'ทักษิโณมิคส์'สู่'สมคิดโนมิคส์'(1) ข้อวิพากษ์บนฝันร้ายเดิมๆ

'ทักษิโณมิคส์'สู่'สมคิดโนมิคส์'(1) ข้อวิพากษ์บนฝันร้ายเดิมๆ

หลังจากได้ฟังคำประกาศของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

   ในงาน Post Forum ทำนองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ควักออกมาใช้หมดแล้ว ต่อไปนี้จะเข้าสู่ขั้นตอน“ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ 4 ด้าน”

  ทำให้ต้องกลับไปดูในรายละเอียดของชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี  นับจากทีมเศรษฐกิจใหม่ได้เข้ามาเมื่อกลางเดือนสิงหาคม กับข้อวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเชิงสร้างสรรค์และเชิงไม่สร้างสรรค์ ที่ทำให้ดร.สมคิดหลุดคำพูดแสดงอาการ“หงุดหงิด”บ้าง

  มาตรการชุดที่หนึ่ง รดน้ำลงรากหญ้า ด้วยวิธีกระจายเงินลงไปใส่มือชาวบ้าน  ในระดับกองทุนหมู่บ้านๆละ 1 ล้านบาท ประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท  รายตำบล 7,280 ตำบลให้คิดโครงการระดับ 5 ล้านบาท รวมประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรฯปล่อยกู้โครงการขนาดเล็กๆ 4 หมื่นล้านบาท วงเงินรวมประมาณ 1.36 ล้านบาท ครม.อนุมัติเมื่อ 1 ก.ย.

  มาตรการชุดที่สอง เพาะกล้าเอสเอ็มอีและธุรกิจเกิดใหม่  ด้วยมาตรการทางการเงินง่ายๆ  ตั้งกองทุนธุรกิจใหม่ให้ธนาคารรัฐปล่อยกู้กับมาตรการการคลัง ลดหย่อนภาษีเอสเอ็มอีกหลือ 10% 2 รอบบัญชี( 2558-2559) และสร้างแรงจูงใจพวกธุรกิจจัดตั้งใหม่เพื่อให้เป็น New Engine of Growth เช่น เกษตรแปรรูป  นวัตกรรม  ดิจิทัล วิจัย ฯลฯ ยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี  ครม.อนุมัติเมื่อ 8 ก.ย.

  มาตรการชุดที่สาม ลดภาระเป็นเจ้าของบ้าน ด้วยมาตรการอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ได้ผลทุกครั้งคือลดค่าจดทะเบียนดอนและค่าจดจำนองเหลือแค่ 0.01% แทบจะเรียกว่ามีติดปลายนวมไว้เพื่อไม่ให้เป็นการยกเว้น เพิ่มเกณฑ์คำนวณเงินผ่อนต่องวดเป็น 50%ของรายได้  จูงใจนำเงิน 20%จากบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทไปหักลดหย่อนภาษีได้ 5 ปี ครม.อนุมัติเมื่อ 13 ต.ค.

  นับจากวันที่ 17 ส.ค.ประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มีทีมเศรษฐกิจทีมใหม่ทั้งหมดที่นำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ลงมือทำงานมาแค่ประมาณเดือนครึ่งได้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมา 3 ชุดใหญ่ๆ 

  ใครจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ต้อง“ยกนิ้ว”ให้ว่าดร.สมคิดและทีมงานได้ทำการบ้านมาอย่างดีก่อนจะเข้ามารับตำแหน่งที่ไม่เสียแรงนั่งรอนอนรอเข้ามาทำงานอยู่นานหลายเดือน  หลังจากมีกระแสเสียงร่ำลือมาประมาณ 3-4 เดือนกว่าๆว่านายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคมีทำงานไม่ตรงกันกับหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเดิมม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล  กำลังคิดจะเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่ที่ดูเหมือนเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแบบไม่ถึงครึ่งทีมด้วยซ้ำ

