ปรนัย-อัตนัย เรียงความ-ย่อความ
เมื่อรัฐมนตรีศึกษาคนใหม่ขอให้โรงเรียนใช้ “อัตนัย” ในการทดสอบความรู้ของนักเรียน
มากขึ้นกว่าเดิม ควรจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง และผู้สนใจการปฏิรูปการศึกษาที่จริงจัง
ข่าวบอกว่านโยบาย “ลดปรนัย เพิ่มอัตนัย” ในการออกข้อสอบนั้นจะเริ่มในระดับประถมก่อน โดยจะนำร่องวิชาภาษาไทยในสัดส่วนอัตนัยไม่เกิน 20% และในแต่ละวิชา ข้อสอบอัตนัยจะไม่เกิน 20%
นโยบายนี้สถาบันทดลองการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. บอกว่าการสอบจะแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่สอบปรนัย 80% และอัตนัย 20%
และข้อสอบอัตนัยก็จะเป็นการเขียนสั้น ๆ ไม่ถึงกับเป็นเรียงความหรือย่อความ และออกใกล้เคียงกับข้อสอบ PISA โดยจะเริ่มใช้ปีการศึกษา 2559 นี้ทันที
ส่วนข้อสอบ O-Net ม. 3 และ ม. 6 อาจจะยังไม่เริ่มทันที เพราะจะไม่ยุติธรรมกับเด็ก ม. ปลายที่เตรียมตัวแบบเก่ามาแล้ว โดยจะให้ทดลองกับเด็ก ป. 6 เพื่อประเมินว่าจะได้ผลมากน้อยเพียงใด และหากจะใช้กับนักเรียน ม. 3 กับ ม. 6 ก็จะมีการประกาศให้ทราบล่วงหน้าแน่นอน
นี่เป็นแนวทางของรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยศึกษาใหม่ ที่ประกาศเป็นแนวทางที่ต้องการให้เด็กไทยได้สอบด้วยการ “เขียน” มากกว่าการ “ขีดถูกขีดผิด” หรือ “เติมคำในช่องว่าง” อย่างที่ทำมายาวนานจนเกิดคำถามว่า วิธีการสอนและสอบเช่นนี้ทำให้เด็กไทยฉลาดขึ้นหรือไม่
การสอบแบบปรนัยในแนวทางใหม่ที่มีถึง 80% นั้นแปลว่าที่ผ่านมาเป็นการขีดถูกขีดผิดถึงเกือบ 100% ซึ่งย่อมไม่ใช่วิธีการสอนให้เด็กไทยคิดเอง วิเคราะห์เองและมองหาเหตุและผลของสิ่งที่ได้เรียนรู้
เพราะหากส่วนใหญ่ของข้อสอบคือปรนัย ก็ย่อมหมายถึงความเคยชิน ของการเพียงแค่เติมคำในช่องว่างและกากะบาดเท่านั้น แต่ความสามารถที่สำคัญกว่านั้นคือความสามารถในการแสดงออก การแยกแยะ วิเคราะห์และนำเสนอแนวทางที่ผ่านมาเรียนรู้ ค้นคว้า และตระหนักความจริงที่ว่าไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียวเท่านั้น
สัดส่วนของข้อสอบปรนัยกับอัตนัยจึงควรจะต้องไม่ต่ำกว่า 50:50 เพราะนี่คือการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับเด็กไทย เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กอื่น ๆ ในอาเซียนโดยเฉพาะกับเด็กสิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น
ไม่ต้องพูดถึงเด็กจีนวันนี้ที่ระบบการศึกษาของเขามีความเข้มข้นมากขึ้น สอนให้วิเคราะห์ ถกแถลงและค้นคว้าข้อมูลเองเพื่อสามารถสร้างสังคมอุดมปัญญาอย่างแท้จริง
ดังนั้น ระบบการเรียนการสอนที่จะปฏิรูป จึงต้องเน้นให้เขียนเรียงความและย่อความมากขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ จึงจะสามารถฝึกปรือวิธีคิดและการจับประเด็นของเนื้อหาได้อย่างถูกต้อง
วิชาเรียงความและย่อความคือหัวใจของการสร้างให้เด็กไทยคิดเป็น วิเคราะห์เป็นและแยกแยะว่าอะไรเป็นสาระอะไรเป็นกะพี้ อันเป็นหัวใจของระบบการศึกษาที่ “สร้างคนให้มีปัญญา” มิใช่เป็นไปตามแนวโน้ม “จ่ายครบจบแน่” ที่กำลังคุกคามคุณภาพการศึกษาของประเทศทุกวันนี้
ที่เราเห็นและได้ยินนักการเมืองและนักวิชาการ พูดจาเพ้อเจ้อไร้เหตุผล และขาดความสำนึกในความรับผิดชอบนั้น ก็เพราะระบบการศึกษาที่ไม่มีมาตรฐานของการ “เรียงความ” อันหมายถึงความสามารถ ในการเรียงความคิดความอ่านให้ถูกต้องและชัดเจน สมเหตุสมผล และ “ย่อความ” ซึ่งเป็นวิชาที่สอนให้จับประเด็นและเนื้อหาที่เป็นสาระจริง ๆ
การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องเน้นการสอนเรียงความ, ย่อความและข้อสอบต้องให้เป็นอัตนัย ในสัดส่วนที่สูงขึ้นกว่าปัจจุบันอย่างมาก
หาไม่แล้ว เด็กไทยที่สอบตก “อ่านเอาเรื่อง” ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ “พูดจาไม่รู้เรื่อง” อย่างที่เราเห็นกันเกลื่อนกลาดทุกวันนี้