เกมหยั่งเชิง 'ผู้ถืออำนาจ'

เกมหยั่งเชิง 'ผู้ถืออำนาจ'

ไม่น่าเชื่อว่า ประเด็น “รถดับเพลิงบวรศักดิ์” หรือชื่อเต็มๆว่า “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง”

 ที่อรหันต์ยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกันออกแบบให้เป็น “กลไกพิเศษ” เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง จะกลายเป็น “เชื้อเพลิง” ให้เกิดกระแสวิพากษ์รัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง

ต้นสัปดาห์นี้ มีปฏิกิริยาค่อนข้างแรงจากพรรคเพื่อไทย ในประเด็นร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง นับแต่มีการเผยแพร่ “คำแถลงของพรรคเพื่อไทย วิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญ” โดยพุ่งเป้าไปที่การสืบทอดอำนาจรัฐประหาร และองค์กรที่มาจากคณะรัฐประหาร

ที่ล่อให้กลุ่มเสื้อเหลืองเสื้อฟ้าดาหน้าถล่มคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า เป็นฉบับที่เลวร้ายที่สุด ในงานเลี้ยงของคนเสื้อแดงที่ประเทศฟินแลนด์

มิเพียงเท่านั้น สามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย นำทีมเข้ายื่นหนังสือต่อ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากห่วงอำนาจพิเศษของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะมีผู้สร้างวิกฤตให้เป็นโอกาสใช้อำนาจพิเศษ

ล่าสุด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Yingluck Shinawatra ขอใช้สิทธิในการเสนอความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่า เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญไม่รับใช้และยึดโยงกับประชาชน ดังเห็นได้จากการตั้งคณะยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง เพื่อมีอำนาจเหนือรัฐบาล และเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ

ไม่บ่อยครั้งนักที่ “ยิ่งลักษณ์” จะแสดงความเห็นด้านการเมือง แต่ครั้งนี้ ที่ปรึกษาส่วนตัวคือ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล คงเห็นว่า ได้เวลาที่ยิ่งลักษณ์จะต้องออกมาวิจารณ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการตั้งองค์กรใหม่ สะท้อนการสืบทอดอำนาจของ คสช.

ว่ากันว่า มือทำงานการเมืองของ “ยิ่งลักษณ์” คือ วิม รุ่งวัฒนจินดา จะคอยมอนิเตอร์สถานการณ์และดำเนินกลยุทธ์ให้อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นระยะๆ

การปรากฏตัวของยิ่งลักษณ์ ในงานทอดผ้าป่าทอดกฐิน งานบวช งานศพ งานแต่ง ฯลฯ ล้วนมีความหมายในทางการเมืองแบบเนียนๆ เพราะทุกย่างก้าวของเธอ มีภาพของกองเชียร์ส่งเสียงให้กำลังใจในทุกงาน

จังหวะก้าวที่ยิ่งลักษณ์ ออกมาพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่ใช่แค่การเล่นตามน้ำหรือตามพี่ชายแน่นอน

ด้านหนึ่งภายในพรรคเพื่อไทย ก็มีแรงกระเพื่อมเกี่ยวกับการวางตัว “หัวหน้าพรรค” คนใหม่ ซึ่งมีความเห็นต่างกันอยู่ในกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลในพรรค

ทุกวันนี้ การบริหารพรรคเพื่อไทยในสถานการณ์พิเศษ มี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรักษาการเลขาธิการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย สำหรับผู้ดูแลพรรคตัวจริง ยังเป็น เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เช่นเดิม

ตำแหน่งหัวหน้าพรรคตัวจริง คงต้องรอความชัดเจนเรื่องรัฐธรรมนูญเสียก่อน และหนีไม่พ้นที่จะได้รับการเห็นชอบจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แม้จะมีเสียงเชียร์จากกลุ่มอดีต ส.ส.กรุงเทพฯ ที่ให้การสนับสนุน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ให้ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค แต่ก็มีเสียงค้านในพรรคจากกลุ่มอื่นๆ อยู่พอสมควร

ก่อนหน้านั้น มีกระแสข่าวของ “คุณหญิงสุดารัตน์” อยู่บ่อยๆ เกี่ยวกับการทำกิจกรรมการเมืองร่วมกับกลุ่มอดีต ส.ส.ต่างพรรคที่ใกล้ชิดกลุ่มทหาร คสช. แต่ข่าวทำนองนี้ ก็ได้รับการปฏิเสธจากคุณหญิงมาแล้ว

จริงๆแล้ว ในสถานการณ์เฉพาะหน้าของพรรคเพื่อไทย การเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ยังไม่ใช่วาระเร่งด่วน แต่การเปิดประเด็นวิพากษ์รัฐธรรมในชั่วโมงนี้ คือการปูพื้นเรื่อง คสช.สืบทอดอำนาจของพรรคเพื่อไทย ก็อ่านใจไม่ผิดแน่ เพราะอย่าลืมว่าด่านประชามติ ยังรออยู่ในช่วงต้นปีหน้า

ยังไม่มีใครคาดเดาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเอายังไงกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะฟังแค่ถ้อยวลีแบบเอาใจแม่ยกในงานเลี้ยงที่ฟินแลนด์ไม่ได้

ถ้าด่วนสรุปว่า คนแดนไกลชี้รัฐธรรมนูญเลวร้าย หมายถึงการส่งสัญญาณว่า “คว่ำรัฐธรรมนูญ”ในการทำประชามติ มันก็ง่ายไป

ฉะนั้น การเดินเกมหยั่งกระแส วิพากษ์รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย เป็นวาระที่ต้องการ หยั่งเชิงผู้ถืออำนาจมากกว่า