หันมาสนใจเดนมาร์กกัน

หันมาสนใจเดนมาร์กกัน

ผู้เขียนทำวิจัยเสร็จไปเรื่องหนึ่ง นั่นคือ “สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย:

ปัญหาในการเปรียบเทียบอ้างอิงกับระบอบการปกครองที่เป็นตัวแบบในต่างประเทศ” โดยความเป็นมาของงานวิจัยนี้ เริ่มต้นจากการที่ผู้เขียนได้เปิดวิชาในหลักสูตรปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชื่อ วิชาสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับการเมืองไทยสมัยใหม่

และเมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปี 2475 และโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ก็มักจะพบกับข้อถกเถียงชุดหนึ่ง นั่นคือ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นการลดทอนพระราชอำนาจจนเกินไป ในขณะที่อีกฝ่ายก็บอกว่า ฝ่ายเจ้าต้องการอำนาจมากไป และข้อถกเถียงดังกล่าวนี้ก็ยังคงดำเนินมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

จากปัญหาดังกล่าวนี้  ผู้เขียนจึงเกิดคำถามว่า ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่เปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่ภายใต้บรรยากาศของข้อถกเถียงแบบนี้หรือไม่ และอย่างไร ?

แน่นอนว่า เมื่อกล่าวถึงประเทศที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คนไทยและนักวิชาการไทยทั่วไป มักคิดถึงอังกฤษเป็นอันดับแรก ซึ่งน่าจะด้วยเหตุผลสองประการเป็นสำคัญ นั่นคือ

ประการแรก อังกฤษเป็นประเทศแรกที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และถือว่าเป็นต้นแบบของการปกครองรูปแบบดังกล่าว

ประการที่สอง คนไทยและนักวิชาการไทยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศแองโกล-แซกซัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องภาษา วัฒนธรรม และการเมือง แต่เมื่อไปศึกษากรณีของอังกฤษจะพบว่า ถึงแม้อังกฤษจะเป็นต้นแบบระบอบการปกครองดังกล่าว แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อังกฤษได้ผ่านสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายพระมหากษัตริย์กับฝ่ายรัฐสภา ในช่วงระหว่าง ค.ศ.1642-1649

สงครามกลางเมืองครั้งนั้นลงเอยด้วยฝ่ายรัฐสภาเป็นฝ่ายชนะ และมีการพิพากษาสำเร็จโทษพระเจ้าชาลส์ที่หนึ่งด้วยการตัดพระเศียร และจากนั้นถือเป็นการสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และอังกฤษปกครองโดยไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่จนถึงปี ค.ศ.1660 จึงได้มีการรื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมาอีกครั้ง ภายใต้ช่วงเวลาที่รู้จักกันในนามของยุคฟื้นฟู (the English Restoration) และระบอบสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษ ได้เริ่มต้นมีความชัดเจนขึ้นในปี ค.ศ.1688

ดังนั้น การนำกรณีของอังกฤษมาพิจารณาว่า มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างในกรณีของไทยหรือไม่นั้น คำตอบในเบื้องต้นก็คือ ไม่มี เพราะในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สามารถนับได้ตั้งแต่เริ่มต้นสงครามกลางเมืองนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษได้สิ้นสุดลงไปแล้วในปี ค.ศ.1649 ซึ่งหมายความว่าข้อถกเถียงเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้เริ่มต้น และลงเอยด้วยสงครามกลางเมือง และความพ่ายแพ้ของฝ่ายพระมหากษัตริย์ และเมื่อมีการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมาในปี ค.ศ.1660 ก็ยากที่จะสามารถพิจารณาปัญหาเรื่องพระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญได้ เพราะอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร

ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น เป้าหมายของประเทศที่จะนำมาศึกษาจึงต้องเปลี่ยนจากอังกฤษเป็นประเทศอื่น ที่ปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และจากปัญหาในกรณีของอังกฤษ ผู้วิจัยจึงได้ไตร่ตรองว่า ประเทศในกลุ่มที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่เหมาะสมจะนำมาเป็นกรณีศึกษาน่าจะมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้คือ 

1.เป็นประเทศที่เปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างสงบราบรื่น ไม่เสียเลือดเนื้อ เพราะในกรณีของไทย การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ก็ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ ไม่เสียเลือดเนื้อ ถึงแม้ว่าจะเกิดกรณีกบฏบวรเดชต่อมาในปี 2476 แต่ก็ถือว่าเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้ว แต่ก็ยังอยู่ภายใต้ข้อถกเถียงในเรื่องพระราชอำนาจ

2.เป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร 

3.เป็นประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อเนื่อง จากเงื่อนไขดังกล่าวจะพบว่า ประเทศเดนมาร์กอยู่ภายใต้เงื่อนไขสามข้อที่ว่านี้ยาวนาน อีกทั้งระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของเดนมาร์ก ได้รับการยกย่องว่าเป็นระบอบที่มีเสถียรภาพ ความมั่นคงและมีความเป็นประชาธิปไตยสูง อีกทั้งคุณภาพมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ก็ได้รับประเมินในระดับต้นๆ ของโลก และล่าสุดได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่ประชาชนมีความสุขเป็นอันดับหนึ่งของโลก

