ดราม่าในข่าว…เหตุที่ทำให้ข่าวใกล้หรือไกลตัวเรามากขึ้น?

ดราม่าในข่าว…เหตุที่ทำให้ข่าวใกล้หรือไกลตัวเรามากขึ้น?

การสร้างอารมณ์ในเนื้อข่าวเพื่อปลุกความดราม่าสร้างกระแสดูเหมือนกำลังจะเป็นประเด็นที่สังคมเริ่มจับตามองถึงการทำงานข่าว

ซึ่งมีการใส่สีใส่ไข่ ใส่ความเห็น โดยไม่เน้นเป็นเพียงคำโปรยในการเล่าข่าวอย่างที่ทำกันอยู่ในอดีต แต่เป็นการปรุงแต่งเรื่องราวจากเนื้อหาในภาคสนามให้ดึงดูด เร้าใจ สะเทือนอารมณ์ เพื่อสร้างความสนใจจากคนดู จนหลายๆ ครั้งได้บั่นทอนหลักใหญ่ใจความของสิ่งที่ประชาชนควรรู้อย่างไม่น่าให้อภัย

อุตสาหกรรมข่าวไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านในเชิงบริบท ที่สร้างผลกระทบอันใหญ่หลวงให้กับวงการข่าวในเชิงของการนำเสนอเนื้อหา ซึ่งมีแนวโน้มที่วิ่งเข้าสู่กระแสของความดราม่าหนักขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ทำให้นักข่าวต้องแข่งกับความเร่งรีบ รวดเร็ว ย่อยง่าย เสพสะดวกให้ตรงกับจริตผู้บริโภคและการแข่งขันจากเนื้อหาข่าวหลากหลายช่องทาง หรือการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่สื่อมวลชนถูกมอนิเตอร์ภายใต้ข้ออ้างในประเด็น ‘คืนความสุข’ ที่ต้องลดทอนการเจาะลึกในประเด็นเชิงนโยบายหนัก รวมถึงเลี่ยงการถามตรงตอบจริง อันเคยเป็นจารีตปฏิบัติที่เคยทำในสถานการณ์ปกติ

อย่างไรก็ตาม ความดราม่าในข่าว ที่มีการกำหนดธีมการเล่าเรื่อง ผ่านแรงจูงใจให้คนหันมาสนใจเนื้อหาข่าวนั้น นับวันดูจะเป็นเรื่องปกติวิสัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากปริมาณข้อมูลข่าวสารที่มากล้นจากแพลตฟอร์มสื่อดิจิทัล โดยการเร้าอารมณ์ในข่าวได้จัดทำขึ้นอย่างเป็นกระบวนการและจงใจให้เกิดความน่าสนใจในเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็น การสร้างอารมณ์ร่วมของนักข่าวภาคสนามในยามลงพื้นที่เล่าเรื่องผู้ประสบภัยหรือผู้ลี้ภัย การเล่าเรื่องเชิงบรรยายโดยเน้นบรรยากาศความสูญเสียที่น่าสะเทือนใจแบบมีจุดพีคและวิ่งเข้าหาจุดคลี่คลาย การสถาปนาวีรบุรุษในเนื้อข่าวเพื่อหาจุดร่วมเชิงอารมณ์ไปกับตัวละคร รวมไปถึงการแสวงหาผู้ต้องสงสัยของเหตุการณ์ความรุนนแรงต่างๆ หรือการก่อการร้ายเพื่อตอบโจทย์ความอยากรู้อยากเห็นของผู้ชมให้เร็วที่สุด และที่ขาดไม่ได้อันเป็นที่นิยมในเนื้อหาข่าวไทย โดยเฉพาะในช่วงคืนความสุขก็คือ การเจาะกลุ่มดราม่าไปที่เรื่องราวความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ซึ่งเน้นไปที่กลุ่มดารา เพื่อฉายสปอตไลท์ให้เกิดตัวแสดงที่น่าติดตาม น่าค้นหาในแบบฉาบฉวย มาแล้วไป ขายข่าวกันวันต่อวัน ตามวงจรการดำรงอยู่ของกระแสที่อยู่ได้อย่างมากแค่ 48 ชั่วโมงแล้วก็จากไป รอข่าวใหม่มาสร้างวงจรกระแสข่าวระยะสั้นต่อไป

