นวัตกรรมเชิงพื้นที่

นวัตกรรมเชิงพื้นที่

การวางแผนการใช้พื้นที่กับการวางโครงสร้างพื้นฐาน ควรดำเนินไปพร้อมกัน จึงจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ในมุมมองแบบเอกชน เรามักจะนึกถึงนวัตกรรมในรูปแบบที่เป็นสินค้าหรือบริการใหม่เป็นหลัก ในขณะที่เมื่อมองในมุมของการบริหารจัดการ นวัตกรรมจะกลายเป็นเรื่องนามธรรมทันที เพราะการจัดการเป็นเรื่องที่จับต้องยาก และมีความเป็นศิลป์มากกว่าศาสตร์

แต่หากมองในภาพที่ใหญ่ขึ้นระดับมหภาค ไกลออกไปจากขอบเขตดินแดนของความเป็นรัฐแล้ว เราจะเห็นภาพของการใช้เส้นทางที่พาดผ่านหลายประเทศ จากมหาสมุทรสู่มหาสมุทร โดยเฉพาะเส้นทางบก เรามักเรียกกันว่า ระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น ลองนึกย้อนกลับไปถึงเส้นทางสายไหม อันเป็นเส้นทางค้าขายทางบกที่ยิ่งใหญ่ จากจีนไปอินเดีย เปอร์เซีย เมดิเตอร์เรเนี่ยน และยุโรป

สิ่งที่ไหลเวียนไม่ได้มีแค่ไหม กับผ้าไหมเท่านั้น หากแต่สิ่งที่ถูกถ่ายทอดระหว่างดินแดนที่ระเบียงเศรษฐกิจนี้ที่พาดผ่านคือ ศาสนา ปรัชญา ความเชื่อ เทคโนโลยี วัฒนธรรม ตลอดจนถึงโรคภัยไข้เจ็บ

แน่นอนว่า ในระเบียงเศรษฐกิจสายไหมนี้ องค์ความรู้มหาศาลจากจีนได้ถูกส่งมอบไปยังยุโรป ก่อให้เกิดการผลิต และนวัตกรรมมากมาย ตั้งแต่ ดินปืน เข็มทิศ กระดาษ และการพิมพ์ ทำให้อีกหลายร้อยปีให้หลังยุโรปจึงอุดมด้วยความเจริญจากการพัฒนานวัตกรรม

การไหลเวียน (Flow) ของปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นบนระเบียงนี้มีสามสี่ปัจจัยที่สำคัญ หนึ่งคือ “ทุน” เมื่อเส้นทางถูกเชื่อมต่อ ทุนก็จะถูกเชื่อมโยงถึงกัน ก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ข้ามดินแดน สองคือ “คน” เมื่อทุนเดินทางข้ามรัฐได้ คนก็เดินทางข้ามได้โดยเสรี แรงงานเกิดการเคลื่อนย้าย ความสามารถของแรงงานจากที่หนึ่งไหลไปยังอีกที่หนึ่ง ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดินแดนต่างๆ บนเส้นทางระหว่างกันจึงสามารถสร้างความเจริญร่วมกันได้ สามคือ “ความรู้” อันเป็นสิ่งที่อัดแน่นอยู่ในตัวแรงงาน ซึ่งย่อมไหลไปตามตัวคน และสุดท้ายคือ “เทคโนโลยี” ที่ไหลออกจากดินแดนที่ให้กำเนิด ไปสู่ดินแดนที่อาจให้โอกาสได้ดีกว่า โดยเฉพาะโอกาสในทางเศรษฐกิจ

สิ่งเหล่านี้ คือ หัวใจสำคัญของการผลิต ในรูปของการเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยพื้นที่ เมื่อมองออกมาให้ไกลออกจากขอบเขตของเมืองและรัฐแล้ว จะสามารถทำความเข้าใจมิติของการสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยการอาศัยพื้นที่ ซึ่งถูกร้อยเข้าด้วยกันบนระเบียงเดียวกันได้ไม่ยาก

ย้อนกลับมาดูที่การสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงพื้นที่ของประเทศไทยครับ

ว่ากันโดยประวัติศาสตร์แล้ว บ้านเมืองเราพัฒนาโดยการใช้โครงสร้างพื้นฐานเป็นตัวนำ สังเกตได้ว่า เมื่อมีถนน มีไฟฟ้าไปถึง เมืองก็จะเกิดตามแนวเส้นทางถนนนั้น ซึ่งถ้าหากมองข้ามรั้วกับกำแพงของเมืองที่ตั้งเรียงรายตามเส้นถนนแล้ว จะเห็นว่า หลังชุมชนเหล่านั้นมักจะเป็นที่เปล่า มีมูลค่าต่ำ

เมื่อการพัฒนาเมืองของเราเป็นอย่างนี้ เราจึงวางผังเมืองและกำหนดรูปแบบการใช้ประโยชน์จากที่ดินได้ยาก ก่อให้เกิดเป็นปัญหารุงรังจนถึงทุกวันนี้

เรายิ่งเห็นปัญหานี้ชัดเจนขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะกรณีการสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อรัฐกำหนดเส้นทางรถไฟฟ้าแล้ว โครงการอสังหาริมทรัพย์จะเกิดไล่ตามเส้นทางดังกล่าวอย่างเข้มข้น รูปการใช้พื้นที่ของเราเลยแปลก จัดการยาก สร้างความหนาแน่นเฉพาะจุด แทนที่จะกระจายอย่างมีรูปแบบที่เหมาะสม

