เป้าหมายโลกต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เป้าหมายโลกต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สหประชาชาติกำหนดภายในปี ค.ศ. 2030 จะต้องขจัดความยากจนและความหิวโหยในทุกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ


พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70  ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23 กันยายน -1 ตุลาคม 2558


สาระสำคัญในวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 สหประชาชาติกำหนดให้ภายในปี ค.ศ. 2030 จะต้องขจัดความยากจนและความหิวโหยในทุกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ สร้างสังคมที่มีความสงบสุข ยุติธรรม และครอบคลุม ปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งเสริมพลังแก่สตรีและเด็กผู้หญิง และปกป้องโลกและทรัพยากรธรรมชาติ


เป้าหมายสำคัญในการดำเนินงาน 17 ประการ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล (Global Goals for Sustainable Development) ประกอบด้วย

เป้าหมายที่ 1    ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ทุกที่
เป้าหมายที่ 2    ขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน
เป้าหมายที่ 3    ทำให้แน่ใจถึงการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ
เป้าหมายที่ 4    ทำให้แน่ใจถึงการได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน
เป้าหมายที่ 5    บรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน
เป้าหมายที่ 6    ทำให้แน่ใจว่าเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลได้รับการจัดการอย่างยั่งยืน และมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน
เป้าหมายที่ 7    ทำให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน เชื่อถือได้ ตามกำลังซื้อของตน
เป้าหมายที่ 8    ส่งเสริมการเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำและการจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน
เป้าหมายที่ 9    พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม
เป้าหมายที่ 10    ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ
เป้าหมายที่ 11    ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน
เป้าหมายที่ 12    ทำให้แน่ใจถึงการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
เป้าหมายที่ 13    ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
เป้าหมายที่ 14    อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
เป้าหมายที่ 15    พิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
เป้าหมายที่ 16    ส่งเสริมให้ สังคมมีความเป็นปกติสุข ไม่แบ่งแยก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการเข้าถึงความยุติธรรมโดยถ้วนหน้า และสร้างให้เกิดสถาบันอันเป็นที่พึ่งของส่วนรวม มีประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับในทุกระดับ
เป้าหมายที่ 17    เสริมสร้างความเข้มแข็งในวิธีการปฏิบัติให้เกิดผล และสร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

กล่าวได้ว่า การดำเนินงานของรัฐบาลภายใต้แนวทางการพัฒนาประเทศ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มีนัยที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว


อย่างไรก็ดี รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนเป็นเป้าหมายหลัก โดยน้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม ต้องลดความเหลื่อมล้ำทั้งมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ ส่งเสริมบทบาทของสตรีในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ สร้างและพัฒนาคนให้เรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อตอบสนองต่อสิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งภายในและนอกประเทศ ทั้งภัยธรรมชาติ โรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น


ประเทศไทย มีศักยภาพและความพร้อมที่จะดำเนินการตามเป้าหมาย “วาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015” ซึ่งจะเป็นทิศทางการพัฒนาทั้งของไทยและของโลกต่อจากนี้