อินเดียมองกระแสเศรษฐกิจโลกตอนนี้อย่างไร ?

อินเดียมองกระแสเศรษฐกิจโลกตอนนี้อย่างไร ?

ท่ามกลางกระแสความผันผวนของเศรษฐกิจโลกขณะนี้ โดยเฉพาะความเสี่ยงเรื่องภาวะเศรษฐกิจจีน

ที่เริ่มต้นจากการที่เงินหยวนของจีนลดค่าลงร้อยละ 1.8 ภายในวันเดียว (11 ส.ค. 2558) ตามด้วยการที่มูลค่าหุ้นในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้หายไปกว่า 110 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อดัชนีตลาดหุ้นลดลง 1,600 จุดภายในวันเดียว (Black Monday 24 ส.ค. 2558) ทำให้ผู้นำอินเดียต้องตระหนักถึงผลกระทบต่ออินเดียว่าจะเกิดอะไรต่อไป

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2558 นายกรัฐมนตรีโมดีได้เรียกประชุมร่วมกับผู้นำภาคเอกชนระดับบิ๊กๆ ของประเทศทั้งหมด 27 คน เป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง โดยมี รมต. เศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกฯ และ ขรก. ระดับสูงจำนวนจำกัดเข้าร่วม รวมแล้วกว่า 45 คน งานนี้เรียกว่าเป็นการปิดห้องคุยกันภายใต้หัวข้อ “Recent Global Events : Opportunity for India”

ผมเห็นว่างานนี้น่าสนใจจึงขอนำมาสรุปตามรายงานข่าวให้ผู้อ่านได้ทราบบ้าง ดังต่อไปนี้

1. ก่อนเริ่มต้นการหารือ นายโมดีได้ขอให้นายอรวินท์ สุพรหมเนียน (Arvind Subramanian) ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ นรม. นำเสนอภาพรวมภาวะเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่ออินเดียก่อน หลังจากนั้นจึงให้ผู้นำภาคเอกชนทั้ง 27 รายแสดงความเห็นของตนเองคนละ 3 นาที ตามข่าวกล่าวว่านายโมดีตั้งใจฟังตลอดรายการ จะมีเพียงการให้ความเห็นในบางขณะและให้ รมต. เศรษฐกิจหรือ ขรก. ระดับสูงชี้แจงเพิ่มเติมบางประเด็น

2. นาย Arvind Subramanian ได้กล่าวสรุปถึงภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันว่า มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่ออินเดีย 3 ประการ คือ (1) การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของสหรัฐ ที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้มีการไหลออกของเงินทุนจากตลาดอินเดีย (2) การเจรจาระหว่างสหรัฐ และพันธมิตรตะวันตกกับอิหร่านเรื่องโครงการนิวเคลียร์ที่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งจะทำให้มีอุปทานน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง ส่งผลดีต่ออินเดียที่ปัจจุบันนำเข้าน้ำมัน 3 ใน 4 ของความต้องการทั้งหมด และทำให้ฐานะเศรษฐกิจมหภาคดีขึ้น เช่น การขาดดุลชำระเงินลดลง เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เป็นต้น และ (3) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ที่คาดว่าน่าจะต่ำกว่าร้อยละ 7 ซึ่งจะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของอินเดียแทน เช่น เงินลงทุนอาจจะไหลจากจีนมาที่อินเดียแทน แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออินเดียบ้างแล้ว เช่น ความกังวลที่จีนอาจจะทุ่มตลาดเพื่อระบายสินค้าเหล็กและสิ่งทอส่วนเกินสู่ตลาดอินเดีย (เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2558 ก็มีข่าวว่าปลัด ก. พณ.ของอินเดียได้พบปะกับฝ่ายจีนและแสดงความกังวลในเรื่องนี้ ในขณะที่ภาคเอกชนผู้ผลิตเหล็กยักษ์ใหญ่ของอินเดีย คือ บ. Tata Steel ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียเก็บภาษีป้องกันการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กที่นำเข้าจากจีน)

