ข้อคิดเรื่องจริยธรรมสื่อในเอเชีย

ข้อคิดเรื่องจริยธรรมสื่อในเอเชีย

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเนชั่น ร่วมมือกับ Alliance of Media in Asia

ในหัวข้อ Good governance and Media หรือถ้าเป็นชื่อไทยคือ สื่อกับธรรมาภิบาล โดยการจัดสัมมนาครั้งนี้ มีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียมาร่วมกันไม่น้อยเลยทีเดียว เช่น มหาวิทยาลัยจากฟิลิปปินส์ ฮ่องกง พม่า กัมพูชา และไทย โดยมีมหาวิทยาลัยเนชั่นเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้

การจัดงานครั้งนี้หัวข้อที่ถกกันส่วนใหญ่ ก็เป็นเรื่องของจริยธรรมสื่อ และสื่อออนไลน์ สื่อโซเชียลที่มีอิทธิพลมากมายเหลือเกินในตอนนี้ และการสัมมนาครั้งนี้ก็ทำให้ผมทราบว่า ปัญหาด้านจริยธรรมสื่อ และสื่อโซเชียลไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยประเทศเดียว

อาจารย์ท่านหนึ่งจากฟิลิปปินส์ที่เข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างอิทธิพลของเฟซบุ๊ค ที่มีต่อนโยบายทางการเมืองของประเทศไว้น่าสนใจทีเดียว นั่นคือครั้งหนึ่ง รัฐบาลฟิลิปปินส์อยากจะเก็บภาษีให้เพิ่มขึ้น จึงประกาศจะเรียกเก็บภาษีจากกล่องพัสดุใหญ่ๆ ที่ชาวฟิลิปปินส์ใช้ส่งของกลับมาบ้านเกิด หรือเรียกว่า Balik Bayan ซึ่งกล่องนี้จะเป็นกล่องที่รัฐบาลไม่เคยเปิดหรือไม่ค่อยได้ไปยุ่งสักเท่าไหร่ แต่เพื่อจะเรียกเก็บภาษี และเพื่อความปลอดภัย รัฐบาลจึงประกาศว่า ต่อไปนี้จะเปิดกล่อง Balik Bayan นี้ทุกกล่อง ผลปรากฏว่า ชาวฟิลิปปินส์ทั่วโลกเกิดไม่พอใจกับนโยบายนี้ โดยได้ใช้เฟซบุ๊คเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับตนเอง และเป็นเหมือนไมโครโฟนเพื่อเรียกร้องให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยมาช่วยกันต่อต้าน จากนั้นรัฐบาลจึงประกาศใหม่ว่า จะไม่เปิดทุกกล่อง แต่จะเป็นการสุ่มตรวจแทน ซึ่งชาวฟิลิปปินส์ก็ยังไม่พอใจอยู่ดี จนท้ายสุดรัฐบาลจึงต้องล้มเลิกนโยบายเปิดกล่องนี้ไป และเปลี่ยนเป็นการสแกนกล่องแทน นี่คือตัวอย่างหนึ่งในประเทศฟิลิปปินส์ ที่แสดงให้เห็นถึงพลังของโซเชียลมีเดียในต่างประเทศ

อาจารย์อีกท่านหนึ่งจากประเทศญี่ปุ่น ก็ได้ยกตัวอย่างที่แสดงถึงพลังอำนาจของสื่อโซเชียล ที่มีอิทธิพลในบ้านตัวเองด้วยเช่นกัน โดยท่านได้ยกตัวอย่างว่า นักท่องเที่ยวคนหนึ่งได้เดินทางไปที่ประเทศจีน และเห็นป้ายป้ายหนึ่ง ติดไว้หน้าร้านอาหารว่า “ร้านอาหารนี้ ไม่รับชาวเวียดนาม ชาวญี่ปุ่น และสุนัข” เมื่อนักท่องเที่ยวเห็นจึงโกรธและถ่ายรูปป้ายนี้ลงในสื่อโซเชียล แน่นอนว่า ประเด็นนี้ต้องสร้างความโกรธให้กับชาวญี่ปุ่นอยู่แล้ว จึงมีการแชร์กันในวงกว้าง จนกลายเป็นประเด็นที่สื่อกระแสหลักต้องให้ความสนใจ และทำข่าวจนได้มีการขอโทษตามมา