จากงานวิเคราะห์ของ Bennett, W. L ในบทความที่ชื่อว่า News: The Politics of illusion ได้ชี้ให้เห็นว่า องค์ประกอบของการสร้างความเกินจริงในเนื้อหาข่าว โดยเฉพาะในเนื้อหาข่าวการเมืองได้มีส่วนลดทอนคุณค่าของเนื้อหาและความจริงจังในข่าว ซึ่งสร้างผลกระทบต่อการรับรู้ของประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเฉยเมยต่อประเด็นทางการเมืองของพลเมือง โดยมองการเมืองเป็นเรื่องน่าชัง น่าเบื่อ น่าหลีกเลี่ยง และไม่น่าติดตาม Bennett ได้ระบุให้เห็นถึงปัจจัย 4 ด้านที่ประกอบสร้างความดราม่าในข่าว จนมาถึงจุดที่ต้องทบทวนกระบวนการทำข่าวในหมู่นักวิชาชีพข่าวอีกครั้ง ได้แก่

1) การลดทอนให้เนื้อหาข่าวกลายเป็นเรื่องส่วนตัว (Personalization) คือการนำเสนอข่าวที่ลดทอนภาพรวมของปัญหาให้เป็นประเด็นส่วนย่อยระดับความสัมพันธ์ส่วนบุคคลหรือประเด็นส่วนตัว เช่น กรณีของการเกาะติดสถานการณ์การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาที่พบว่า สำนักข่าวส่วนใหญ่ลดทอนข่าวเลือกตั้งให้กลายเป็นประเด็นแข่งขันของผู้ลงสมัครประธานาธิบดี โดยเน้นการรายงานผลคะแนนแบบวันต่อวันเหมือนการพากย์การแข่งม้าที่เร้าอารมณ์มากกว่าจะตีความการแข่งขันดังกล่าวในเชิงผลกระทบต่อบ้านเมืองในภาพรวม อีกทั้งยังเน้นการนำเสนอข่าวที่เน้นบุคลิกภาพ ท่าที และลีลาของผู้นำมากกว่าการวิเคราะห์ในเนื้อหาเชิงนโยบาย

2) การใส่อารมณ์ร่วมในเนื้อหาข่าว (Dramatization) คือการสร้างเนื้อหาข่าวบนฐานของอารมณ์มากกว่าเหตุผล โดยมักมีองค์ประกอบของการเล่าเรื่อง การใช้ภาพ และเสียงในข่าวเพื่อลงพื้นที่เจาะเนื้อหา โดยคัดสรรภาพที่การรายงานที่สด เสียงประกอบของนักข่าวภาคสนามที่สร้างอารมณ์เรื่อง เน้นความสะเทือนใจจากมุมกล้องที่จับภาพความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นผู้คน ซากปรักหักพัง ภายใต้บทการนำเสนอที่เรื่องราว มีตัวเอก พร้อมกับการบีบคั้นอารมณ์ด้วยเพลงประกอบหรือบทบรรยายที่กระชากความสนใจจากคนดู ทั้งนี้โทนการเล่าเรื่องจะเน้นการสร้างอารมณ์ร่วมกับคนดู ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับข่าวระเบิดราชประสงค์ ซึ่งหลายๆ ช่องพยายามสร้างอารมณ์ร่วมทั้งในแง่ของความตื่นตระหนกและเศร้าสลดไปกับคนดู โดยตัดทอนการสืบเสาะความจริงและความระมัดระวังในแง่มุมของการนำเสนอที่อาจอ่อนไหว อันนำพาไปสู่ความร้าวฉานในกลุ่มชาติพันธุ์หรือการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเหยื่อผู้สูญเสีย

