SME เตรียมตัวรับมาตรการช่วยเหลืออย่างไร

SME เตรียมตัวรับมาตรการช่วยเหลืออย่างไร

เมื่อวันที่ 1 กันยายน2558 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.36 แสนล้านบาท เพื่อใส่เงินงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจระดับล่าง

โดยมีมาตรการ 3 มาตรการ ได้แก่ การให้เงินกองทุนหมู่บ้านวงเงิน 60,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชนวงเงิน 36,000 ล้านบาท มีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ ใช้จ่ายผ่านตำบล ตำบลละ 500,000 บาท เพื่อนำไปสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์

มาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เน้นโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศรวมวงเงิน 16,000 ล้านบาท และเตรียมงบประมาณเพิ่มอีก 24,000 ล้านบาท เพื่อให้แต่ละกระทรวงเสนองบเพิ่มเติม มาตรการดังกล่าวรัฐบาลได้พยายามดำเนินการมาแล้ว แต่ยังไม่สัมฤทธิผล การได้ทีมงานที่รู้ลึกมีความรอบคอบ โดยเฉพาะท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงค์ ซึ่งผมได้เคยทำงานใกล้ชิดที่ธนาคารกรุงไทยหลายปี ผมเชื่อว่ากระบวนการต่างๆ จะมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็ว

เงินจำนวนดังกล่าวจะเป็น Multiplier ที่ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากยิ่งขึ้น ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยในชนบททั่วประเทศ ก่อให้เกิดกำลังซื้อ ช่วยแก้ปัญหาขายของไม่ได้ของท่านผู้ประกอบการ SME บรรเทาปัญหาขาดสภาพคล่องได้ในระดับหนึ่ง

เพื่อให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ภายใน 1-2 สัปดาห์ รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือ SME ออกมา เพื่อตอบโจทก์ของผู้ประกอบการ ที่ขาดแคลนเงินทุน ธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ

ท่านผู้ประกอบการจึงควรเตรียมความพร้อมเพื่อเข้ารับการช่วยเหลือจากมาตรการที่จะคลอดออกมา เพราะไม่ว่ามาตรการจะดีอย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสถาบันการเงินจะต้องระมัดระวังในการพิจารณาให้เงินกู้ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าความเสียหายที่เกิดจากท่านผู้ประกอบการเคยมีมาแล้ว

คำสัมภาษณ์ของคุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ผ่านหนังสือพิมพ์ว่า ถ้าไม่มีฐานเศรษฐกิจรองรับ ปั๊มเงินเข้าไปมากๆ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป และนำไปสู่ปัญหาฟองสบู่ได้เหมือนความเสียหายที่เคยเกิดแล้วในอดีต ปัญหาที่ฉุดเศรษฐกิจจริงๆ ตอนนี้ก็คือ ผลิตของแล้วขายไม่ได้ เรายังไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นเร็วแค่ไหน แล้วอีกอย่าง SME เหล่านั้น นำเงินสภาพคล่องไปพัฒนาอะไร ที่มีความหมายหรือเปล่า ไม่ใช่ให้เงินไปแล้วเอาไปกินไปใช้เฉยๆ โดยไม่เกิดประโยชน์

ในฐานะที่เคยทำงานดูแลลูกค้า SME มานานตอนทำงานที่ธนาคารกรุงไทย จึงอยากให้ท่านผู้ประกอบการได้สรุปบทเรียนในอดีต ว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ และเสนอข้อคิดซึ่งเคยเผยแพร่ให้ท่านผู้ประกอบการมาแล้ว ได้นำมาปฏิบัติอีกครั้ง ดังนี้

1.ต้องมีวินัยทางการเงิน ใช้เงินกู้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ ไม่นำเงินไปใช้จ่ายในกิจกรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ

2.ต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ กู้แล้วต้องชำระหนี้คืนแม้จะเป็นมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ

3.ต้องทำธุรกิจในสิ่งที่เราถนัด ไม่ขยายกิจการไปในธุรกิจที่ขาดความรู้ความเข้าใจ อย่างแท้จริง

4.ต้องปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ เข้าใจความต้องการของลูกค้า สินค้าที่ล้าสมัยผลิตแล้วขายไม่ได้ต้องยกเลิกการผลิต

5.ต้องประหยัดหาวิธีการในการลดต้นทุนการผลิต โดยไม่ลดคุณภาพ แสวงหาพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้มีอำนาจในการต่อรองกับคู่ค้า

6.ต้องเปิดบัญชีกับธนาคาร รายได้และค่าใช้จ่าย ต้องผ่านบัญชีทั้งหมดเพื่อให้สถาบันการเงินได้ทราบกระแสเงินสดของกิจการ

7.ต้องพัฒนาตนเอง แสวงหาความรู้ใหม่ในการดำเนินธุรกิจ ช่วงเศรษฐกิจขาลงเป็นช่วงที่เหมาะในการเข้ารับการอบรม สัมมนา ศึกษาต่อ สร้างตัวเองให้เป็นนักรบในเศรษฐกิจใหม่

นอกจากรอรับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล ท่านผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับข้อคิดทั้ง 7 ข้อด้วย ถ้าเราร่วมมือกันทุกฝ่ายผมมั่นใจว่าเราจะก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ได้

ประเทศเราจะได้ผู้ประกอบการ SME ที่เข้มแข็ง เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป