานในเดือนกันยายนอยู่ที่ 5.2% ซึ่งยังอยู่ในระดับเดิมเท่ากับที่ผ่านมา

ห้า ในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา ปริมาณการขายอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้น 7.5%

หก รัฐบาลใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รายจ่ายงบประมาณในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 26.9% และมีการกู้ยืมเงินรอบใหม่ในระบบสูงถึง 105 ล้านหยวน

ในหลายประเทศ ตัวเลขการเติบโตของ GDP มักส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Jack Ma เจ้าของ E-Commerce ยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba เพิ่งส่งหนังสือถึงผู้ถือหุ้นในสหรัฐฯ เพื่ออธิบายว่า ตัวเลขการเติบโตของ GDP จีน จะเป็นเท่าไรไม่สำคัญ เพราะผู้บริโภคในจีนไม่ค่อยสนใจตัวเลข GDP (ไม่ได้เชื่อตัวเลขรัฐบาลมากอยู่แล้ว) แต่สนใจทิศทางนโยบายและแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมากกว่า และตัวผู้บริโภคในจีนเองก็ยังมีเงินออมในบัญชีธนาคารจำนวนมาก เมื่อเทียบกับผู้บริโภคในสหรัฐฯ ซึ่งมักกู้หนี้บัตรเครดิตมาซื้อของ

Jack Ma จึงมองว่า การบริโภคภายในประเทศของจีนน่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน การที่การเติบโตของตัวเลข GDP ลดต่ำลง กลับเป็นผลดี เพราะการปั๊มลมตัวเลข GDP แบบในอดีต มีแต่จะสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อม ไม่ยั่งยืน จึงเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลจีนให้ความสนใจตัวเลขอื่นๆ มากขึ้นในการกำหนดนโยบาย ดังนั้น การเติบโตของรายได้เฉลี่ยของประชากร และตัวเลขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการและการบริโภคภายในประเทศ จึงชี้ว่าเศรษฐกิจจีนยังมีอนาคต

ในเวลาเดียวกันกับที่จีนประกาศตัวเลขไตรมาสที่ 3 กระทรวงการคลังของไทยก็แถลงว่า GDP ไทยในปีนี้ จะโตที่ 2.8% ปัจจุบันดูเหมือนทุกฝ่ายยอมรับตัวเลขนี้โดยไม่มีใครแปลกใจ นับว่าเป็นอัตราการโตที่ต่ำที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนทั้งหมด ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ นอกจาก GDP ก็ยังมองไม่เห็นตัวเลขใดชี้ว่าอนาคตมีความหวัง