อันที่จริง การวางแผนการใช้พื้นที่กับการวางโครงสร้างพื้นฐาน ควรดำเนินไปพร้อมกัน จึงจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ยกตัวอย่างเช่น การสร้างระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก- ตะวันตก จาก วังเตา-เสียมเรียบ-ศรีโสภณ-สระแก้ว-กาญจนบุรี-ทวาย ถ้าเราชี้นิ้วไปที่เส้นทางนี้ เราจะเห็นปัจจัยร่วมที่โดดเด่นมากอย่างหนึ่งคือ ความร่ำรวยด้วยวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

หากเรามองระเบียงเศรษฐกิจนี้ให้เป็นเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว จะพบว่า เราสามารถพัฒนาโอกาสใหม่ได้มาก โดยทำให้เป็นไปอย่างยั่งยืนได้ด้วย

คำถามคือ แล้วถ้าหากจะมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษล่ะ จะต้องคำนึงถึงสิ่งใดบ้าง?

ประการแรกขึ้นอยู่กับว่า เราต้องการคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใด สมมติว่า เราจะพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร หรือ อุตสาหกรรมเกษตร เราก็ต้องตามด้วยคำถามว่า เราต้องพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อะไรบ้าง จะสามารถขนย้ายวัตุดิบที่จำเป็นได้อย่างสะดวก รวดเร็ว หรือไม่

นอกจากนี้ เราก็ควรดูปัจจัยของประชากรด้วยว่า ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เราจะส่งเสริมนั้น มีแรงงานพื้นฐานที่เพียงพอหรือไม่ ถ้าหากเราสามารถตอบคำถามตั้งแต่เรื่องคลัสเตอร์ ห่วงโซ่ แรงงาน ปัจจัยการผลิต ได้แล้ว เราก็น่าที่จะหาจุดซึ่งเหมาะสมที่สุด ที่จะสร้างโอกาสได้มากที่สุด แล้วพัฒนาพื้นที่ตรงนั้นโดยการวางแผนจัดทำโครงสร้างพื้นฐานรองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นแล้ว การสร้างนวัตกรรมเชิงพื้นที่ บนตัวอย่างของการสร้างระเบียงเศรษฐกิจแบบข้างต้น จึงจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ให้ขาดในเรื่องพื้นที่ที่จะสร้างประโยชน์ร่วมกันสูงสุดก่อน (Optimum Area) แล้วเรื่องโครงสร้างพื้นฐานจึงตามไป ซึ่งอันที่จริงแล้ว การจะตอบว่าพื้นที่อะไร ตรงไหนดี ก็ต้องย้อนกลับไปคิดให้ออกเสียก่อนว่า จะทำอะไร อุตสาหกรรมใด จะสร้างห่วงโซ่เชื่อมโยงกันได้อย่างไรนั่นเอง

การเลือกอุตสาหกรรมก่อน แล้วค่อยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับนั้น จะทำให้การเชื่อมโยงสินค้าและบริการระหว่างกันแข็งแรงอย่างมาก นี่เป็นหัวใจสำคัญของการสร้างคลัสเตอร์ และคลัสเตอร์ที่เข้มแข็งก็จะยิ่งเติบโต ก่อให้เกิดพลังที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในบริเวณนั้น และตลอดแนวระเบียงได้อีกมาก

สมมติถ้าเราต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ โดยใช้เทคโนโลยีของประเทศไทยเรา และใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่าย ราคาถูกภายในประเทศคือ มันสำปะหลัง เราเลือกที่จะไปพัฒนาคลัสเตอร์นี้ที่สระแก้ว อันเป็นพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังมาก เราสามารถวางแผนการสร้างลานตากมันที่ได้มาตรฐาน มีโรงงานแปรรูปขั้นต้น จากนั้นมีโรงหมัก มีโรงผลิตในอาณาบริเวณที่ใกล้เคียงกัน อุตสาหกรรมก็จะค่อยๆ เติบโตอย่างเป็นกลุ่มก้อน หากวันหนึ่งปริมาณการปลูกมันไม่เพียงพอ เราก็อาจวางแผนข้ามไปพัฒนาแปลงขนาดใหญ่ที่กัมพูชา เพื่อรองรับปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น การค้าขายระหว่างประเทศในอดีตถึงปัจจุบันล้วนแล้วแต่เป็นเช่นนี้ แม้จะย้อนขึ้นไปถึงยุคเส้นทางสายไหมก็ตาม

ประเด็นคือ เราต้องมีความสามารถที่จะรวบรวมมิติที่สำคัญที่สุดในสามเรื่องเข้าด้วยกันให้ได้ คือ พื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย

แม้จะเป็นเรื่องนวัตกรรมการท่องเที่ยวก็ตาม การคำนึงถึงสามมิตินี้ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน  

ผมสนับสนุนแนวคิดของการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมาบนระเบียงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเรามีความเข้มแข็งมากที่สุด และเราสามารถอาศัยระเบียงนี้ในการ “ไหล” ผ่านสินค้าและบริการใหม่จากภูมิภาคหนึ่งไปยังอีกภูมิภาคหนึ่งได้

รวมถึงการส่งผ่านนวัตกรรมจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ก่อให้เกิดเป็นคลื่นของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในทิศทางเดียวกัน ในยุคสมัยที่เรากำลังจะหลอมรวมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่จึงมีความสำคัญยิ่ง และจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้อย่างมากในอนาคต