โฉมหน้าใหม่ของเผด็จการอำนาจนิยม: อำนาจนิยมอำพราง

 โฉมหน้าใหม่ของเผด็จการอำนาจนิยม: อำนาจนิยมอำพราง

ผู้เขียนเคยกล่าวถึงงานวิจัยเรื่อง “รัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย” (Democratic Coup d'etat) ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2012

ของนักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ของสหรัฐอเมริกา ที่ชื่อ Ozan O.Varol ไปแล้ว โดยงานชิ้นดังกล่าวได้กล่าวถึงรัฐประหารยุคเก่ากับรัฐประหารยุคใหม่ ที่มีความแตกต่างกัน ตรงที่รัฐประหารยุคเก่าโดยส่วนใหญ่แล้ว เกิดจากการที่ผู้นำกองทัพยึดอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง และต้องการหาเหตุครองอำนาจให้ยาวนานที่สุด แต่รัฐประหารยุคใหม่ในบางประเทศ (ขอย้ำว่า บางประเทศเท่านั้น !) ผู้นำกองทัพกลับสามารถนำพาประเทศไปสู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม และถ่ายโอนอำนาจให้กับผู้ชนะการเลือกตั้งในระยะเวลาไม่นานนัก แต่ก็ต้องมีกลไกพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญไว้อยู่สักพักก่อนเพื่อให้นิ่ง

งานชิ้นนี้ได้รับการประเมินจาก Mark Tushnet ผู้ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางทฤษฎีและกฎหมายรัฐธรรมนูญของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดว่าเป็น “หนึ่งในงานที่ดีที่สุดในสาขากฎหมายรัฐธรรมนูญ” อีกทั้งงานชิ้นนี้ยังได้รับรางวัลชนะเลิศจากสมาคมกฎหมายเปรียบเทียบ ของนักวิชาการรุ่นใหม่ของอเมริกาด้วย (the American Society of Comparative Law’s Younger) อีกด้วย และในปีต่อมาคือ ค.ศ.2013 งานวิจัยเรื่อง “The Military as the Guardian of Constitutional Democracy”(กองทัพในฐานะผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ) ของ Varol ก็คว้ารางวัลชนะเลิศจากสมาคมกฎหมายเปรียบเทียบของนักวิชาการรุ่นใหม่ของอเมริกามาครองอีก                                                                                    

นอกจากเขาจะชี้ให้เห็นว่า รัฐประหารไม่ได้จะนำไปสู่ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมเสมอไปแล้ว ต่อมาในปี ค.ศ.2014(ทำไมถึงขยันอย่างนี้/ผู้เขียน !!)Varol ก็ได้ออกงานวิจัยมาอีกชิ้นหนึ่ง นั่นคือ “Stealth Authoritarianism”ซึ่งผู้เขียนขอแปลว่า “อำนาจนิยมอำพราง”

งานวิจัยเรื่อง “Stealth Authoritarianism” ของ Varol มีใจความสำคัญคือ ต้องการชี้ให้เห็นว่า เผด็จการอำนาจนิยม (authoritarianism) ได้มีการเปลี่ยนรูปแปลงร่าง (metamorphosis) ไปตามช่วงบริบทยุคสมัย Varol ชี้ว่า แต่เดิมทีในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผู้ปกครองที่เป็นอำนาจนิยมจะกดขี่ฝ่ายตรงข้าม โดยใช้ความรุนแรงและกระทำการละเมิดและนิติรัฐอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา (transparently authoritarian) ในการรักษาอำนาจการปกครองของพวกเขายืนยงอยู่ต่อไปได้ แต่ในช่วงหลังสงครามเย็น บริบททางการเมืองระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไป ประชาคมและองค์การระหว่างประเทศ เริ่มมีบรรทัดฐานและกติกาในการลงโทษ ต่อการกระทำที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมอย่างเปิดเผยในประเทศต่างๆ

บรรทัดฐานและกติกาภายใต้บริบทการเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ มีอิทธิพลสำคัญในการสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้ปก ครองหรือรัฐบาลในประเทศต่างๆ หลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมอย่างเปิดเผยตรงไป ตรงมาเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นใน “เผด็จการอำนาจนิยมในอดีต”

Varol เห็นว่า บรรทัดฐานและกติกาที่เกิดขึ้นใหม่ ในการเมืองระหว่างประเทศ มาซึ่งการเกิดปรากฏการณ์ของ “เผด็จการรุ่นใหม่” ที่ปรับตัวเรียนรู้ที่จะธำรงรักษาอำนาจทางการเมือง โดยผ่านกลไกทางกฎหมาย ซึ่งเป็นกลไกทางกฎหมายที่ดำรงอยู่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และจากการใช้วิธีการดังกล่าวนี้เอง เผด็จการรุ่นใหม่จึงดำรงอยู่ภายใต้หน้ากากของการทำตามกติกากฎหมาย และใช้กลไกทางกฎหมายในการกดขี่ปิดกั้นฝ่ายตรงข้ามได้อย่างชอบธรรม ส่งผลให้พฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยของเผด็จการรุ่นใหม่นี้ ยากที่จะตรวจสอบ สังเกตเห็นได้ชัดเจนอย่างที่สามารถประจักษ์ได้ในเผด็จการอำนาจนิยมดั้งเดิม และด้วยเหตุนี้ การต่อสู้หรือรับมือกับ“เผด็จการอำนาจนิยมรุ่นใหม่ที่เป็นอำนาจนิยมอำพราง (stealth authoritarianism)” จึงยากและสลับซ้อนยิ่งขึ้น                                      

