ตอบโจทย์ประชาธิปไตยด้วย TPBS

ตอบโจทย์ประชาธิปไตยด้วย TPBS

จากข่าวคราวการกดดันองค์กรสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส ที่มีมาตลอดในช่วงเดือนที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นกรณีการตรวจสอบเนื้อหาจากคณะอนุกรรมการฯ กสทช.ว่าด้วยการนำเสนอข่าวนักศึกษาดาวดิน และการนำเสนอสารคดี การกระจายอำนาจจังหวัดจัดการตนเอง ล่าสุดก็ยังประสบกับอาการสุ่มเสี่ยงทางการเงินและรายได้ด้วยข้อเสนอของภาษีระบบใหม่ อันอาจกระทบต่อรายได้ 2,000 ล้านต่อปี ที่ใช้บริหารองค์กรเข้าไปอีก

แน่นอนว่า กระแสกดดันสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสที่หลายๆ คนมองว่าเป็น ‘เสือนอนกิน’ ซึ่งรับรายได้จากภาษีมาแบบฟรีๆ พร้อมสรรพด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถต่อยอดธุรกิจต่อได้อีกมากมาย นับเป็นโจทย์ที่น่าหาคำตอบท่ามกลางอุตสาหกรรมทีวี ที่ต้องการความแฟร์ในการแข่งขัน โดยยิ่งมาประกอบกับการทำงานข่าวของไทยพีบีเอสในหลายๆ ครั้ง ก็ออกแนววิพากษ์วิจารณ์ ทิ้งคำถามให้คนคิด แบบเหยียบเท้า ทับที่ทางผู้มีอำนาจหลายๆ คน ก็ยิ่งทำให้เกิดอาการหมั่นไส้องค์กรแห่งนี้ และพยายามใช้กลยุทธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการกดดันสถานีสื่อสาธารณะแห่งนี้มาโดยตลอด

หากย้อนกลับไปจะพบว่า สื่อสาธารณะแห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคอาเซียนนี้ จัดตั้งด้วยเจตนารมณ์ทางการเมือง ที่ต้องการให้สื่อมวลชนเป็นอิสระจากอำนาจทุนและอำนาจรัฐ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยทำการออกอากาศครั้งแรกในปี 2551 ซึ่งแม้จะออกอากาศมาร่วมกว่า 7 ปี สร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่าง และผลักดันผู้ประกอบการอิสระรายย่อยเข้าสู่วงการจำนวนมาก แต่ผู้ชมส่วนใหญ่ของสังคมไทย รวมถึงผู้นำบางส่วนก็ยังไม่เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของการมีสื่อสาธารณะในสังคมไทยมากนัก

สื่อสาธารณะหรือ Public broadcasting service ตามหลักการที่บัญญัติไว้ในองค์การยูเนสโก คือโมเดลของสื่อมวลชนที่ถูกออกแบบให้มีความเป็นอิสระ จากทั้งการควบคุมของรัฐบาล และกลุ่มทุนที่อาจมีอิทธิพลต่อการชี้นำเนื้อหาที่จะนำเสนอกับผู้ชมผู้ฟังได้ ทั้งนี้ ด้วยอุดมคติที่เห็นว่า สื่อมวลชนควรเป็นพื้นที่สาธารณะที่สร้างสรรค์ ไม่นำเสนอแต่เฉพาะเนื้อหาที่ผู้คนต้องการอยากดูอยากฟัง หรือตอบโจทย์ตลาดเท่านั้น หากแต่ต้องนำเสนอเนื้อหาที่ผู้คนจำเป็นต้องรู้ โดยบางเนื้อหาอาจมีความยาก ซับซ้อน ซีเรียส และไม่บันเทิง ซึ่งก็เป็นภารกิจของสื่อสาธารณะ ที่จะต้องหยิบยกประเด็นที่ควรรู้ดังกล่าวมาชง ผสมผสานด้วยรสนิยมที่ถูกจริตกับผู้รับสารในสังคม ให้เนื้อหาดังกล่าวดูน่าสนใจและฮุกให้คนดูให้ติดเบ็ด และหยุดที่จะรับชม รับฟังให้ได้ ทั้งนี้ เนื้อหาที่จำเป็นต้องรู้นั้นส่วนใหญ่อาจกระทบต่อทุนใหญ่หรือผู้มีอำนาจบารมีบางท่าน สื่อมวลชนในรูปแบบนี้จึงต้องมีจุดร่วมตรงที่ ‘ความเป็นอิสระ’

