ดราม่าข่าวสารกับสังคมไทย

 ดราม่าข่าวสารกับสังคมไทย

“ดราม่า” ดูจะเป็นคำแห่งยุคสมัยในสังคมไทยปัจจุบัน

แม้แต่สื่อประเภทวารสารศาสตร์ ที่ควรจะต้องยึดมั่นและยึดติดกับเนื้อหาแบบข้อเท็จจริง หรือการวิเคราะห์วิจารณ์ที่ห่างไกลจากดราม่า ก็ยังปรากฏว่า มีการหาประโยชน์จากข่าวประเภทดราม่าเพื่อเรียกเรทติ้ง หรือแม้แต่การทำข่าวให้เป็นดราม่าเพื่อสร้างจุดขาย

ความหมายดั้งเดิมของดราม่า (drama) ที่ตรงที่สุดก็คือ ละคร หรืออาจหมายถึง ชุดเหตุการณ์ หรือ สถานการณ์ ที่เหนือความคาดคิด มีลักษณะที่น่าตื่นเต้น และมีองค์ประกอบด้านอารมณ์สูง ซึ่งในความหมายหลัง อาจจะพบเห็นลักษณะการนำเสนอแบบดราม่าในรายการประเภทข่าวสาร ที่เน้นการเร้าและดึงดูดอารมณ์ผู้อ่านและผู้ชมเป็นหลัก ซึ่งก็ปรากฏทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อวิทยุ โทรทัศน์ โดยเฉพาะในรายการข่าวประเภทอาชญากรรม ตำรวจไล่จับผู้ร้าย หรือสารคดีชีวิตจริงแนวสาระละคร (docudrama) มานานพอสมควรแล้ว

ทว่า ในโลกออนไลน์ ที่ผู้ใช้สื่อสามารถนำเสนอข้อมูล และแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนและคัดค้านกันได้อย่างค่อนข้างเสรี ก็ปรากฏว่ามี “ดราม่า” ในความหมายใหม่ปรากฏโฉมขึ้นมา โดยสืบเนื่องจากปรากฏการณ์การสื่อสารบนพื้นที่สาธารณะออนไลน์สำคัญของเมืองไทยคือ เว็บบอร์ดของพันทิปดอทคอม ที่โดยรูปแบบที่เป็นมาตรฐานก็คือ จะมีผู้ตั้งกระทู้ในเรื่องที่เป็นประเด็นความสนใจร่วมกันในห้องต่างๆ แล้วก็จะมีผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนทัศนะหรือความรู้กัน

อย่างไรก็ดี บางครั้งบางคราว การแลกเปลี่ยนนั้นกลายเป็นความขัดแย้ง เพราะทัศนะที่ไม่ลงรอยกัน หรือมีข้อมูลที่คัดง้างกันในเชิงข้อเท็จจริง การขัดแย้งกันในลักษณะดังกล่าวนำไปสู่ “ดราม่า” ในอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ผู้ผลิตละครหรือข่าวเป็นผู้สร้างเนื้อหา แต่เป็นปุถุชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นผู้สร้าง “ดราม่า” เสียเอง

ตามนิยามที่ให้ไว้โดยเจ้าพ่อดราม่าออนไลน์ คือ จ่าพิชิต ขจัดพาลชน เจ้าของเว็บไซต์drama-addict.com ที่มีชื่อเสียง “ดราม่า” ในแบบหลังนี้ หมายถึง “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากความคิดเห็นที่แตกต่าง อคติ หรือจริงจังมากเกินไป แล้วก่อให้เกิดความขัดแย้ง รำคาญใจ กับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมด”

สิ่งที่เป็นจุดร่วมกันระหว่างดราม่าในทั้งสองความหมายก็คือ การเล่นกับอารมณ์ของผู้เปิดรับหรือใช้สื่อเป็นหลัก เมื่อนำมาใส่ในบริบทของข่าว องค์ประกอบของความน่าสนใจและเร้าอารมณ์ จึงมักจะกลบองค์ประกอบด้านความน่าเชื่อถือ และประโยชน์ต่อผู้เปิดรับสื่อ ทั้งในระดับปัจเจกและระดับสาธารณะไป

ในวงการข่าวสารไทยในปัจจุบัน ที่การทำข่าวถูกชี้นำด้วยการตลาด การผสมผสานดราม่าเข้ากับข่าว จึงกลายเป็นสูตรสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในเชิงจำนวนคนดูคนอ่าน และการได้การอุดหนุนจากโฆษณา สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้แนวทางนี้ ผ่านการสร้างรูปแบบใหม่ของรายการข่าวให้ออกมาในรูปวาไรตี้ข่าว ที่มีทั้งช่วงข่าว บันเทิง กีฬา และสารพันเรื่องราวแบบปุถุชนสนใจร้อยเรียงมาให้อยู่ในรายการเดียวกัน ในแง่หนึ่งก็ทำให้คนหันมาสนใจข่าวสารมากขึ้น เพราะดูง่าย เข้าใจง่าย แถมยังได้ความเพลิดเพลิน แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็อาจส่งผลให้ผู้คนกลายมาคุ้นชินกับข่าวสารตามแนวคิดแบบใหม่ที่เป็นเสมือนเรื่องเล่า ยิ่งเรื่อง “แรง” และเร้าอารมณ์มาเพียงใด ก็ยิ่งได้รับความสนใจมากเท่านั้น