  “หม่อมอุ๋ย”มีสายตรงรัฐมนตรีเศรษฐกิจจริงๆน่าจะแค่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมหมาย ภาษี,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมดร.จักรมณฑ์ ผาสุกวนิชและรัฐมนตรีว่าการพลังงานดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี  ส่วนกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการเป็นพล.อ.ฉัตรชัย สาลิกายะ เพื่อนซี้นายกฯและรัฐมนตรีช่วยที่ว่ากันว่าเป็น“คนของอาจารย์สมคิด”  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพล.อ.อ.ประจิน จั่นตองที่เป็นเพื่อนพ้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฯลฯ

  มิหนำซ้ำมองเห็นระยะห่างของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุลในการทำงานที่เป็น“อิสระ”ไม่ได้มาจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ 1 โดยตรง

  แตกต่างจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ที่รับไม้ต่อจากดร.ประสาร  ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการฯหนุ่มอายุ 46 ปีที่มองเห็นเงาความคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์การตลาดของดร.สมคิดทาบอยู่พอสมควร

    “หม่อมอุ๋ย”เติบโตมาจากแวดวงราชนิกุลชั้นสูงที่ทุกคนมักได้รับการศึกษาสูงตามมาตรฐานของคนในชาติตระกูลสูง  ทำให้จุดอ่อนสำคัญของหม่อมอุ๋ยคือขาด Human Touch บริหารงานแบบตัวเองเป็นตังตั้งทำให้ขาดความร่วมมือจากข้าราชการที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของราชการไทย  แม้เจ้าตัวจะลงคลุกรายละเอียดไล่บี้ทะลวงท่อให้เงินงบประมาณให้ออกไปโดยเร็วเมื่อเงินชาวบ้านเหือดแห้ง

  ทีมงานในระดับนักคิดนักทำงานของหม่อมอุ๋ยถือว่า“ไม่มีเลย”เพราะหน้าตาอายุอานามของรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่เป็นสายตรง  ล้วนแต่แค่เป็นเพื่อนๆเคยทำงานกันมายาวนานจนเรื้อเวทีไปเป็นส่วนใหญ่  การกลับมาเป็นรัฐมนตรีใหม่ในช่วงวัยพ้นเกษียณไปกว่า 10 ปีย่อมไม่เหนือความคาดหมายว่าไฟทำงานเหลือน้อยเต็มที

   “อาจารย์สมคิด”เติบโตมาจากลูกจีนเกิดในไทย  โดยทั่วไปต้องดิ้นรนเอาตัวรอดให้ได้หาทุนเรียนหนังสือด้วยตัวเอง และโชคดีมีพี่ชายเก่งทำให้ได้เรียนสูงๆจบเมืองนอก  ทำให้อาจารย์สมคิดมีจุดแข็งที่หม่อมอุ๋ยขาดคือ Human Touch และสร้าง Networking อยู่ตลอดเวลา ทำให้ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการอย่างมาก

   ดร.สมคิดมี“มือทำงาน”ที่เป็นนักวิชาการระดับกระบี่คู่ใจ 2 คนคือดร.สุวิทย์ เมฆินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กับดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยี่สารสนเทศฯ รวมทั้ง“มือทำงานจากวงราชการ”ที่วางไว้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์“อภิรดี”,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม“ดร.อรรชกา”และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม“อาคม”

   ทีมเศรษฐกิจของอาจารย์สมคิดยังอยู่ในวัยทำงานและช่วงก่อนเกษียณอายุที่ถือว่ายังอยู่ในช่วงที่มีกำลังวังชาทั้งหัวสมองและไฟทำงาน  มากกว่าทีมเศรษฐกิจของหม่อมอุ๋ยที่พ้นวัยเกษียณไปแล้ว

   การตัดสินใจเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่ของนายกฯประยุทธ์ แม้อาจจะช้าไปสักนิด  แต่จากชุดมาตรการ  3 ชุดใหญ่ของทีมเศรษฐกิจใหม่ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีภายในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือนถือว่า“สอบผ่าน”รอบแรก

   แต่ระหว่างรอวัดผลสัมฤทธิ์ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า  มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544-2548 ที่ดร.สมคิดเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่ในช่วงนั้นที่มีคำเรียกว่าเป็น“ทักษิโนมิคส์”ที่เป็นแนวทางประชานิยมเต็มรูปแบบครั้งแรกของการเมืองไทย  มากกว่านโยบาย“เงินผัน-ประกันราคาข้าว”ในยุครัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชในปี 2518

