‘กีฬา’ตัวเลือกปั้นเรทติ้งทีวี

‘กีฬา’ตัวเลือกปั้นเรทติ้งทีวี

ในยุคที่ “ฟรีทีวี” ทั้งช่องอนาล็อกเดิมและดิจิทัล เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว จาก 6 ช่อง เป็น 24 ช่อง

 หากนับเฉพาะช่องธุรกิจ ที่มุ่งหารายได้จากโฆษณา จากเดิม 4 ช่อง เพิ่มเป็น 24 ช่อง หรือเพิ่มขึ้น 6 เท่าตัว  

ขณะที่งบโฆษณาอุตสาหกรรมทีวี เฉพาะช่องอนาล็อกและช่องดิจิทัล ไม่ได้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับจำนวนช่องฟรีทีวี ทั้งยังพบว่า 3 ไตรมาสแรกปีนี้ เม็ดเงินอยู่ในภาวะ ติดลบ โดยนีลเส็น รายงานงบโฆษณา ม.ค.- ก.ย.2558 ทีวีอนาล็อก มีมูลค่า 4.3 หมื่นล้านบาท ติดลบ 9.61% ส่วนทีวีดิจิทัล มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 266% ซึ่งตัวเลขทีวีดิจิทัลปีนี้มาจากการสำรวจตั้งแต่ ม.ค.-ก.ย. เปรียบเทียบปีก่อนทีวีดิจิทัลเริ่มออกอากาศ เม.ย.2557 โดยนีลเส็นระบุว่างบโฆษณาทีวีดิจิทัลรวมมูลค่าทุกอย่างทั้ง Complimentary spots โดยทุกสปอตโฆษณาคำนวณจากราคาเสนอขาย (rate card) ภาพการเติบโตดังกล่าวจึงยังไม่ชัดเจนในปีนี้

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัวในปีนี้ โอกาสที่จะเห็นเม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวีเติบโต คงเป็นไปได้ลำบาก!! สะท้อนได้จากเครือข่ายมีเดีย เอเยนซีซื้อสื่อรายใหญ่ “กรุ๊ปเอ็ม” ฟันธงภาพรวมดีที่สุดของอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้ คือ ทรงตัว จากปีก่อนที่มีมูลค่า 1.3 แสนล้านบาท และย่ำแย่ที่สุดคงเห็นตัวเลขติดลบ 5%

ภาวะแข่งขันจากผู้เล่นฟรีทีวีเพิ่มจำนวนมากและอุตสาหกรรมโฆษณาอยู่ในทิศทางชะลอตัว นับเป็นโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลช่องใหม่ ให้เร่งมือพัฒนาคอนเทนท์ สร้างฐานผู้ชมและเรทติ้ง  ที่ถือเป็นมาตรฐานกำหนดราคาโฆษณาและการตัดสินใจซื้อสื่อของบรรดาเจ้าของเงิน จากตัวเลือกฟรีทีวีจำนวนมากในขณะนี้

พฤติกรรมการรับชมทีวีของคนไทยในตลาดแมส กลุ่มหลักขับเคลื่อนเรทติ้งทีวี เป็นที่รู้กันว่าชื่นชอบรายการประเภทบันเทิง นำโดย ละคร ซึ่งมีผู้นำตลาดที่แข็งแกร่ง ช่อง7 และ ช่อง3  ยืนยันได้จากตัวเลขเรทติ้งที่นำมากำหนดเป็นราคาโฆษณาสูงสุดที่นาทีละ 5 แสนบาทในช่วงไพรม์ไทม์

เมื่อฟรีทีวี รายเดิมยังคงแข็งแกร่งด้านละคร ทั้งยังมีช่องใหม่ ที่เป็นตัวเลือกเข้ามาช่วงชิงเรทติ้ง อีกทั้ง “ละคร” นับเป็นศาสตร์และศิลป์ ที่ต้องถูกจริตการรับชมของคนไทย ประการสำคัญเป็นคอนเทนท์ที่มีต้นทุนสูง เฉลี่ยตอนละ 1-2 ล้านบาท เรื่องละ 12-15 ตอน ดังนั้นหากไม่สามารถทำราคาโฆษณาระดับ “แสนบาทต่อนาที” ละครจึงยังเป็นข้อจำกัดด้านการผลิต

ปัจจุบันฟรีทีวีหลายช่องจึงมุ่งไปที่คอนเทนท์ กีฬา โดยเฉพาะกีฬา ที่มีคนไทยร่วมแข่งขันในสนามนานาชาติยิ่งได้รับความสนใจสูง อีกทั้งพฤติกรรมการรับชมกีฬาทุกประเภทให้ได้อรรถรส จะต้องรับชมผ่าน จอทีวี ซึ่งจะได้รับความสนุกสนานมากกว่าจออื่นๆ และส่งผลโดยตรงต่อเรทติ้งทีวี

จากการวิเคราะห์โดย สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ กสทช. รายงานข้อมูล “ทีวีดิจิทัล” เดือน ก.ย. ที่มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจเกี่ยวกับรายการทีวี คือการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย กลุ่ม F เมื่อวันอังคาร 8 ก.ย. 2558 ระหว่างทีมชาติไทยและทีมชาติอิรัก ซึ่ง ไทยรัฐทีวี ถ่ายทอดสดเวลา 18.30-21.30 น.

เมื่อเปรียบเทียบเรทติ้งไทยรัฐทีวี ในวันที่ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลนัดดังกล่าวกับวันเดียวกันของสัปดาห์ก่อนหน้า พบว่ามีเรทติ้งเพิ่มขึ้นกระโดด ในช่วงที่แข่งขันฟุตบอลเวลา 19.00-21.00 น. เรทติ้งเฉลี่ย 7.519 หรือคิดเป็นคนดูทั่วประเทศเฉลี่ย 4.93 ล้านคนต่อนาที เพิ่มขึ้นจากรายการปกติในวันเดียวกัน 13 เท่า และมากกว่าเรทติ้งของช่อง 7 ที่ปกติเป็นช่องที่มีเรทติ้งสูงสุด

การถ่ายทอดสดฟุตบอลแมตช์ดังกล่าว เรทติ้งสูงสุดที่ 10.574 เป็นตัวเลขที่สูงมากเทียบกับเรทติ้งละครช่อง 7 ซึ่งทีวีดิจิทัลช่องใหม่ที่จะมีเรทติ้งถึงระดับ 10 ในรายการปกติปัจจุบันค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก

เรทติ้งผู้ชมสูงในการแข่งขันกีฬาหลายรายการปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึง ทางเลือก ที่หลากหลายของเนื้อหารายการแปลกใหม่ที่ฟรีทีวีนำเสนอ ทั้งบาสเกตบอล การแข่งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ มวย ซึ่งจะดึงดูดให้มีผู้ชมและเรทติ้งในช่องทีวีดิจิทัลมากขึ้นและเพิ่มโอกาสหารายได้โฆษณา