Energy Hub ใน “ซินเจียง” ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt, One Road

Energy Hub ใน “ซินเจียง” ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt, One Road

ภายในเวลา 1-2 ปี ยุทธศาสตร์ One Belt, One Road ของจีนในยุคสี จิ้นผิง ได้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

และดินแดนของจีนที่ได้รับอานิสงส์ในฐานะเป็น “จุดเชื่อมสำคัญ” ของยุทธศาสตร์ One Belt, One Road  ย่อมหนีไม่พ้น “ซินเจียง” พื้นที่ทางตะวันตกที่ห่างไกลทะเลมากที่สุด และยังมีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุดของจีนด้วย ดิฉันและทีมวิจัยมีโอกาสบินไปลงพื้นที่เก็บข้อมูลในซินเจียง และได้นำสิ่งที่ได้พบเห็นในดินแดนแห่งความหลากหลายของจีนแห่งนี้ มาเล่าสู่กันฟังในคอลัมน์นี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว และเส้นทางรถไฟ Iron Silk Road เป็นต้น

บทความวันนี้ เราจะมาดูอีกด้านที่น่าสนใจของซินเจียง ทั้งในฐานะเป็น “ขุมพลังงาน” สำคัญของจีน และซินเจียงยังจะเป็น “ชุมทาง” เชื่อมต่อเส้นทางขนส่งลำเลียงพลังงานเข้าสู่จีน ตามแนวยุทธศาสตร์ One Belt, One Road อีกด้วยค่ะ  

แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ห่างไกลทะเล หากแต่ซินเจียงมีจุดเด่นในการเป็นแหล่งพลังงานที่อุดมสมบูรณ์ ในหลากหลายประเภท มีทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และถ่านหิน

ซินเจียงมีแหล่งน้ำมันดิบมากเป็นอันดับ 1 ของจีน จนสิ้นปี 2014  มีปริมาณสำรองน้ำมันที่มีการสำรวจแล้วในซินเจียงสูงถึง 5,600 ล้านตัน และในปี 2014  ซินเจียงมีปริมาณการผลิตน้ำมันราว 28 ล้านตัน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากพญามังกรจีน มีอุปสงค์ความต้องการใช้พลังงานน้ำมันสูงมาก ติดอันดับต้นของโลก ในแต่ละปี จีนมีการนำเข้าน้ำมันสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก (รองจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น) ในปี 2014   จีนบริโภคน้ำมันมากถึง 310 ล้านตัน แต่มีการผลิตน้ำมันเองในจีนเพียง 150 ล้านตัน จึงต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศอีก 160 ล้านตัน สะท้อนให้เห็นว่า ในขณะนี้ จีนมีการพึ่งพาน้ำมันนำเข้าจากตลาดต่างประเทศถึงร้อยละ 51 นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี  2020 จีนจะพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันถึงร้อยละ 60

ซินเจียงยังเป็นแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติมากเป็นอันดับ 1 ของจีนด้วย จนถึงสิ้นปี 2014 มีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในซินเจียงที่สำรวจแล้วสูงถึง 1.4 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณการผลิตราว 29,700 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี คิดเป็นร้อยละ 36 ของปริมาณผลิตทั้งหมดของจีน 

ที่สำคัญ รัฐบาลจีนได้ทุ่มงบประมาณในการสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติจ ากซินเจียงพาดผ่านทอดยาวไปยังมณฑลชายฝั่งทางตะวันออกเสร็จสิ้นแล้วรวม 3 เส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางสายที่ 3 พาดยาวจากซินเจียงไปจนถึงมณฑลกวางตุ้ง ระยะทางมากกว่า 5,200 กิโลเมตร และมีศักยภาพในการขนส่งก๊าซธรรมชาติจากซินเจียงไปยังภูมิภาคตะวันออกของจีนทั้งหมดถึง 48,880 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ซินเจียงกลายเป็นผู้ป้อนก๊าซธรรมชาติให้กับมณฑลอื่นๆ ของจีน อย่างไรก็ดี จีนยังคงต้องพึ่งก๊าซธรรมชาตินำเข้า ในปริมาณถึงร้อยละ 30 ของการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศทั้งหมด