   นักวิจารณ์ในเชิงนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่นำชุดความคิดของดร.สมคิดไปเทียบกับชุดความคิดในสมัยในรัฐบาลทักษิณมักออกแนวว่าจะกลับไปสู่“ฝันร้าย”ของนโยบายประชานิยมหรือไม่ 

    ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีความเห็นว่ากองทุนหมู่บ้านสร้างนิสัยสร้างหนี้เกินตัวให้ชาวบ้าน , บ้านเอื้ออาทรที่ส่งผลร้ายกับการเคหะแห่งชาติ, รถยนตร์คันแรกสร้างภาระใช้เงินอนาคต ฯลฯ

    แต่นักวิจารณ์ในสายการเมืองที่เป็นกลุ่มพรรคเพื่อไทยมักมีท่าที“วางเฉย”  แล้วแอบตีกินเล็กๆว่ารัฐบาลประยุทธ์ไม่อายบ้างหรืออย่างไรที่กลับไปใช้นโยบายประชานิยมของอดีตนายกฯทักษิณ

    ด้วยนิสัยของดร.สมคิดอ่อนน้อมถ่อมตัวเกินไปไม่ต้องการเผชิญหน้ากับใคร  ทำให้ดร.สมคิดไม่เคยอวดอ้างว่าชุดความคิดแนวประชานิยมของรัฐบาลทักษิณในช่วงปี 2544-2548 มาจาก“มันสมอง”ของตัวเองและทีมงานคนหนุ่มที่ถือได้ว่าเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก  ในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงนั้นให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว  หลังจากอมโรคจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 อยู่หลายปี

    แม้หลายๆมาตรการได้ส่งผลเสียสร้างภาระหนี้ของครัวเรือนจริง  แต่ต้องยอมรับว่าเป็นครั้งแรกที่เงินกองทุนหมู่บ้านไปถึงมือชาวบ้านแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย  ทำให้นโยบายแบบนี้ยังครองความนิยมจากชาวบ้านรากหญ้ามาจนถึงทุกวันนี้ที่มีเลือกตั้งเมื่อไหร่พรรคของทักษิณก็ได้คะแนนจากชนบทท่วมท้น

    แต่ชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ 3 ชุดแรกที่ดร.สมคิดบอกว่าหลังจากนี้จะรอดูผลก่อน   ยังไม่มีมาตรการอื่นใดออกมาอีกในระยะใกล้ๆ  น่าจะเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่า“สมคิดโนมิคส์”ที่เป็นการปรับแต่งเรียนรู้บทเรียนจาก“ทักษิโนมิคส์”ในช่วงปี 2544-48  ฝันร้ายจากทักษิโนมิคส์ยังหลอกหลอนนักวิจารณ์เชิงเศรษฐศาสตร์มหภาค ทำให้ขาด“สมาธิ”ในการแยกแยะวิพากษ์วิจารณ์จุดอ่อนจุดแข็งของ“สมคิดโนมิคส์” 3 ชุดแรก 

   จนกลายเป็นด่วนสรุปว่าจะได้ไม่คุ้มเสียไม่พ้นอิหรอบเดิม  แต่ยังไม่เคยได้ยินข้อเสนออื่นใดจากนักเศรษฐศาสตร์ตัวเล็กตัวน้อยและตัวพ่อตัวแม่ที่จะทำให้เกิดความหวังเล็กๆว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในยุครัฐบาลรัฐประหารที่มีแต่ปัจจัยลบรุมล้อมแทบทุกวันจะเริ่มทรงตัวได้

   แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมเริ่มมองเห็น แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ของเศรษฐกิจไทยบ้างแล้ว จากดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมในเดือนก.ย. เริ่มโงหัวขึ้นเป็นครั้งแรก  แต่ยังไม่ขอด่วนสรุปว่าสมคิดโนมิคส์จะสร้างปาฏิหาริย์เศรษฐกิจไทยได้หรือไม่ สัปดาห์หน้าจะลองกระเทาะ สมคิดโนมิคส์” ทีละประเด็น