ดร.สุวิทย์ : ส่องอนาคตประเทศไทย(1) ในศตวรรษแห่งความว่างเปล่า

ดร.สุวิทย์ : ส่องอนาคตประเทศไทย(1) ในศตวรรษแห่งความว่างเปล่า

อ่านวาทกรรมปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง กับเลือกตั้งก่อนปฏิรูปของหลายๆ คนมาแล้ว

 ล้วนแต่ไร้เนื้อหาไร้อนาคตและว่างเปล่าจับต้องไม่ได้เลย  จนกลายเป็นวาทกรรมเพื่อการโต้วาที เพื่อเอาชนะทางการเมืองเสียมากกว่า

 ทำให้ผมเริ่มกลับไปอ่านอย่างจริงจัง ว่าด้วยข้อเสนอเชิงปฏิรูปประเทศของนักคิดหลายๆคนที่ไม่ได้มาจากนักการเมืองพบว่าส่วนใหญ่เสนอความจำเป็นอย่างยิ่งยวดว่าจะต้องปฏิรูปประเทศไทยโดยเร็วที่สุด ทำให้วาทกรรมปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง กลายเป็นแค่การโต้วาทีบนกะพี้ไม่ใช่แก่นสารใดๆที่ต้องไปถกเถียงให้เปลืองเวลา

เริ่มต้นจากการอ่านข้อเสนอ "วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศไทย" ของดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์ และออกแบบอนาคตประเทศไทย ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่ได้นำเสนอในโครงการสัมมนาสปช. รายงานประชาชนเรื่อง“เปลี่ยนประเทศไทยกับสปช.” เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา

แล้วสัปดาห์ต่อมาต่อมาดร.สุวิทย์ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้ง ให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถือเป็นมือทำงานคนสำคัญในทีมเศรษฐกิจใหม่ของดร.สมคิด จาตุศรพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีที่แบกความคาดหวังของคนไทยทั้งประเทศไว้ว่า จะเป็นผู้เข้ามาบริหารเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นกลับมาได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

 ข้อเสนอของดร.สุวิทย์ ที่นำเสนอสปช. สะกัดแก่นหลักๆมาจากหนังสือเล่มสำคัญของดร.สุวิทย์ที่ใช้ชื่อว่า "โลกเปลี่ยน ไทยปรับ : หลุดจากกับดัก พ้นจากชาติที่ล้มเหลว" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปี 2556 ที่ดร.สุวิทย์บอกไว้ว่าเป็นหนังสือเล่มที่ 9 ที่ตั้งใจจะหล่อหลอมทั้ง 3 Clusters of Concept คือ

แนวคิดว่าด้วยพลวัตโลก( Global Dynamics) แนวคิดว่าด้วยยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคง( Wealth Creation Strategy) และแนวคิดว่าด้วยยุทธศาสตร์ประเทศไทย( Thailand Strategy )

ขอแนะนำให้ทุกท่านที่เป็นห่วงเป็นใยอนาคตประเทศไทย ควรจะหาหนังสือเล่มนี้ไปอ่านจะได้พอมองเห็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ของประเทศไทย แม้ยังมีขวากหนามมากมาย

รวมทั้งอ่านข้อเสนอแนวคิดในเชิงยุทธศาสตร์ประเทศไทย แบบกระชับๆ ในรูปแบบ Powerpoint ที่เข้าใจได้ไม่อยาก ดร.สุวิทย์ได้นำขึ้นไปอยู่บน Facebook/ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เผยแพร่ให้สาธารณะได้อ่านคิดตามไปว่าประเทศของเราจะเดินหน้าไปอย่างไร

   ตำแหน่งในเชิงยุทธศาสตร์ประเทศไทยในปัจจุบันบนเวทีโลกยังอยู่ในโลกที่ 2 กลางๆห่างไกลจากการก้าวไปสู่ประเทศโลกที่หนึ่ง

 ประเทศโลกที่ 1 ที่เป็นเพื่อนบ้านของเราคือสิงคโปร์และเกาหลีใต้ที่มีสังคมประชาธิปไตย การเมืองมีเสถียรภาพ การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ

ประเทศโลกที่ 2 ประกอบด้วยประเทศจีน,มาเลย์เซีย,อินเดีย ที่กำลังมองเห็นหนทางก้าวไปสู่ประเทศโลกที่ 1 เทียบกับประเทศที่ยังมีการเมืองค่อนมาทางแตกแยกวุ่นวาย ไร้เสถียรภาพปานกลาง ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจยังก้ำกึ่งระหว่างการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพกับเปราะบาง อ่อนไหว ไร้เสถียรภาพ

ประเทศโลกที่ 3 ประกอบด้วยประเทศพม่าและเวียดนามที่ยังอยู่ในสภาพการเมืองแตกแยกวุ่นวายไร้เสถียรภาพและการเมืองเปราะบาง อ่อนไหว ไร้เสถียรภาพเช่นเดียวกัน

ปัญหาสำคัญที่ดร.สุวิทย์ชวนให้ขบคิด สิ่งที่ท้าทายคนไทยในศตวรรษที่ 21 อย่างยิ่ง เพราะประเทศไทยอยู่ในประเทศโลกที่สองที่ยังมองไม่เห็นช่องทาง ว่าจะก้าวไปสู่ประเทศโลกที่หนึ่งได้อย่างไรในระยะเวลาอันใกล้

   ประเด็นที่ 1 เราจะปรับตัวให้เข้ากับอารยธรรมของโลก ซึ่งเป็นเรื่องของ Globalization ได้อย่างไร

