ทำไมสีจิ้นผิงกับโมดี ต้องจับเข่าคุยซีอีโอไฮเทคมะกัน?

ทำไมสีจิ้นผิงกับโมดี ต้องจับเข่าคุยซีอีโอไฮเทคมะกัน?

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดียกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ทำอะไรเหมือนกัน

อย่างหนึ่งในการเยือนสหรัฐในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

นั่นคือการนัดพบกับผู้นำด้านไฮเทคของสหรัฐเพื่อชักชวนให้ไปลงทุนในประเทศของตน

นายกฯโมดีบุกไปตั้งโต๊ะสนทนาถึงซิลิคอน เวลลี (Silicon Valley) ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ถือเป็นผู้นำอินเดียคนแรกที่มาเยือนที่นี่ใน 33 ปี

โมดีไม่ได้ไปเยี่ยมเพียงเพื่อให้ทำตัวเป็นข่าวเท่านั้น แต่ยังนั่งแลกเปลี่ยนความเห็นด้วยการเสวนากับผู้บริหารของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Google, Apple, Facebook, Microsoft เป็นต้น ก่อนที่จะร่วมงานเลี้ยงอาหารเย็นกับผู้นำธุรกิจใหญ่ ๆ ของอเมริกา 350 คนเพื่อตอกย้ำถึงความพร้อมของอินเดีย ที่จะก้าวเข้าสู่ยุคไฮเทคพร้อมกับความร่วมมือของคนที่เก่งที่สุดทางด้านนี้ระดับโลก

ยิ่งเมื่อซีอีโอของกูเกิลคนใหม่ Sundar Pichai มีเชื้อสายอินเดียด้วย ก็ยิ่งเห็นภาพของอินเดียในอันที่จะสร้างนักนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่เปิดกว้าง และพร้อมจะให้คนเก่งที่สุดของโลก เข้ามามีส่วนในการสร้างเสริมอินเดียให้ก้าวกระโดดไปข้างหน้า

ทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิลบอกนายกฯ โมดี ว่าบริษัทของเขามีความผูกพันเป็นพิเศษกับอินเดีย “เพราะสตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งของเราไปอินเดียเพื่อแสวงหาแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรมยิ่งใหญ่ของโลก”

โมดีไปเยี่ยมโรงงานของ Telsa Motors นำโดยซีอีโอ Elon Musk ซึ่งมีชื่อว่าเป็นผู้นำธุรกิจที่คิดนอกกรอบและกล้าทำอะไรที่คนอื่นไม่กล้าแม้แต่คิด

ผู้นำอินเดียทำการบ้านมาอย่างดีเพราะต้องการเห็นนวัตกรรมการสร้างรถยนต์ใช้ไฟฟ้าเพื่อประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผมเชื่อว่าโมดีคงได้ยินกิตติศัพท์ของผู้นำไฮเทคคนนี้ว่าเขาทุ่มทุนเพื่อสร้างยานอวกาศที่จะไปค้นหาสิ่งมีชีวิตในดาวดวงอื่นในจักรวาลด้วย จึงต้องมาซักถามด้วยตนเองว่ามันเป็นเรื่องเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

นายกฯโมดีก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯเมื่อปีเศษ ๆ ที่ผ่านมาท่ามกลางความฮือฮาว่าเขาเป็นผู้นำไม่ธรรมดา กล้าประกาศวาระแห่งชาติในหลาย ๆ เรื่องที่นักการเมืองแต่ก่อนเก่าไม่กล้าแม้แต่คิด

โมดีสร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการรุกทุกด้าน ตั้งแต่แก้ปัญหาความยากจนระดับหมู่บ้านไปถึงการผลักดันให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการผลิตด้วยนโยบาย Make in India และให้อินเดียเป็นสังคมดิจิทัลอย่างแท้จริง

แม้อินเดียจะมีชื่อเสียงด้านไอทีโดยมีบังคาลอร์เป็นศูนย์กลางด้านนี้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่โมดีต้องการจะต่อยอดเพิ่มเติมด้วยการดึงเอามันสมองชั้นเลิศของโลกมาที่อินเดียให้กว้างขวางเต็มที่

นายกฯโมดีประกาศต่อหน้าคนอินเดียในแคลิฟอร์เนียกว่า 18,000 คนว่า “Brain Drain can become Brain Gain.”

เพื่อตอกย้ำว่าการที่คนอินเดียออกนอกประเทศมาทำงานในสหรัฐฯนั้นต้องไม่มองว่าเป็น “สมองไหลออก” แต่ต้องมองว่าเป็น “สมองไหลกลับ” ก็ยังได้

เพราะวันนี้คนอินเดียเก่งๆ ที่มาทำงานนอกบ้านกำลังมีตำแหน่งแห่งหนที่สำคัญๆ โดยเฉพาะด้านบริหารบริษัทไฮเทคจนสามารถที่จะร่วมมือสร้างความแข็งแกร่งให้กับบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองได้จากข้างนอก

การไปเหยียบซิลิคอน เวลลีครั้งนี้จึงเป็นการตอกย้ำทิศทางที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง กระตุ้นให้คนอินเดียทั่วประเทศ ได้มีความตระหนักร่วมกันในการรุกไปทางเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและเพื่อสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในเวทีโลกให้ได้

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงไปสหรัฐคราวนี้ แวะมาที่ซีแอตเทิลของรัฐวอชิงตันก่อนไปวอชิงตันเมืองหลวงด้วยซ้ำ เพื่อพบปะกับผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Amazon, Apple, Facebook และผู้บริหารบริษัทไฮเทคของจีนที่เป็นเจ้าของแบรนด์ดังระดับโลก

เป้าหมายของสี จิ้นผิงไม่ต่างกับของโมดีนัก แต่จีนต้องเร่งรัดเรื่องนี้มากกว่าเพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจภาพรวมที่ชะลอตัวลง ทำให้ผู้นำจีนต้องหันมาหาทาง สร้างประสิทธิภาพทางด้านการผลิต และผลักดันให้ใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ให้กับเศรษฐกิจของตนเองอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

เห็นหรือยังว่าทำไมประเทศไทยเราจึงต้องเอาจริงเอาจังกับการสร้าง “ซิลิคอน เวลลี” ของไทยเพื่อเสริมสร้างนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันระดับโลกได้

เพราะหากผู้นำยักษ์ใหญ่อย่างจีนและอินเดีย ยังต้องนั่งลงจับเข่าคุยกับ เจ้าของธุรกิจไฮเทคด้วยตนเอง เพื่อให้เข้าใจแนวโน้มของโลกด้านนี้ ผู้นำประเทศเล็กๆ ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้จะต้องไปต่อแถวยาวเหยียดเพียงใด?