โดยผู้อ่าน ผู้ชม และผู้ใช้ไม่ได้สนใจถึงวิธีการได้มาซึ่งข่าวสาร ความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล ความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว หรือผลกระทบของข่าวต่อผู้ที่ปรากฏในข่าวหรือต่อผู้เปิดรับ ที่อาจมีวิจารณญาณไม่ดีพอ เช่น เด็กและเยาวชน เป็นต้น เมื่อคุ้นชินกับ “ข่าวเบาๆ” (soft news) ที่ดูสนุกอ่านสนุก ผู้เปิดรับสื่อจำนวนหนึ่งก็อาจจะเริ่มไม่คุ้นกับ “ข่าวหนัก”(hard news) ซึ่งก็น่าจะขายได้ยากขึ้นเรื่อยๆ หากเป็นอย่างนี้เรื่อยไป ก็อาจนำไปสู่วงจรที่ทำให้ที่ทางของข่าวหนักหมดจากความสนใจของประชาชนไปเรื่อยๆ

ยิ่งในโลกออนไลน์ที่การเปิดรับข้อมูลข่าวสาร เป็นไปแบบเลือกได้ตามความชอบและรสนิยมของผู้ใช้ (customize) หลายคนอาจปิดตัวเองจากข่าวสารแบบเดิมๆ ไปเลย และกำหนดการเปิดรับเฉพาะข่าวในหัวข้อที่ตนสนใจ หรือที่นำเสนอในแบบที่ถูกจริตของตน โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์หรือคุณค่าใดๆ ต่อตนเองและสังคม ซ้ำร้ายคือ ในปัจจุบัน สื่อกระแสหลักมักมาหาประเด็นข่าวจากกรณีที่เป็นดราม่าหรือข่าว/คลิป ที่มีผู้ติดตามกันกว้างขวางในโลกออนไลน์ ดราม่าจึงขยายฐานไปครอบคลุมทุกแพลทฟอร์ม กรณีของนักแสดงสาวคือ คุณแตงโม ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ที่กลายมาเป็นข่าวดราม่าแห่งปี จากการพยายามฆ่าตัวตาย เริ่มจากการที่เพื่อนคนหนึ่งของเธอ อัพโหลดภาพของเธอขึ้นเน็ตนั่นเอง ทำให้เป็นกระแสฮือฮากันจนข้ามไปสู่สื่อกระแสหลัก ที่ต่างก็ผลิตซ้ำเรื่องราวดังกล่าว เพื่อเรียกเรทติ้งกันอย่างกว้างขวาง

ยิ่งไปกว่านั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ข่าวสารถูกตีกรอบให้ “ปลอดการเมือง” การทำข่าวให้น่าสนใจจึงไม่สามารถใช้สูตรเดิมๆ ของการเล่นกับประเด็นขัดแย้งทางการเมืองได้ การเล่นข่าวแนวดราม่า จึงเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด ข่าวคุณแตงโม และตามมาด้วยการแถลงข่าวของคุณโตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ต่อกรณีเรื่องราวความสัมพันธ์ของเขากับคุณแตงโม ที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จึงกลายเป็นข่าวใหญ่ที่สุดในรอบปี ที่สื่อทุกสำนักกว่าร้อยแห่งจากทุกแขนง ไม่ว่าจะสื่อเก่าหรือสื่อใหม่ไปร่วมงาน และนำเสนอผ่านช่องทางของตนอย่างเข้มข้น

อันที่จริง การหลีกเลี่ยงประเด็นทางการเมือง ไปเล่นประเด็นเร้าอารมณ์ในช่วงที่เสรีภาพของสื่อมีจำกัดเพราะอยู่ในสถานการณ์พิเศษ เป็นปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงเผด็จการทหารในอดีต หลายคนอาจไม่รู้ว่า การริเริ่มตอบปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ทางหน้าหนังสือพิมพ์ กับการแข่งกันนำเสนอภาพข่าวอาชญากรรมแบบหวาดเสียว เป็นสิ่งที่เริ่มมาแพร่หลายในยุครัฐบาลทหาร ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพราะสื่อหนังสือพิมพ์ส่วนหนึ่งมาพบว่า นี่เป็นหนทางในการดึงคนอ่านที่ปลอดภัยจากอำนาจการเมืองและการถูกเซ็นเซอร์ใดๆ

ล่าสุด ในสื่อโทรทัศน์ดิจิทัลที่ดูเหมือนจะเป็นความหวังใหม่ของสื่อสารมวลชนไทย ทางรายการข่าวในช่องเนชั่นทีวี ได้พยายามจำลองเหตุการณ์การวางระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ โดยการสร้างตัวละครให้เหมือนเรื่องราวจริง และไปถ่ายทำในสถานที่จริง พูดง่ายๆ ก็คือ พยายามนำเสนอเหตุการณ์ข่าวในครรลองแบบดราม่า(ละคร) แต่ปรากฏว่าถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากคนในพื้นที่ ซึ่งยังคงตระหนกและหวาดกลัวจากเหตุการณ์วินาศกรรมดังกล่าว ซึ่งทางผู้ผลิตก็ได้ออกมาขอโทษ ว่าทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่กระแสในโลกออนไลน์ได้จุดติด และนำเรื่องนี้ไปเป็นดราม่ากันเรียบร้อยแล้ว โดยฝั่งที่เห็นใจก็บอกว่า ทำผิด สำนึกได้ก็ดีแล้ว ขณะที่ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกลับมองว่า การขอโทษไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น นักข่าวอาชีพควรมีวิจารณญาณที่ดีกว่านี้

งานนี้ คงสรุปเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากว่า “ดราม่าสร้างดราม่า” จริงๆ