Iron Silk Road ม้าเหล็กรถไฟตามแนวเส้นทางสายไหม

 Iron Silk Road ม้าเหล็กรถไฟตามแนวเส้นทางสายไหม

ภายในเวลาไม่กี่ปี รัฐบาลจีนในยุคสี จิ้นผิง ประสบความสำเร็จอย่างมากในการปลุกฟื้นคืนชีพ “เส้นทางสายไหม”

ให้กลายเป็น talk of the world ไปแล้ว รวมทั้งหลายวงการในประเทศไทย เริ่มหันมาให้ความสนใจกับคำว่า New Silk Road หรือคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น Silk Road Economic Belt และ Maritime Silk Road ซึ่งสองคำนี้ได้ถูกมารวมกันเรียกโดยย่อว่า “One Belt, One Road” หรือ Yi Dai Yi Lu อีไต้-อีลู่ ในภาษาจีนกลาง (หากสนใจสามารถย้อนกลับไปอ่านบทความของดิฉันชื่อ “เส้นทางสายไหม One Belt, One Road ‘คัมภีร์ผู้นำจีน” และบทความ “เส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) ในยุคสีจิ้นผิง”)

แน่นอนว่า เรื่องของโครงการรถไฟต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามแนวเส้นทางสายไหม เป็นอีกประเด็นที่ผู้คนในหลายวงการให้ความสนใจใคร่รู้ บทความของดิฉันกับ ดร.หลี่ เหรินเหลียง ในวันนี้ จึงจะมาปูภาพให้เห็นถึงเส้นทาง Iron Silk Road ม้าเหล็กรถไฟตามแนวเส้นทางสายไหม ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วมีการเปิดใช้งานจริง และอีกสารพัดโครงการรถไฟในอนาคต ที่มังกรจีนป่าวประกาศว่าจะลงทุนก่อสร้างต่อไป

ที่จริงแล้ว คำว่า “Iron Silk Road” เคยถูกใช้มาแล้วตั้งแต่ครั้งที่องค์กร UNESCAP ได้เป็นโต้โผผลักดันการจัดทำความตกลงโครงข่ายเส้นทางรถไฟสายทรานส์เอเชีย (Trans-Asian Railway Network Agreement) ซึ่งมี 17 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ร่วมลงนามกันเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2006 เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางรถไฟข้ามทวีป จากยุโรปไปภูมิภาคเอเชียจนถึงชายฝั่งทางมหาสมุทรแปซิฟิก

การที่รัฐบาลจีนในยุคสีจิ้นผิง กลับมาปลุกฟื้นผลักดันการเชื่อมโยงแนวรถไฟจากดินแดนจีนตะวันตกไปยังประเทศต่างๆ ตามแนวเส้นทางสายไหม จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ค่ะ

ในส่วนของประเทศจีน ได้จัดวางบทบาทให้เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang Uygur Autonomous Region)หรือ“ซินเจียง” เป็นพื้นที่หลักในการเป็นจุดเชื่อมของม้าเหล็กรถไฟสาย Iron Silk Road เนื่องจากดินแดนทางตะวันตกสุดของมังกรจีนแห่งนี้ มีจุดเด่นเชิงยุทธศาสตร์ในเรื่องของแนวพรมแดนจากซินเจียง เชื่อมโยงติดต่อกับเพื่อนบ้านจีนมากถึง 8 ประเทศ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2014 จีนได้เปิดให้บริการเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ไปจนถึงนครอุรุมชี เมืองเอกของซินเจียง ตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายหลาน-ซิน (Lanzhou-Xinjiang High Speed train) โดยมีระยะทางรวมทั้งหมด 1,776 กิโลเมตรแนวเส้นทางเชื่อมตรงมาจากนครหลานโจว เมืองเอกของมณฑลกานซู พาดผ่านมณฑลชิงไห่ จนไปสุดปลายทางที่นครอุรุมชีแบ่งเป็นระยะทางในส่วนของซินเจียง 713 กิโลเมตร ในมณฑลชิงไห่ 268 กิโลเมตร และในมณฑลกานซู่ 795 กิโลเมตร สามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างไรก็ดี ความเร็วเฉลี่ยของรถไฟสายนี้ที่วิ่งใช้งานจริงจะอยู่ที่ 200-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้ ยังถือเป็นเส้นทางที่ยาวที่สุดในจีน และเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกที่สร้างขึ้นบนภูมิภาคที่ราบสูง การเปิดใช้รถไฟความเร็วสูงเส้นนี้ ได้ช่วยร่นระยะเวลาเดินทางในช่วงจากนครอุรุมชี-นครหลานโจว โดยใช้เวลารวมไม่ถึง 9 ชั่วโมง และช่วงจากนครอุรุมชี-เมืองถูลู่ฟาน แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของเส้นทางสายไหมสายประวัติศาสตร์ ก็ใช้เวลาเพียง 40 นาที