3. ส่วนมุมมองของภาคเอกชนระดับบิ๊กของอินเดียส่วนใหญ่เห็นว่า อินเดียไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้มากนัก (ยกเว้นความกังวลเรื่องการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กและสิ่งทอจากจีน) แต่ได้เรียกร้องให้ธนาคารกลางของอินเดียลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงินจะมีการประชุมในวันที่ 29 ก.ย. ศกนี้ (แม้ว่าในช่วงปีนี้ธนาคารกลางของอินเดียได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วถึง 3 ครั้งจากร้อยละ 8.0 เหลือ 7.25 ในปัจจุบัน) โดยนายระฆุราม ราชัน (Raghuram Rajan) ผู้ว่าการธนาคารอินเดียก็ยังคงมีท่าทีอนุรักษนิยมและต้องการให้แน่ใจว่าสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อของอินเดียได้ก่อนจึงจะลดอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้เอกชนอินเดียก็พร้อมที่จะลงทุนมากขึ้น แต่รัฐต้องสร้างสภาวะที่เอื้ออำนวยในการทำธุรกิจในอินเดียให้จริงจังกว่านี้ เช่น แก้ไขกฎหมายล้มละลาย นอกเหนือจากการแก้กฎหมายที่สำคัญๆ ได้แก่ กฎหมายที่ดิน และกฎหมายเพื่อนำภาษีการค้าและบริการ (Good and Services Tax) ที่ใช้ในอัตราเดียวกันทั่วประเทศมาใช้ ที่ยังถูกพรรคฝ่ายค้านต่อต้านในสภาขณะนี้ ท้ายที่สุด เอกชนอินเดียได้เรียกร้องให้ขจัดขั้นตอนการได้รับใบอนุญาตในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่างๆ (ปัญหาใหญ่สุดคือการได้รับความเห็นชอบในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม)

4. ส่วนมุมมองของนายโมดีและทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเห็นว่า ภาคเอกชนอินเดียจะต้องกล้าได้กล้าเสียมากกว่านี้ และควรหันมาลงทุนภายในประเทศเพื่อสนับสนุนนโยบาย Make in India ของรัฐบาลในขณะนี้ นอกจากนี้นายโมดียังได้เรียกร้องให้ภาคเอกชนสนับสนุนนโยบายเพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจรายกลาง-ย่อย (SME) ตามโครงการที่เรียกว่า Start-up India Stand up India ที่นายโมดีเพิ่งประกาศในช่วงวันฉลองอิสรภาพของอินเดีย (15 ส.ค. 2558)

การประชุมครั้งนี้นับเป็นการส่งสัญญาณที่ดีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักธุรกิจอินเดียว่ารัฐบาลพร้อมที่จะเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน แม้ทุกฝ่ายจะยังเชื่อว่าอินเดียสามารถรับมือกับผลกระทบจากภายนอกขณะนี้ แต่ก็อย่าลืมว่าเศรษฐกิจอินเดียมีสัดส่วนของการค้าระหว่างประเทศเพียงร้อยละ 37 ของ GDP ดังนั้น การจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7 ตามที่ตั้งใจไว้ก็คงจะต้องมาจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ย หรือการใช้จ่ายภาครัฐในโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) 100 เมือง ที่ยังต้องการเงินลงทุนจากเฉพาะภาครัฐสูงถึง 15.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (980,000 รูปี)

แต่ในขณะนี้ก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลกลับถูกกดดันให้มีค่าใช้จ่ายประจำในเรื่องผลตอบแทนข้าราชการที่จะเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีงบประมาณข้างหน้า (2559-2560) กว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (160,000 ล้านรูปี) เพื่อนำมาจ่ายเป็นบำนาญแก่ข้าราชการทหารที่สามารถเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการจ่ายเงินบำนาญของทหารทุกชั้นยศอย่างเท่าเทียมกันจนสำเร็จ ไม่ว่าจะเกษียณไปแล้วหลายปีหรือเพิ่งเกษียณปีที่ผ่านมา (One Rank One Pension - OROP) และนอกจากนี้ ในช่วงต้นปีหน้าก็คาดว่าคณะกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้าง (Pay Commission) ก็คงจะประกาศปรับขึ้นอัตราค่าจ้างและบำนาญของข้าราชการฝ่ายอื่นตามมาอีกอย่างน้อยร้อยละ 17-25 ซึ่งก็จะทำให้รัฐบาลโมดีหมดเม็ดเงินที่จะนำมาจัดสรรเป็นงบลงทุนเพิ่มขึ้น

สรุปแล้วโอกาสเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับจีน แต่ขึ้นอยู่กับตัวเองว่าจะสามารถเดินหน้านโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อให้โครงการสำคัญๆ ที่ประกาศไว้ในช่วงหาเสียง เช่น Make in India, Smart Cities และโครงการรถไฟความเร็วสูงประสบผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยไม่ถูกดึงเงินไปใช้โครงการประชานิยมอื่นๆ เหมือนที่ผ่านมา