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มองโลกสวยจนเกินไปนัก ก็จะตระหนักได้ว่า อิสรภาพย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย สื่อสาธารณะก็เช่นกัน ซึ่งการออกแบบโมเดล การทำมาหากินของสื่ออิสระอย่างไทยพีบีเอส ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ อันประกอบสร้างจากระบบสัมปทานที่ได้จากรัฐ และทำมาหากินจากระบบสปอนเซอร์โฆษณา ที่ส่งมอบเนื้อหาให้คนดูสามารถดูได้แบบฟรีๆ นั้น นับเป็นโจทย์ที่หนักหนาสาหัสเอาการ โดยท้ายสุดหวยก็มาออกที่การดึงภาษีบาปมาเป็นต้นทุนในการบริหารจัดการกิจการ เพื่อสร้างความเป็นอิสระให้กับสื่อสาธารณะแห่งนี้ โดยไม่รบกวนกระเป๋าผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่รับชมทีวี

ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า  7 ปีของไทยพีบีเอส ที่พยายามพิสูจน์คุณภาพและความเป็นอิสระ ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติตลอดกาลของเมืองไทยนี้ นับว่าท้าทายมากกับโจทย์ของสื่อสาธารณะในการที่จะดำรงไว้ซึ่งคุณภาพ มาตรฐาน รวมถึงอิสรภาพในการตรวจสอบถ่วงดุล โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากรัฐบาล นายทุน กลุ่มผู้มีอำนาจ ไปจนถึงฝักฝ่ายของมวลชนที่ฝังรหัสทางการเมืองอย่างเหนียวแน่น จากการกระตุ้นเร้าของสื่อเลือกข้าง ทั้งยังไม่นับรวมจริตผู้บริโภคคนไทยส่วนใหญ่ ที่มองสื่อโทรทัศน์เป็นพื้นที่ของความบันเทิง มากกว่าพื้นที่ของความรู้และการเพิ่มพูนรสนิยมอีกด้วย

จากงานวิจัยของมีเดียมอนิเตอร์ ว่าด้วยการรายงานข่าวการเมืองและการชุมนุมทางการเมือง ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ได้สะท้อนคุณค่าสูงสุดอย่างหนึ่งของการมีสื่อสาธารณะในสังคมไทย นั่นคือการให้พื้นที่การชุมนุมของเสียงตรงข้ามกับรัฐบาล ไม่ว่าขั้วการชุมนุมจะเกิดจากฝักฝ่ายสีใด ไทยพีบีเอสมีการให้พื้นที่กับผู้ชุมนุมมากที่สุดในบรรดาสื่อฟรีทีวีทั้งหมด โดยเนื้อหาของการนำเสนอมีความพยายามสร้างความสมดุลอย่างเท่าเทียม ซึ่งเมื่อเทียบกับการนำเสนอของช่องเอ็นบีทีของรัฐบาล ที่ออกแนวกระบอกเสียงของรัฐ กับช่อง 5 ของกองทัพที่ออกแนวรู้รักษาตัวรอด ไทยพีบีเอสก็ถือว่าเป็นช่องสาธารณะที่คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะของประชาชน มากกว่าช่องของรัฐทั้งหมด อีกทั้งยังเล่นบทบาทในฐานะของการเป็นผู้นำที่กล้าหาญ สร้างบรรทัดฐานการรายงานชนิดที่สื่อพาณิชย์อื่นๆ ต้องจับตามองและเกาะกระแสตาม

ดังนั้น โจทย์ใหญ่ใจความของสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส คงไม่ได้อยู่ที่เรทติ้ง ความนิยมอย่างสื่อพาณิชย์ และก็ไม่ได้อยู่ที่การหันซ้ายหันขวาตามกระแสสังคม หรืออำนาจรัฐอย่างสื่อของรัฐบาล หากแต่ไทยพีบีเอส คือพื้นที่ของความอิสระในการสร้างโมเดลการบริหารจัดการองค์กรสื่อ ให้เคารพในการปฏิบัติงานของนักวิชาชีพสื่อมวลชน ภายใต้กรอบและจรรยาบรรณที่ควรจะเป็น

แน่นอนประชาธิปไตยไม่มีทางลัด ดังนั้น เส้นทางสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสที่เป็นสถาบัน ซึ่งการันตีอิสรภาพในสังคมประชาธิปไตย ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเช่นกัน การพิสูจน์ความดีงามและคุณค่าของสถาบันสื่อแห่งนี้ คงต้องขึ้นอยู่กับผลงานบนหน้าจอว่า จะพิสูจน์ให้คนในสังคมเชื่อมั่น วางใจในเนื้อหาและความเป็นอิสระให้ได้ ซึ่งด้วยสภาพสังคมปิดเช่นนี้ คงจะเป็นการยากที่สื่อสาธารณะจะพิสูจน์ตนเองได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยหากจะมองว่าเนื้อหาของสื่อ คือกระจกสะท้อนสังคมนั้นๆ สิ่งที่เกิดขึ้นกับไทยพีบีเอสในปัจจุบัน ก็คงตอบเราได้ระดับหนึ่งว่า เราอยู่ในสังคมที่หวาดระแวงความเป็นอิสระของสื่อและเสรีภาพของประชาชนขนาดไหน