เสียดายรัฐธรรมนูญ

เสียดายรัฐธรรมนูญ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ช่วงเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมาผมได้ห่างหายไปจากคอลัมน์นี้พอสมควร

เพราะในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านเศรษฐกิจ ผมต้องไปร่วมจัดทำแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและตลาดทุนเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งร่วมให้ข้อเสนอแนะในการร่างรัฐธรรมนูญแก่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนของงานด้านการปฏิรูป เป็นที่น่ายินดีที่สปช. สามารถจัดทำแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆทั้งหมด 37 วาระ บวกกับแนวทางการพัฒนาประเทศอีก 6 วาระ และได้นำส่งรายงานทั้งหมดให้กับคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้ไปคงต้องรอดูว่ารัฐบาลจะเอาวาระไหนบ้างไปสู่การปฏิบัติจริง 

แต่ที่เป็นเรื่องน่าเสียดาย คือ การที่สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผลให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง โดยมีเงื่อนเวลาที่ต้องจัดทำให้เสร็จภายในเดือนเมษายน 2559 เพื่อนำไปสู่การทำประชามติในราวเดือนสิงหาคม 2559

ผมเป็น 1 ใน 105 เสียงข้างน้อยที่ลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะผมเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาได้ดีพอสมควร เพื่อตอบโจทย์ของประเทศทั้งในสภาวะปัจจุบันและในอนาคต แน่นอนว่ามีบางมาตราที่ผมไม่เห็นด้วยและอยากให้มีการแก้ไข แต่โดยภาพรวมผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีพอที่จะช่วยเปลี่ยนประเทศไทยให้เข้มแข็งขึ้นได้ ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีจุดเด่นอีกหลายข้อ แต่เนื่องจากเนื้อที่มีจำกัดผมจะขอกล่าวถึงเพียง 4 ข้อดังนี้

ข้อที่ 1 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้ความสำคัญอย่างมากกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการให้ความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การกำหนดกฎกติกาในการบริหารบ้านเมือง ในการดูแลสอดส่องและช่วยตรวจสอบการทำงานของผู้มีตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการ ประชาชนสามารถเสนอกฎหมายได้ ถอดถอนนักการเมืองได้ รวมตัวกันจัดตั้งสมัชชาพลเมืองเพื่อเสนอแนวทางการบริหารชุมชนและท้องถิ่นได้ รัฐธรรมนูญนี้ยังให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมที่เป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และให้สิทธิประชาชนเพิ่มขึ้นมากมาย เช่น สิทธิในการศึกษา15 ปี สิทธิในความเป็นธรรมทางกฎหมาย เป็นต้น

ข้อที่ 2 ความพิเศษของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การมีภาคพิเศษที่ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศในทุกๆด้าน เช่น การปฏิรูปด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น ที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนเลยที่มีการเขียนถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศ หลายคนอาจตั้งคำถามว่าจำเป็นขนาดนั้นเลยหรือที่จะต้องระบุเรื่องการปฏิรูปไว้ในรัฐธรรมนูญ จะเป็นการ “มัดมือชก” รัฐบาลในอนาคตเกินไปหรือไม่ที่จะต้องทำการปฏิรูปประเทศตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าไม่ทำก็จะถือว่าทำผิดกฎหมาย

นี่แหละครับคือจุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การมัดมือชกให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูปประเทศก็เพราะรัฐบาลส่วนมากมักไม่ชอบการปฏิรูป เนื่องจากการปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องที่ทำได้ยากใช้เวลามาก และมักจะไม่เห็นผลในทันที ทำในรัฐบาลนี้กว่าจะเห็นผลก็ในรัฐบาลต่อๆไป จึงเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นที่นักการเมืองจะเน้นทำการปฏิรูปประเทศ เพราะทำแล้วไม่ได้เพิ่มความนิยมของพรรค ดีไม่ดีอาจจะเสียความนิยมได้อีกด้วย

ข้อที่ 3 อีกจุดเด่นสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและของข้าราชการ และนี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักการเมืองส่วนใหญ่ไม่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นได้ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ นักการเมืองที่เคยทุจริตเลือกตั้ง หรือเคยถูกถอดถอนจากตำแหน่งเพราะทุจริต หรือเคยถูกตัดสินว่าร่ำรวยผิดปกติ จะไม่มีสิทธิ์เล่นการเมืองตลอดชีวิต นอกจากนั้นแล้วกระบวนการตรวจสอบการทุจริตก็จะเข้มข้นขึ้นกว่าเดิมมาก เช่น หน่วยงานรัฐที่ใช้เงินแผ่นดินต้องเปิดเผยข้อมูลการใช้เงินต่อสาธารณะ และประชาชนมีสิทธิเรียกดูข้อมูลการใช้เงินเพิ่มเติมได้ อีกทั้งจะมีการเปลี่ยนสถานะของ ปปท. ให้เป็นองค์กรอิสระลักษณะเดียวกับ ปปช. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบการทุจริตให้มากขึ้น เป็นต้น

ข้อที่ 4 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยที่มีการระบุว่า รัฐบาลมีหน้าที่ต้องส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถบริหารจัดการการเงินของครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมมองว่านี่ คือ หัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่ยั่งยืน ไม่เพียงแค่นั้น รัฐธรรมนูญนี้ยังตอบโจทย์เรื่องการเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยบังคับให้รัฐบาลต้องปฏิรูประบบบำนาญของประเทศเพื่อให้เป็นระบบบำนาญที่บูรณาการโดยต้องครอบคลุมประชาชนทุกส่วน เงินบำนาญต้องเพียงพอต่อการดำรงชีพ และต้องเป็นระบบบำนาญที่มีความยั่งยืนที่ไม่สร้างภาระทางการคลังมากจนเกินไป รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังระบุอีกด้วยว่ารัฐบาลต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดทุน และต้องส่งเสริมให้ตลาดทุนเป็นกลไกหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ที่ผมเขียนมาทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างไม่กี่เรื่องเท่านั้น สาระดีๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีอีกมาก ผมเลยอดเสียดายไม่ได้ที่ประเทศไทยจะไม่มีโอกาสได้ใช้ธรรมนูญฉบับนี้ และผมก็เชื่อด้วยว่าสมาชิกสปช.หลายท่านที่ลงมติไม่เห็นชอบ ก็น่าจะเห็นถึงข้อดีหลายๆ อย่างในร่างรัฐธรรมนูญนี้ แต่อาจจะเป็นเพราะติดใจในบางประเด็นหลักๆ เช่น เรื่องอำนาจพิเศษของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เรื่อง ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม เรื่องการเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และเรื่องสัดส่วนสมาชิกวุฒิสภาด้านสรรหาที่มีมากกว่าด้านเลือกตั้ง เลยทำให้ต้องตัดสินใจอย่างนั้น

ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่จะถูกแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ เก็บสาระดีๆของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอาไว้ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและแนวทางในการปฏิรูปประเทศไม่ควรถูกตัดออกเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีความสำคัญมากในการที่จะกำหนดอนาคตของประเทศไทย ผมขอเสนอแนะให้ทำการแก้ไขเฉพาะบางมาตราที่เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวและขัดแย้งกันอยู่ในเวลานี้ แต่ยังคงต้องมีกลไกชั่วคราวบางอย่างที่จะช่วยไม่ให้ประเทศไทยกลับไปสู่ทางตันเหมือนช่วงก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

แล้วพบกันใหม่เดือนหน้า สวัสดีครับ