โซเชียลมีเดียถูกจริตไทย (1)

โซเชียลมีเดียถูกจริตไทย (1)

ด้วยอินไซต์ความเป็นไทยที่แตกต่าง วิถีการใช้โซเชียล มีเดียของคนไทยก็แสดงถึงเอกลักษณ์ที่ชัดเจนเช่นกัน

โซเชียลมีเดียที่มานำในทั้งจำนวนผู้ใช้และอัตราเติบโตอย่าง Facebook LINE และ Instagramจัดว่าถูกจริตไทยในหลายมุมมองในขณะที่โซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่จริงๆ เป็นที่นิยมในต่างประเทศแต่ไม่ท็อปฮิตติดอันดับในประเทศไทยอย่าง Twitter PinterestTumblr หรือ Snapchat ก็สื่อถึงวัฒนธรรมการโซเชียลที่แตกต่างในแต่ละมุมโลกเช่นกัน            

เจาะอินไซต์การใช้ Facebook ของคนไทย ที่เรามักจะได้ยินว่าวัยรุ่นไม่เล่นแล้วเพราะมีแม่เป็น friend เกรงจะเห็นโพสต์คนคูลๆ ต้องเล่น Instagram มากกว่าเพื่อความฮิบสเตอร์หรือเล่นไปนานๆ ชักเบื่อไม่เห็นโพสต์เพื่อน เห็นแต่โฆษณาซะงั้น แต่เอาเข้าจริงๆแล้วหลายคนก็ยังปากว่าตาขยิบเผลอเป็นเปิดดู newsfeed อยู่ดีด้วยความที่ Facebook ยังเป็นโซเชียลที่เพื่อนเยอะสุดบวกกับความหลากหลายในแง่สาระบันเทิงที่ครอบคลุมคอนเทนท์มากกว่าทีอื่นๆ จึงถูกจริตไทยที่ต้องอินเกาะติดกับเรื่องราวที่อยู่ในกระแสหลักเสมอๆ

            ในแง่วัฒนธรรมการคอมเมนท์ชี้ให้เห็นอย่างหนึ่งว่าคนไทยใช้โซเชียล เพื่อแสดงอิสระทางความเห็นที่มากกว่าขอบเขตของชีวิตจริง ที่มักอยู่ในกรอบของความเกรงใจและความปรองดอง ไม่ชอบการขัดแย้งแบบต่อหน้าต่อตาในชีวิตจริง            

กลุ่มโซเชียลฝั่ง instant messaging อย่าง LINE ที่มาตอบโจทย์จริตเบาๆ เรื่องความชอบเฮฮาตลกกึ่งไร้สาระของคนไทย ซึ่งเหมาะกับการคลายเครียดของคนในสังคมยุคปัจจุบัน ด้วยความสนุกของการใช้สติกเกอร์ดุ๊กดิ๊กต่างคาแรคเตอร์เรียกว่าทั้งแสดงความเป็นตัวตนย่นเวลาการพิมพ์ ทั้งยังให้ความรู้สึกง่ายๆ สบายๆในการสื่อสารทำให้ไม่ว่าจะส่งหาเพื่อนส่งหาแม่ค้าส่งหาใครๆ ก็ดูจะเป็นกันเองเข้าถึงง่ายตามสไตล์ไทยและเรียลไทม์กว่าช่องทางโซเชียลอื่นๆ ซึ่งเป็นจริตต่างจากประเทศตะวันตกที่เน้นความเป็นเรื่องเป็นราวและมองเห็นสติกเกอร์เป็นเพียง emoticon ที่มีขนาดใหญ่เกิน            

ด้วยวัฒนธรรมเรื่องเซเลบริตี้คืองานของเรา ทำให้ข่าวดาราติดท็อปเสิร์ชเสมอไม่เว้นแต่ละวัน การส่องดาราผ่าน Instagramดูจะตอบจริตคนไทยด้านนี้ได้แบบเต็มๆ เหมือนมีนิตยสาร gossip แบบ reality มาอยู่ตรงหน้าทำให้แบรนด์ต่างใช้ลู่ทาง Influencer หรือ Net idol เป็นสื่อดิจิทัลรูปแบบหนึ่งและสินค้าแฟชั่นความงามมากมายต่างพากันมาตั้งร้านฝากร้านกลายเป็นเรื่องราวแบบ Thailand Only ที่ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ คงเป็นเรื่องของพฤติกรรมโชว์ แชร์ชีวิตดี๊ดี ที่มีให้เห็นกันอยู่ทั่วโลก ด้วยความเป็นโซเชียลจริตหนักด้านไลฟ์สไตล์และอีโก้ความชิคเก๋กว่าชาวบ้าน            

จากประสบการณ์ความล้มเหลวในการตลาดมักเกิดจากความไม่ถูกจริตในแต่ละโซเชียลมีเดียที่เห็นกันบ่อยๆ เช่น โฆษณาไร้ความบันเทิงบน Facebook ฮาร์ดเซลล์มากขาดเก๋ในไอจี โหลดสติ๊กเกอร์ปุ๊บบล็อกไลน์ปั๊บ เรียกได้ว่าความไม่ถูกจริตเป็นปัญหาที่หนักมากสำหรับแบรนด์ในโลกโซเชียล            

ในขณะที่โซเชียลมีเดียฉลาดเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้เพื่อการพัฒนารูปแบบต่างๆให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อครองใจฐานผู้บริโภคในระยะยาวจากแชร์ความในใจแบบ public มาส่งข้อความแบบ private เฉพาะกลุ่มจากโพสต์ภาพถ่ายรูป Selfie มายังการชมภาพกึ่งเคลื่อนไหวและวีดิโอจาก feed ตามเวลาจริงมาปรับ algorithm กำหนดสิ่งที่ผู้บริโภคจะเห็นหรือไม่เห็นตามความสนใจและเหมาะสมจะเห็นได้ว่าการปฏิวัติความสร้างสรรคอนเทนท์ที่ก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปและรูปแบบโฆษณาใหม่ๆ (ad format) ของแต่ละโซเชียลมีเดียถือเป็นสิ่งที่แบรนด์ต้องจับตามองแบบวันต่อวัน            

ส่วนตัวแล้วเป็นคนไม่เชื่อในยอด Like ยอด View ยอด Download ที่สามารถซื้อได้ตามเม็ดเงินการซื้อสื่อหรือที่ได้มาด้วยความดราม่าบันเทิงเพียงอย่างเดียว ถ้ายอดนั้นๆ ไม่มีนัยใดๆในการ Conversion ให้คนมาสนใจมารักมาลองมาซื้อมาเปลี่ยนแบรนด์ในที่สุดเชื่อมาตลอดว่า ยอดที่ดีคือยอดที่ถูกจริตลูกค้าของเรา ถูกจริตโซเชียลมีเดียนั้นๆ และที่สำคัญคือถูกจริตของแบรนด์เช่นเดียวกันและนั่นคือยอดที่ยังขาดแคลนอยู่ในจริตการตลาดบ้านเรา            

บทความหน้าเรามาดูโซเชียลมีเดียที่ป๊อปในต่างประเทศ แต่ยังไม่ถูกจริตไทยกันบ้างนะคะ