คว่ำวันนี้หรือคว่ำวันหน้า

คว่ำวันนี้หรือคว่ำวันหน้า

เข้าสู่ทางตรงการร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องร้อนในหน้าหนังสือพิมพ์ คงหนีไม่พ้นประเด็น “สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ”

 กับคำถามในประชามติ “ควรปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 2 ปีหรือไม่”

พูดง่ายๆ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีด่านที่ต้องฝ่าข้ามไปอยู่ 2 ด่านคือ ที่ประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งจะมีการพิจารณาโหวตรับหรือไม่รับ ในต้นเดือน ก.ย.นี้

อีกด่านหนึ่งคือ การทำประชามติรัฐธรรมนูญในช่วงต้นปี 2559 แต่หมายถึงว่า จะมีการพ่วงคำถาม “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 2 ปีหรือไม่” ลงไปในคำถามประชามติด้วย

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน 2 ด่านทั้งจาก สปช. และ ประชามติ กว่าจะมีการเลือกตั้งนับจากวันนี้ไป ก็อีกประมาณ 12 เดือนบวกลบ

ฉะนั้น การเลือกตั้งจะไม่น่าจะเกิดขึ้นก่อนเดือน ก.ย.2559 หากรัฐบาลประยุทธ์ จะกระทำการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ย่อมทำได้เต็มกำลังในห้วงเวลา 1 ปี ที่ยังอยู่ในอำนาจ

จริงๆแล้ว คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือ “36 อรหันต์” ก็ได้เคยแถลงไว้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะมีภาค 4 ว่าด้วย การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บทเฉพาะกาล” ก็จะเขียนแนวทางปฏิรูปประเทศไว้ชัด

ที่สำคัญ การปฏิรูปก็หาได้สิ้นสุดลงไปพร้อมการเลือกตั้งไม่ แต่ยังจะดำเนินต่อไปภายใต้กลไกขับเคลื่อนพิเศษคู่ขนานกันไป กับการบริหารราชการแผ่นดินตามปกติอีกอย่างน้อย 5 ปี โดยจะมีการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ

ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน 2 ด่านที่ว่านั้น และมีผลบังคับใช้ ก็จะมี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศและการปรองดอง เกิดขึ้นมา เพื่้อภารกิจปฏิรูปประเทศ

หลายคนอาจสงสัยคณะกรรมการชุดนี้ จะเกี่ยวกับสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศหรือไม่?

คำตอบคือ ไม่เกี่ยวข้องกัน เนื่องจากสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ 200 คน ตามที่มีการแก้ไขในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 โดยจะมีการระบุในบทเฉพาะกาลว่า จะทำหน้าที่เท่ากับวาระของ สปช.เดิม ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญใหม่

ที่ต้องคิดต่อคือ โฉมหน้า “คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศและการปรองดอง” จะเป็นอย่างไร? มันจะซ้อนทับกับสภาขับเคลื่อนฯ หรือไม่?

ตรงจุดนี้อาจเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้สมาชิก สปช.บางกลุ่ม รู้สึกไม่พอใจ “36 อรหันต์” ที่เหาะเหินเกินลงกา หรือพายเรือขัดใจแป๊ะ

ท่ามกลางกระแสข่าว “คว่ำ” หรือ “ไม่คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญ บุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิก สปช.ก็สวมวิญญาณอดีตบรรณาธิการข่าว ประเมินท่าทีและจุดยืนของ สปช. 249 คน แบ่งได้เป็น 6 กลุ่ม

กลุ่มแรก สปช.20 คนที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กลุ่มนี้ตัดสินใจนานแล้วจะให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านแน่นอน

กลุ่มที่สอง เป็น สปช.กลุ่มที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อ กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งได้ตัดสินใจแล้วว่า จะลงมติให้ผ่านแน่นอน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ชอบความขัดแย้ง และถือว่า ร่วมงานปฏิรูปและจัดทำรัฐธรรมนูญด้วยกันมา จะให้คว่ำรัฐธรรมนูญไม่ได้

กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่ม สปช.22 คน ที่เสนอให้ตั้งคำถามประชามติสอบถามเรื่องการปฏิรูป 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง กลุ่มนี้จะลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน

กลุ่มที่สี่ เป็น “กลุ่มคว่ำร่าง” เพราะเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญบางส่วนจะเกิดปัญหาในวันข้างหน้า และประเมินว่าสถานการณ์ของประเทศยังวางใจไม่ได้ว่า เมื่อ สปช.ผ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้ว และผ่านการทำประชามติ จะไม่เกิดปัญหาในอนาคต จึงต้องตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการคว่ำในขั้นตอนลงมติ สปช.

กลุ่มที่ห้า เป็นกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ โดยขอดูเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญก่อน 6

กลุ่มที่หก เป็นกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ โดยขอดูเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ และบรรยากาศทางการเมืองก่อน

สุดท้าย อดีต บก.ข่าวประเมินว่า ขณะนี้ สปช.ที่อยากให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญยังมีมากกว่ากลุ่มคว่ำร่างฯ