หลังจากเขียนวิจัยชิ้นนี้เสร็จ ผู้เขียนได้ได้รับการแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งจากลูกศิษย์ หนังสือเล่มนี้คือ Political Order and Political Decay ที่ออกสู่ตลาดหนังสือในโลกตะวันตกเมื่อปลายเดือนกันยายน 2557 หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานของ Francis Fukuyama หนึ่งในปัญญาชนสาธารณะที่โดดเด่นคนหนึ่งในปัจจุบัน เป้าหมายหนังสือนี้ต้องการตอบคำถามว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้สังคมหนึ่งๆ สามารถพัฒนาสถาบันทางการเมืองให้เข้มแข็ง ไม่อยู่ภายใต้สายสัมพันธ์ส่วนตัว และมีความรับผิดชอบ และอธิบายให้เหตุผลกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ โดยในส่วนที่จั่วหัวว่า“Getting to Denmark”  Fukuyama ได้กล่าวถึงเดนมาร์กในฐานะที่เป็น “ตัวแบบสำหรับการพัฒนาทางการเมือง” (model for development)

ในสายตาของ Fukuyama เดนมาร์กเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรือง เป็นประชาธิปไตย มีความมั่นคง และมีธรรมาภิบาล และมีคอร์รัปชันน้อยมาก เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีสามสถาบันทางการเมืองที่สมดุลสมบูรณ์ (perfect balance) นั่นคือเป็นรัฐที่มีประสิทธิภาพ มีนิติรัฐที่เข้มแข็งและเป็นประชาธิปไตยที่โปร่งใสและรับผิดชอบ Fukuyama เห็นว่าประชาคมระหว่างประเทศควรจะพยายามที่ช่วยกันทำให้ประเทศที่มีปัญหาทางการเมืองหันมามองเดนมาร์ก ในฐานะตัวแบบในการพัฒนาการเมือง แต่ปัญหาสำคัญขณะนี้ในสายตาของ Fukuyama  คือ เราไม่รู้จักเดนมาร์กดีพอ ไม่รู้ว่าเดนมาร์กพัฒนามาเป็นเดนมาร์กอย่างที่เป็นอยู่นี้ได้อย่างไร และเราไม่เข้าใจถึงความสลับซับซ้อน และอุปสรรคต่างๆ ที่เดนมาร์กได้เผชิญมาในการพัฒนาการเมืองของตน แม้ว่าเดนมาร์กจะมีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ แต่การศึกษาเกี่ยวกับเดนมาร์กก็มีน้อยมาก ทำให้เราขาดความรู้ความเข้าใจว่าปัจจัยอะไรในระบบการเมืองของเดนมาร์ก ที่ทำให้สามารถเปลี่ยนผ่านจากรัฐที่อำนาจรวมศูนย์โดยตรงที่ผู้ปกครองมาเป็นรัฐสมัยใหม่ได้

เรายังขาดความรู้ความเข้าใจในพัฒนาการ ที่เดนมาร์กสามารถเปลี่ยนแปลงมาปกครองโดยระบบราชการที่มุ่งสู่ผลประโยชน์สาธารณะอย่างเคร่งครัด เป็นระบบราชการที่มีความเชี่ยวชาญ และเทคนิคการบริหารงานที่เป็นเลิศ มีการแบ่งงานกันทำอย่างเหมาะสม และมีเกณฑ์การรับบุคคลเป็นข้าราชการที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง

ทรรศนะของ Fukuyama ได้ช่วยยืนยันสมมุติฐานที่ผู้เขียนมีต่อเดนมาร์ก รวมทั้งเหตุผลที่ผู้เขียนเลือกศึกษาเดนมาร์ก ในฐานะที่เป็นตัวแบบสำหรับการพัฒนาทางการเมือง ซึ่งในตอนแรก ผู้เขียนคิดว่า เดนมาร์กเหมาะสมที่จะเป็นตัวแบบ สำหรับประเทศที่ปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่สำหรับ Fukuyama เดนมาร์กเป็นตัวแบบที่เหมาะสม สำหรับประเทศที่ต้องการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตยโดยทั่วไปด้วย

และผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้น เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของเดนมาร์ก จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยตอบโจทย์และแก้ปัญหาที่ Fukuyama ได้กล่าวไว้ข้างต้น นั่นคือ ช่วยให้เรามีความรู้ความเข้าใจว่า ปัจจัยอะไรในระบบการเมืองของเดนมาร์กที่ทำให้สามารถเปลี่ยนผ่านจากรัฐที่อำนาจรวมศูนย์โดยตรงที่ผู้ปกครองมาเป็นรัฐสมัยใหม่ได้มากขึ้น  และหวังว่าจะมีได้นำเสนอในโอกาสต่อไป