บทเรียนภาคประชาสังคม

บทเรียนภาคประชาสังคม

ผลโหวตร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ฉายภาพความขัดแย้งชัดเจนระหว่าง

 “รัฐราชการรวมศูนย์” กับ “ภาคประชาสังคม”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อมพระร้อยองค์มาพูด ก็ไม่มีใครเชื่อว่า “โหวตคว่ำรัฐธรรมนูญ” เป็นความคิดอิสระของ สปช. และผลโหวตคราวนี้ ทำเอาขบวนปฏิรูปภาคประชาสังคม และ สปช.สายเอ็นจีโอ ออกอาการเซ็งไปตามๆกัน

โดยเฉพาะองค์กรภาคประชาชนที่เกาะเกี่ยวกับ “สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน” (พอช.) ร่วมกับ “สถาบันพระปกเกล้า” ที่เคยร่วมกันทำคลอด “สภาพัฒนาการเมือง” และ “สภาองค์กรชุมชน” ผ่านกลไกรัฐธรรมนูญ 2550

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม “คณะทหาร” ผู้ก่อการยึดอำนาจ แสดงจุดยืนจะปฏิรูปประเทศ ตามคำเรียกร้องของมหาชน เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จึงได้ตั้ง “สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป” (สชป.) เตรียมเสนอโมเดล “สภาพลเมือง” เอาไว้

เมื่อ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า มาเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ องค์กรของพลเมืองในนาม “สมัชชาพลเมือง” จึงปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ คสช.ที่เป็นตัวแทนของ “รัฐราชการรวมศูนย์กลับไม่เห็นด้วยกับ “สิทธิพลเมือง” และ “สมัชชาพลเมือง” จึงเสนอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ “ตัด” มาตราที่เกี่ยวกับพลเมืองออกไป

จริงๆ แล้ว บวรศักดิ์ก็ทราบดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ชอบคำว่า พลเมืองเป็นใหญ่และนายทหารที่เติบโตมาจากสถานศึกษาแห่ง ลัทธิทหารย่อมแสลงหู เมื่อได้ยินคนพูดถึง สิทธิพลเมือง

พลันที่ “นายทหาร” และ สปช.จังหวัดในอุปถัมภ์ของทหาร ยกมือโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญ ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเชิงลบต่อ คสช. จากกลุ่มภาคประชาสังคมทั้งขบวน

หัวขบวนภาคประชาสังคมท่านหนึ่งถึงกับเปรยว่า “แท้ที่จริง รัฐบาล คสช. มิได้มีความเข้าใจ หรือมีใจให้กับการปฏิรูปมาตั้งแต่ต้น เขาเชื่อกลไกราชการมากกว่า ในขณะเดียวกันก็หวาดระแวงภาคประชาสังคม และมีท่าทีต่อต้านการปฏิรูปอยู่ในส่วนลึกตลอดเวลา ในเกือบทุกเรื่องที่ สปช.คิดกัน”

ฉะนั้น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จำนวน 200 คน ก็จะเป็น “เครื่องมือ” ของ คสช.เต็มรูป และเชื่อว่า 135 อดีต สปช.ที่โชว์ผลงานคว่ำรัฐธรรมนูญ มากกว่าครึ่งค่อน จะได้รับการแต่งตั้งเป็นสภาขับเคลื่อนฯ

ด้านหนึ่ง ขบวนการภาคประชาสังคม ก็ต้องสรุปบทเรียน การเพ้อฝันว่า จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากข้างบนนั้น มันมิอาจเป็นจริง และควรหวนกลับไปเดินบนหนทางปฏิรูปจากฐานล่าง คสช.คงมั่นใจว่า มวลมหาประชาชนที่ต่อต้านระบอบทักษิณ จะเป็นฐานการเมืองอยู่ จึงมองข้ามภาคประชาสังคม ที่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่

ที่สำคัญ “ประยุทธ์” คาดหวังว่า “ประชานิยมสมคิด” จะซื้อใจรากหญ้าได้ระดับหนึ่ง และเพียงพอต่อการหาเสียงของพรรคการเมืองใน “เครือข่ายขุนศึก” ใน 2 ปีข้างหน้า

ในอนาคต ขบวนการต่อต้านเผด็จการทหาร อาจได้ขบวนการภาคประชาสังคม เป็น แนวร่วมและเมื่อนั้น แผ่นดินจะลุกเป็นไฟอีกครั้ง