นอกจากนี้ ตามแผนการ Silk Road Economic Belt รัฐบาลจีนกำลังขยายการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อโครงข่ายระบบรางให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยก่อสร้างเพิ่มเติมในช่วงนครหลานโจว-นครซีอาน ระยะทาง 676 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าเส้นทางรถไฟความเร็วสูงแนวเชื่อมต่อใหม่นี้ จะสร้างเสร็จภายในธันวาคม ปี 2015 และจะช่วยร่นระยะเวลาในการเดินทางระหว่างสองเมืองนี้เหลือเพียง 3.30 ชั่วโมง (จากเดิมที่ต้องใช้เวลากว่า 9 ชั่วโมง หากเดินทางโดยรถไฟธรรมดา) และเมื่อรถไฟความเร็วสูงสายใหม่นี้ สามารถเชื่อมต่อจากนครอูรุมชี เมืองเอกของซินเจียงไปจนถึงนครซีอาน (โดยผ่านนครหนานโจว) ก็จะทำให้โครงข่ายรถไฟความเร็วสูงจากนครอูรุมชี สามารถไปเชื่อมโยงกับโครงข่ายการรถไฟความเร็วสูงของจีนได้ครอบคลุมหมดทั่วประเทศ

โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงจากนครอูรุมชี-กรุงปักกิ่ง จะใช้เวลาเดินทางเพียง 16 ชั่วโมง และจากนครอุรุมชี-นครกว่างโจว จะใช้เวลา 20 ชั่วโมง รวมทั้งนครอุรุมชี-เซี่ยงไฮ้ จะใช้เวลา 22 ชั่วโมง เป็นต้น

ที่สำคัญ ยังมีแนวโครงข่าย Iron Silk Road ที่จะเชื่อมโยงซินเจียงกับเพื่อนบ้านจีนในต่างประเทศ โดยเฉพาะจุดเชื่อมต่อแนวรถไฟจากเมืองคาสือ (เมืองคัชการ์) ของซินเจียง ซึ่งเป็นเมืองชายแดนทางตะวันตกสุดของประเทศจีน และเป็นเมืองที่รัฐบาลกลางของจีนได้ประกาศตั้งเป็น Special Economic Zone เมืองคาสือจึงถูกวางบทบาทให้เป็นจุดเชื่อมโยงระบบรางกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่รายรอบซินเจียง โดยเฉพาะประเทศปากีสถาน

ล่าสุด เดือนเมษายน 2015 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางไปเยือนปากีสถาน และได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างจีนกับปากีสถาน ภายใต้โครงการ “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน” China-Pakistan Economic Corridor (CPEC)มูลค่ากว่า 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเชื่อมโยงจากเมืองคาสือ ของซินเจียงตรงไปยังท่าเรือน้ำลึก Gwadar ในปากีสถาน โดยจะสร้างและปรับปรุงทั้งโครงข่ายเส้นทางระบบรางรถไฟ และเส้นทางหลวง

สำหรับเส้นทางรถไฟ Iron Silk Road จากซินเจียงตามแนว “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน” คาดว่าจะมีความยาวกว่า 1,800 กิโลเมตร เชื่อมตรงจากเมืองคาสือของซินเจียงไปจนถึงท่าเรือน้ำลึก Gwadar และเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก (String of Pearls) ของจีนในการพยายามหาทางออกทะเลให้กับมณฑลที่เป็น landlocked ทางตะวันตกของจีนด้วย

นอกเหนือจากโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางบก ภายใต้โครงการ “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน” รัฐบาลจีนยังมีโครงการสร้างท่อขนส่งน้ำมัน และท่อก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนระบบสื่อสารผ่านโครงข่าย Optical Fiber Communication กับปากีสถาน เป็นต้น

มาจนถึงขณะนี้ จึงชัดเจนว่า รัฐบาลจีนต้องการผลักดันยุทธศาสตร์ใหญ่ “One Belt, One Road”เพื่อขจัดจุดอ่อนของซินเจียง ที่เป็นดินแดนไกลปืนเที่ยง landlocked ห่างไกลทะเล และยังคงมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยังต่ำกว่ามณฑลทางชายฝั่งทะเลของจีน รวมทั้งยังคงมีประเด็นอ่อนไหวทางด้านความมั่นคง จากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในซินเจียงบ่อยครั้ง ผู้นำจีนจึงย่อมจะให้ความสำคัญกับซินเจียงเป็นพิเศษ และผลักดันการพัฒนาซินเจียง โดยผ่านนโยบายและมาตรการต่างๆ

รัฐบาลจีนพยายามอย่างหนักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “One Belt, One Road”เพื่อดึงใช้ประโยชน์จากศักยภาพของซินเจียง ที่มีพรมแดนติดต่อกับเพื่อนบ้านหลายประเทศ และเป็นแนวเส้นทางสายไหมที่เคยรุ่งเรืองในยุคประวัติศาสตร์ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามของธรรมชาติ มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะการเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของจีน ทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และพลังงานลม

อย่างไรก็ดี การผลักดันให้ซินเจียงมีบทบาทเป็น Asia-Europe Land Bridge เพื่อเชื่อมโยงมณฑลจีนตะวันตกกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียกลาง เอเชียใต้ไปจนถึงยุโรป ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ โดยใช้ม้าเหล็กรถไฟ Iron Silk Road เป็นตัวขับเคลื่อน ตามที่ท่านสีจิ้นผิง ผู้นำจีนหมายมั่นปั้นมือนั้น ในขณะนี้ ยังคงเป็นเรื่องท้าทายและต้องรอคอยความสำเร็จต่อไปค่ะ

-----------------

โดย รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น และดร.หลี่ เหรินเหลียง

ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