ตลาดอาหารฮาลาล เรื่องที่ SME ควรรู้

ตลาดอาหารฮาลาล เรื่องที่ SME ควรรู้

ผมมีโอกาสได้ไปช่วยงานที่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้มีโอกาสสัมผัสกับพนักงานและลูกค้าที่เป็นชาวมุสลิมอยู่หลายเดือน

ผมตั้งใจจะเสนอเรื่องราวที่มีความสำคัญมากในวิถีการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิม คือเรื่อง อาหารฮาลาล (Halal Food) ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชาวมุสลิมในการบริโภค เนื่องจากเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงมาก

ปัจจุบันตลาดโลกมีผู้บริโภคที่เป็นชาวมุสลิมอยู่ประมาณ 2,000 ล้านคน ในประเทศไทย มีมุสลิมเกือบ 10 ล้านคน ท่านผู้ประกอบการ SME จึงควรให้ความสนใจอย่างจริงจังเพื่อจะได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลิต ให้ถูกต้องตามกฎของศาสนาอิสลาม ทั้งด้าน แหล่งที่มาของอาหาร วิธีการฆ่าสัตว์ การเตรียมอาหาร การแปรรูปอาหาร การบรรจุหีบห่อ การขนส่งและการเก็บรักษาอาหาร

อาหารฮาลาล หมายถึง อาหารซึ่งอนุมัติตามบัญญัติศาสนาอิสลาม ให้มุสลิมบริโภคหรือใช้ประโยชน์ได้ เป็นอาหารที่ต้องผ่านกรรมวิธีในการทำ ผสม ปรุงประกอบ หรือแปรสภาพตามศาสนาบัญญัติ เป็นการรับประกันว่าชาวมุสลิมโดยทั่วไปสามารถบริโภคได้ โดยสามารถสังเกตุได้จากการประทับตรา ฮาลาล ที่ข้างบรรจุภัณฑ์ เป็นสำคัญ

เครื่องหมายฮาลาล เป็นเครื่องหมายที่คณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาล ของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่าง ๆ เป็นผู้อนุญาตให้ผู้ประกอบการ ประทับหรือแสดงลงบนสลากผลิตภัณฑ์ หรือกิจการใด ๆ

ท่านผู้ประกอบการสามารถศึกษารายละเอียด วิธีการปฎิบัติให้ถูกต้องตามกฎของศาสนาอิสลามได้จากเอกสาร General Guidelines for use of the Term Halal ซึ่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้นำมาเรียบเรียงและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการทั่วโลก มีความเข้าใจตรงกัน เพราะเป็นเรื่องของศรัทธาและความเชื่อ ที่มุสลิมจะต้องปฎิบัติตามด้วยความจริงใจและจริงจัง

อุตสาหกรรมฮาลาล มีขนาดประมาณ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม GCC (Gulf Cooperation Council) ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์และบาห์เรน โดยมีการนำเข้าสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มเป็นจำนวนมาก ประมาณ 80-90 % ของการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากประเทศในกลุ่มนี้มีสภาพเป็นทะเลทราย ไม่สามารถผลิตอาหารเพื่อการบริโภคได้อย่างพอเพียง

ในปี 2557 การส่งออกอาหารฮาลาลและเครื่องดื่มของไทยมีมูลค่าประมาณ 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.4 คาดว่าปี 2558 จะมีมูลค่าประมาณ 6,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5.1 โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลอันดับที่ 11 ของโลก

อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการผลิตอาหารในระดับแนวหน้าของโลก และสินค้าไทยในมุมมองของชาวตะวันออกกลางนั้นอยู่ในระดับกลาง มีคุณภาพดี ราคาเหมาะสม
หลายประเทศมีนโยบายการค้าเสรี ให้สิทธิทางด้านภาษี โดยเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีดูไบเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย มีสภานักธุรกิจไทยในดูไบ ถือเป็นศูนย์กลางทางการค้า เป็นจุดส่งออกต่อ (Re-export) ที่สำคัญที่สุดในตะวันออกกลาง มีข้อกำหนดที่ยกเว้นภาษี สำหรับสินค้าที่นำเข้าชั่วคราวเพื่อส่งออกต่อภายใน 6 เดือน

อุปสรรคที่สำคัญของผู้ประกอบการ SME คือ การแข่งขันในด้านราคาอาหารฮาลาล ทำให้ SME ไม่สามารถแข่งขันได้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีข้อได้เปรียบในแง่ของ Economy of scale จึงควรหาช่องทางในการส่งเสริม SME ให้มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการทำตลาดด้วย โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ควรมีนโยบายแผนการ ในการส่งเสริม ผู้ประกอบการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ตลาดอาหารฮาลาล เป็นตลาดที่น่าสนใจมากครับ เพราะการทำมาค้าขายกับกลุ่มประเทศ ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ร่ำรวย ถือเป็นโอกาสที่ท่านผู้ประกอบการไม่ควรพลาด