นอกจากนี้ ซินเจียงยังเป็นแหล่งพลังงานลมมากเป็นอันดับ 2 ของจีน (รองจากมองโกเลียใน) มีทรัพยากรพลังงานลมในซินเจียงคิดเป็นร้อยละ 37 ของจีนทั้งหมด ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนแหล่งพลังงานลมในซินเจียง และสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมกว่า 10 ล้านกิโลวัตต์ ทั้งนี้ มีบริษัทขนาดใหญ่ของซินเจียง ที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกกังหันลมไปประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยได้เคยสั่งซื้อและนำเข้ากังหันลมจากบริษัทแห่งนี้มากกว่า 70 เครื่อง เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศไทย

อีกด้านที่สำคัญ คือ พลังงานแสงอาทิตย์ ซินเจียงเป็นดินแดนที่สามารถรับพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากเป็นอันดับ 2 ของจีน ในขณะนี้ มีสถานีผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ในเขตฮามีของซินเจียงด้วยกำลังผลิตขนาด 20,000 กิโลวัตต์ ทำให้มีการผลิตพลังงานสะอาด จากโซล่าเซลล์ในเขตซินเจียง คิดเป็น 1 ล้าน 5 หมื่นกิโลวัตต์ 

สำหรับพลังงานจากถ่านหิน มีการสำรวจพบว่า มีปริมาณสำรองถ่านหินในซินเจียงราว 2.19 ล้านล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของปริมาณสำรองถ่านหินทั้งประเทศจีน โดยเฉพาะในนครอุรมชี เมืองเอกของซินเจียง ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองแห่งถ่านหิน” เนื่องจากมีแหล่งถ่านหินสำรองใต้ดินจำนวนมาก  

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ซินเจียงถือเป็นขุมพลังงานที่สำคัญของจีน ทั้งในแง่ของปริมาณสำรอง และปริมาณการผลิตพลังงานของจีน นอกจากจะสามารถสนองความต้องการการบริโภคพลังงาน ภายในพื้นที่ของซินเจียงแล้ว ยังสามารถป้อนส่งพลังงานไปยังมณฑลอื่นๆ ทั่วประเทศจีนด้วย นับว่าซินเจียงมีบทความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงด้านพลังงานของจีน

ยิ่งไปกว่านั้น  ซินเจียงได้ถูกวางบทบาทให้เป็น “ชุมทาง” ในการขนส่งลำเลียงพลังงานตามยุทธศาสตร์ One Belt, One Road เนื่องจากจีนเป็นชาติผู้ใช้พลังงานรายใหญ่ที่สุดในโลก และจำเป็นต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่รายรอบซินเจียง ดังนั้น รัฐบาลจีน จึงได้ผลักดันโครงการก่อสร้างเส้นทางลำเลียงขนส่งพลังงาน เชื่อมโยงซินเจียงกับประเทศต่างๆ 

ตัวอย่างเช่น เส้นทางขนส่งท่อก๊าซธรรมชาติเชื่อมจากประเทศเติร์กเมนิสถาน ผ่านอุซเบกิสถาน และคาซัคสถาน ก่อนเข้าสู่ซินเจียง ความยาว 1,833 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถส่งก๊าซธรรมชาติมายังซินเจียงได้สูงถึง 40,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ก่อนที่จะเชื่อมโยงส่งต่อไปยังมณฑลอื่นๆของจีนต่อไป

ล่าสุด ภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor : CPEC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Belt, One Roadที่มุ่งเพื่อให้ซินเจียงได้มีบทบาทหลัก โดยท่านสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้เดินทางไปเยือนปากีสถานในเดือนเมษายน 2015 และอนุมัติเงินลงทุนจำนวนมหาศาล เพื่อเชื่อมโยงเมืองคาสือ (คัชการ์) ของซินเจียงไปยังท่าเรือน้ำลึก Gwadar ในปากีสถาน ตลอดจนการทุ่มงบประมาณในโครงการด้านพลังงานมากถึง 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะให้เงินกู้กับปากีสถาน ในรูปแบบการให้เงินช่วยเหลือดอกเบี้ยต่ำ ในโครงการความร่วมมือด้านพลังงานก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

โดยสรุป  ซินเจียงถูกวางบทบาทให้เป็น “Energy Hub” ของจีนตามแนวยุทธศาสตร์ One Belt, One Road เพื่อตอบโจทย์การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของจีน กับประเทศในเอเชียกลางและเอเชียใต้ และเพื่อกระจายความเจริญและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับซินเจียง ดินแดนชนชาติอุยกูร์ที่สำคัญยิ่งยวด ในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับรัฐบาลกลางของจีน ณ โมงยามนี้นั่นเอง

 ---------------------

รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น

ดร.หลี่ เหรินเหลียง

ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