3) การแยกส่วนการนำเสนอเนื้อหาข่าว (Fragmentation) คือการเน้นการรายงานในเรื่องปลีกย่อย เป็นประเด็นเฉพาะ โดยไม่สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมที่เชื่อมโยงร้อยเรียงให้เกิดประเด็นที่สังคมได้ขบคิดต่อในภาพรวม อันจะนำมาสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นเหตุเป็นผล เช่นกรณีการรายงานข่าวภัยพิบัติ ที่มักมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เกิดขึ้นอย่างเสียไม่ได้ พร้อมกับรายงานที่เน้นความสูญเสีย เล่าเรื่องราวเพื่อสร้างเรทติ้งข่าวตอนจุดพีคของเหตุการณ์ ผ่านการสร้างอารมณ์ร่วมหรือตัวละครประกอบสถานการณ์ ไปจนถึงจุดสิ้นสุดของวิกฤตการณ์นั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะพยายามจบลงด้วยการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบกับวิกฤตการณ์ก็นับเป็นอันสิ้นสุดกระบวนการข่าว ปิดจ๊อบไป เพื่อรอทำข่าวภัยพิบัติปีหน้าที่จะมาให้เล่นใหม่

4) การนำเสนอข่าวที่เน้นทัศนคติต่อเจ้าหน้าที่รัฐ (The Authority-Disorder Bias) คือการรายงานข่าวที่เน้นการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่เป็นจุดศูนย์กลางของเนื้อหาข่าว โดยนำเสนอในรูปแบบของการสอบถามทัศนคติของบุคลากรในหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและการบีบคั้นการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อหาข้อสรุปในวิกฤตการณ์ ซึ่งนับเป็นการหาข่าวที่ง่าย สะดวก และอาจได้อารมณ์ดราม่าๆ มาให้เล่นต่อหากเจ้าหน้าที่รัฐจิตไม่แข็งพอต่อการคุกคาม เช่น กรณีคำถาม ‘จับแพะ’ ที่สร้างกระแสอบรมนักข่าวหน้าใหม่ ทั้งๆ ที่ถามโดนใจประชาชนที่สุดแล้ว

จากปัจจัย 4 ตัวในข้างต้น แม้หลายๆ ครั้งเราจะเห็นได้ถึงข้อดีของการดราม่าในแง่ของที่เป็นเครื่องมือดึงความสนใจของผู้คนต่อเนื้อหาข่าวที่จำเป็นต้องรู้ ซึ่งมีความสลับซับซ้อนและอาจยากแก่การติดตาม อย่างไรก็ตาม หลายๆ ครั้งเนื้อหาข่าวได้ใช้ความดราม่าเป็นศูนย์กลางในการนำเสนอจนเกินเหตุ อาจมีส่วนลดทอนความจริงจังและตัดตอนเนื้อหาข่าวที่จำเป็นออกจนไร้บริบทเชื่อมต่อในภาพรวม และบางครั้งก็ล้ำเส้นไปถึงขั้นลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพียงเพราะอยากได้ความดราม่าเอามาขายแบบไร้กาลเทศะ

ความสมดุลในการทำข่าวที่ให้สาระถึงคนดูในรูปแบบที่ไม่เพียงแต่รายงาน หากยังติดอาวุธความเป็นเหตุเป็นผลที่สร้างบรรทัดฐานเชิงมารยาทที่ถูกที่ควรให้กับคนในสังคมของสำนักข่าวมืออาชีพน่าจะเป็นสิ่งจำเป็นในภาวะที่ใครๆ ก็ได้สามารถเป็นผู้ผลิตสื่อ เพราะด้วยความต่างเชิงจรรยาบรรณเหล่านี้เองจะเป็นตัวบ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพที่แท้จริงของคนข่าว ท่ามกลางข้อมูลขยะในโลกดิจิทัลที่ ‘ความน่าเชื่อถือ’ ดูจะกลายเป็นหลักใหญ่ใจความที่ผู้บริโภคข่าวสารต้องการสูงสุดในโลกของข่าวยุคดิจิทัล