สิ่งหนึ่งที่น่าแปลกใจก็คือ อาจารย์ท่านหนึ่งที่เป็นตัวแทนจากประเทศกัมพูชา ได้กล่าวถึงกรณีการสร้างกระแสจากข่าวที่ไม่ได้รับการกรองอย่างถี่ถ้วน โดยยกตัวกรณีของ คุณสุวนันท์ คงยิ่ง มาเป็นตัวอย่าง จึงเห็นได้ชัดว่า กรณียังคงเป็นกรณีศึกษาในประเทศกัมพูชาจนถึงทุกวันนี้

ข้อสรุปจากการสัมมนาครั้งนี้ก็คือ การทำงานของสื่อกระแสหลักในทุกวันนี้ จำเป็นจะต้องทำงานควบคู่ไปกับสื่อโซเชียล เพราะหากไม่ทำงานคู่กันไปย่อมเกิดปัญหาอย่างแน่นอน การทำงานคู่กันคืออย่างไร สื่อโซเชียลสามารถจุดประเด็นต่างๆ ได้ แต่สิ่งที่ควรทำต่อจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นการสืบสวนหาข้อมูลที่แท้จริง การสร้างความน่าเชื่อถือให้กับข่าว ควรจะเป็นหน้าที่ของสื่อกระแสหลัก แต่ทุกวันนี้ หลังจากที่สื่อโซเชียลจุดประเด็นขึ้นมาแล้ว สื่อกระแสหลักกลับกลายเป็นคนตามกระแสนั้น เผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ตามสื่อโซเชียล โดยไม่มีการสืบสวนหาความจริง ข้อเท็จจริงใดๆ ต่อ นั่นหมายความว่า สื่อกระแสหลักไม่ได้ทำหน้าที่สื่อได้อย่างสมบทบาท จนทำให้คนหันไปรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อโซเชียล และคิดว่าสิ่งนั้นน่าเชื่อถือได้พอกับสื่อกระแสหลัก

ในการสัมมนาครั้งนี้ มีนักศึกษาคนหนึ่งได้ตั้งคำถามจากผู้แทนจากประเทศอินเดียว่า“คุณคิดว่า เราควรจะรับมือกับสื่อโซเชียลอย่างไร ควรจะแชร์ หรือไม่ควรจะแชร์ หรือควรจะแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อโซเชียลอย่างไร” สิ่งที่ผู้แทนจากอินเดียตอบเป็นคำตอบที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว ท่านตอบว่า“ง่ายๆ คุณจะแสดงความคิดเห็นอย่างไรผ่านสื่อโซเชียล ให้คิดว่าหากเป็นการพูดต่อหน้า คุณจะทำไหม คุณสื่อสารแบบเผชิญหน้าอย่างไร คุณก็ควรสื่อสารผ่านโซเชียลแบบนั้น หากทำแบบนี้ คุณจะไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง”

ซึ่งคิดไปคิดมาผมก็เห็นด้วย เพราะตอนนี้หลายๆ คนกลายเป็นนักเลงคีย์บอร์ด แสดงความคิดเห็นอย่างก้าวร้าว ได้รับเรื่องรับภาพอะไรมา แชร์ทุกอย่าง หากลองหยุดคิดสักนิดว่า ถ้าหากสิ่งที่คุณกำลังจะพูดหรือกำลังจะทำในโลกโซเชียลเกิดขึ้นในโลกของความจริง คุณยังจะทำแบบนี้อยู่ไหม หากคำตอบคือไม่ คุณก็ไม่ควรทำให้โลกโซเชียลเช่นกัน

--------------------

ชีวิน สุนสะธรรม