ประเด็นที่ 2 มีภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ ซึ่งดร.สุวิทย์เรียกว่าเป็นภัยคุกคามไม่ตามแบบ ในหลากมิติได้อย่างไร

ประเด็นที่ 3 เรื่องของความมั่งคังทางเศรษฐกิจ เราจะปรับตัวเข้าสู่สังคมองค์ความรู้ เหมือนกับประเทศอื่นๆเป็นเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร

ประเด็นที่ 4 เราจะมีระบอบการปกครองที่เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นองค์ประมุชอย่างแท้จริงได้อย่างไร

   คำถามคือ แล้วประเทศไทยอยู่อย่างนี้ได้อย่างไร เราอยู่อย่างนี้ไม่ได้

สิ่งสำคัญคือการปฏิรูป เราต้องเปลี่ยนแปลง โลกเปลี่ยน แล้วเราไม่ปรับไม่ได้ ทำให้มีความจำเป็นจะต้องเกิดการปฏิรูปขนานใหญ่อย่างเป็นระบบ หากย้อนไปในอดีต เรามีการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าเป็นการปฏิรูปขนานใหญ่ อย่างเป็นระบบเพียงครั้งเดียวในสมัยล้นเกล้า รัชกาลที่ 5 หลังจากนั้นเรากินบุญเก่า แต่ทุกวันนี้เราเผชิญกับแรงกดดันจากภายนอกที่มีอยู่มากมาย บวกกับแรงปะทุจากภายใน ทำให้ประเทศเดินต่อไปไม่ได้แล้ว

การเผชิญกับกับดักเชิงซ้อนของความเหลื่อมล้ำ อำนาจ ความมั่งคั่ง อภิสิทธิ์ชน ทุจริตคอร์รัปชั่นกับสังคมที่ไม่ Clean & Clear, สังคมที่ไม่ Free & Fair , สังคมที่ไม่ Care & Share ทำให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงอย่างที่เห็นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ปัญหาของพวกเรา ไม่ได้มีแค่ปัญหาภายใน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เราเป็นประเทศที่เคยเป็นประเทศที่ยากจน และพัฒนามาสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่ ณ วันนี้ เราไม่สามารถที่จะก้าวขึ้นสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เพราะเราติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และเป็นประเทศที่ไม่สามารถขับเคลื่อนด้วยอค์ความรู้ ด้วยนวัตกรรม

แต่การเผชิญกับกับดักเพีรยงอย่างเดียวมันไม่น่ากลัว เรายังเป็นประเทศที่กำลังเผชิญกับสิ่งที่เราเรียกว่า"ศตวรรษแห่งความว่างเปล่า" ศตวรรษแห่งความไม่มีอะไรเลยหรือ Lost Decades

   บนภูเขาน้ำแข็งของปัญหาของชาติ เราเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางที่มีความเหลื่อมล้ำที่ค่อนข้างสูง มีทุจริตคอรัปชั่นที่ดาษดื่น มีความขัดแย้งที่รุงแรง

แต่เมื่อดูใต้น้ำแข็งจะพบว่ามีปัญหาที่แท้จริง เป็นปัญหาฐานรากมีอยู่มากมาย เรามีทุนมนุษย์ที่อ่อนด้อย มีทุนสังคมที่อ่อนแอ มีทุนธรรมชาติที่เสื่อมโทรม

 ดร.สุวิทย์ย้ำว่า แต่ที่แย่ที่สุดคือเรามีทุนคุณธรรมและจริยธรรมที่เสื่อมทราม

ในการแข่งขันกับประเทศอื่นเพื่อสร้างความมั่งคั่งได้หรือไม่นั้น จบอยู่ที่"คน" คนของเรา คุณภาพต่ำลงเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น และเรายังมีโครงสร้างของคนที่เป็น Aging Society หรือสังคมสูงวัยที่น้อยประเทศจะโดนสองเด้งแบบนี้

  "ถ้าเรามัวแต่ทำงานปกติแบบที่เป็นอยู่เดิม โดยที่ไมีการปฏิรูปครั้งใหญ่และอย่างต่อเนื่อง เราจะอยู่ไม่รอด นี่คือแรงปะทุจากภายใน" ความเป็นห่วงของดร.สุวิทย์มากยิ่งขึ้นไปอีกกับแรงกดดันจากภายนอก กุญแจสำคัญอยู่ที่คำว่า"การเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับประเทศอื่นได้อย่างไร" เป็นการเชื่อมโยงทั้งในเชิงกายภาพ เชื่อมโยงของผู้คน เชื่อมโยงในเชิงสถาบันหรือเชื่อมโยงในโลกเสมือน

โลกได้เปลี่ยนจากความคิดที่บอกว่า One Country , One Market กลายเป็น One World, One Market โลกเป็นหนึ่งเดียวแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมีทั้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์

การเสนอประเด็นในเชิงยุทธศาสตร์ประเทศไทย จะอยู่อย่างไรในโลกใบใหม่นี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง สัปดาห์หน้าจะนำเสนอแก่นความคิดของดร.สุวิทย์เพื่อช่วยกันหาทางออกให้ประเทศไทย แล้วเลิกทะเลาะกันปฏิรุปก่อนเลือกตั้งหรือหลังเลือกตั้ง อ่านจากข้อเขียนของดร.สุวิทย์แล้ว คำตอบของผมคือเร่งลงมือปฏิรูปที่ไม่มีทางทำสำเร็จในเร็ววัน โดยไม่ต้องสนใจว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ที่เป็นเรื่องรอง