งานวิจัยของ Varol ชิ้นนี้ ได้ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจภาพรวมข้ามภูมิภาคของปรากฏการณ์ “เผด็จการอำพราง” โดย Varol ใช้ทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล (rational choice theory) ในการวิเคราะห์รัฐบาลที่เข้าข่ายเป็นอำนาจนิยมอำพราง  Varol ได้ศึกษาปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ในประเทศต่างๆ ทำให้เห็น “ลีลาของเผด็จการอำนาจนิยมที่มีลูกเล่นแตกต่างกันไปในแต่ละบริบทสังคม”

กล่าวได้ว่า งานวิจัยชิ้นนี้ได้ช่วยเติมเต็มช่องโหว่ของการศึกษา วิเคราะห์ปรากฏการณ์รัฐบาลอำนาจนิยม ซึ่งมักจะอิงกับเกณฑ์เก่าๆ ที่ล้าสมัยไปแล้ว คุณูปการสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้คือ การสร้างทฤษฎีรองรับเกี่ยวกับปรากฏการณ์ เกี่ยวกับเผด็จการอำนาจนิยมที่เกิดขึ้นหลังยุคสงครามเย็น อันเป็นเผด็จการอำนาจนิยมที่อำพรางความฉ้อฉลของตน ด้วยการอ้างหลักการกลไกกฎหมายต่างๆ ที่ดูเผินๆ แล้วเป็น “ประชาธิปไตย” ในการธำรงรักษาอำนาจทางการเมืองของตนไว้

Varol ชี้ว่า แม้ว่าพฤติกรรมทางการเมืองของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นเผด็จการอำพรางจะพบได้บ่อยในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่งานวิจัยของเขาก็ชี้ให้เห็นด้วยว่า พฤติกรรมดังกล่าว ก็โผล่ให้เห็นได้ด้วยในระบอบประชาธิปไตย ที่ได้รับความเชื่อถืออย่างสหรัฐอเมริกา

ในการศึกษาวิจัยเรื่องเผด็จการอำพรางนี้ Varol มุ่งหวังที่จะชี้ให้นักวิชาการและนักกำหนดนโยบาย  ที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ได้เห็นถึงความล้าสมัยของดัชนี้ชี้วัดความเป็นอำนาจนิยมที่ใช้ๆ กันอยู่ เพราะ Varol เห็นว่า ดัชนีชี้วัดดังกล่าวตื้นเขิน และไม่เพียงพอที่จะจับ “อำนาจนิยมอำพราง” หรือ “โฉมหน้าใหม่ของอำนาจนิยม”ได้ อีกทั้งดัชนีดังกล่าว ยังกลับกลายเปิดช่องให้รัฐบาลอำนาจนิยมอำพราง เจริญเติบโตเสียด้วยซ้ำ เมื่อมองพฤติกรรมอำนาจนิยมของเผด็จการรุ่นใหม่ไม่เห็น มันก็ส่งผลให้เผด็จการอำพรางสามารถที่ดำรงอยู่ได้นานกว่า “เผด็จการทื่อๆ รุ่นเก่า”

กล่าวโดยสรุปก็คือ เผด็จการอำนาจนิยมในโฉมหน้าใหม่ สามารถซ่อนปฏิบัติการที่ขัดกับประชา ธิปไตยไว้ภายใต้หน้ากากของกฎหมาย ในทำนอง “หมาป่าภายใต้หนังแกะ” อย่างไรก็ตาม Varol เห็นว่า เผด็จการอำพราง ร้ายกาจน้อยกว่าเผด็จการดั้งเดิม ที่กดขี่มากกว่าและชัดเจนกว่า

ดังนั้น การโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมอำพรางนี้ ย่อมประสบปัญหาความยุ่งยาก กว่าโค่นล้มเผด็จการอำนาจนิยมแบบเก่า ที่ทำอะไรตรงไปตรงมา สามารถเห็นกันชัดเจนจะจะ ที่น่าสนใจคือ รัฐบาลอำนาจนิยมอำพรางที่ Varol ศึกษาในงานวิจัยดังกล่าวของเขา ล้วนมาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น และในบางกรณี ยังได้คะแนนเสียงข้างมากเสียด้วย ! ถ้าใครสงสัยสนใจ Varol เขาให้ดาวน์โหลดได้เลย

ลืมบอกไปว่า ไม่ใช่ Varol คนเดียวที่มีตามองเห็น “อำนาจนิยมอำพราง” แต่มีนักวิชาการคนอื่นๆอีกหลายคนด้วย หนึ่งในนั้นที่ดาวน์โหลดได้อีกชิ้นหนึ่งก็คือ Upgrading Authoritarianism in the Arab World (2007) ของ Steven Heydemann