I5: วิถีนวัตกรรม

I5: วิถีนวัตกรรม

ลำพังมีความคิดดี แต่ปราศจากความรู้ที่เกี่ยวข้อง นวัตกรรมก็ไม่เกิด ดังนั้น ความรู้ถือเป็นหัวใจประการหนึ่งของการสร้างสรรค์นวัตกรรม

หากเราอ่านตำราเมืองนอกเกี่ยวกับเรื่องของนวัตกรรมจะพบว่า นิยามนั้นมีความหลากหลาย ไม่แน่นอน ส่วนใหญ่ล้วนมักจะเกี่ยวพันกับเรื่อง การพัฒนาไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ บางกรณีก็จะมุ่งไปทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก แล้วเน้นเรื่องของการวิจัยและพัฒนาในฐานะที่เป็นต้นทางของนวัตกรรม

ในทางปฏิบัติแล้ว คนที่ทำนวัตกรรมจริงจะทราบดีว่า ลำพังไอเดียอย่างเดียวไม่พอ หรือแม้แต่การอาศัยงานวิจัยเป็นพื้นฐานอย่างเดียวก็ไม่พอ เพราะองค์ประกอบในการได้มาซึ่งนวัตกรรมนั้นมีได้หลายทาง วันนี้ ผมอยากขอถือโอกาสนำสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ มาเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบ เพื่อที่เราจะได้มีมุมมองใหม่เกี่ยวกับเรื่องของนวัตกรรมจากผู้รู้ตัวจริงเสียงจริงครับ

เริ่มแรกเลย ท่านบอกว่า นวัตกรรมก็คือ การแปลงความคิดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นรูปธรรมที่มีคุณค่า (Making creativity into value reality)

นิยามนี้น่าสนใจมากครับ เพราะมีองค์กรจำนวนไม่น้อยที่พอจะทำนวัตกรรมแล้วให้ความสำคัญกับส่วนแรกเป็นหลักคือ การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่หลายแห่งกลับไม่สามารถแปลงจากความคิดไปสู่รูปธรรมที่จับต้องได้ การทำให้เป็นจริง จึงเป็นหัวใจสำคัญของนวัตกรรม เพราะว่า เราไม่อาจสร้างสินค้าใหม่หรือบริการใหม่จากบนกระดาษได้ นอกจากจะต้องลงมือทำให้เกิดผล ซึ่งผลที่ว่านั้น ควรเป็นสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่มด้วย

และเมื่อมองย้อนกลับไป ก็จะพบว่า ที่บ่งบอกว่านวัตกรรมเกิดจากความคิดสร้างสรรค์นั้น แท้ที่จริงแล้ว มันต้องมีฐานความรู้รองรับด้วย ลำพังมีความคิดดี แต่ปราศจากความรู้ที่เกี่ยวข้อง นวัตกรรมก็ไม่เกิด ดังนั้น โดยลึกๆ แล้ว ความรู้ถือเป็นหัวใจประการหนึ่งของการสร้างสรรค์นวัตกรรม

ทีนี้ ผมทึ่งแนวคิดของอาจารย์สมเจตน์ ตรงที่ ท่านจับคำสองคำหลักในภาษาอังกฤษ เอามาสนธิกันระหว่างคำว่า Knowledge กับคำว่า Innovation กลายเป็น Krenovation ซึ่งเป็นการต่อคำให้อ่านออกเสียงกลมกลืนกันอย่างเหมาะเจาะ หากเปลี่ยนจากคำนามเป็นคำคุณศัพท์ ก็จะเป็นคำว่า Krenovative หรือหากผมจะแปลให้ใกล้เคียงอาจคล้ายกับเรียกว่า “นวัตญาณ”

อาจารย์สมเจตน์ยังกล่าวอีกว่า ที่มาของความรู้เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมนั้น มีได้หลายทาง การวิจัยและพัฒนาก็เป็นทางหนึ่ง แต่หากเราจำกัดที่การวิจัยในรูปแบบเดิมอย่างเดียว ความสามารถในการรังสรรค์นวัตกรรมจะถูกขีดวงจำกัดมาก ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์ให้ดีจะพบว่า ที่มาของนวัตกรรมก็เกิดขึ้นได้รอบตัวเรานี่เอง ซึ่งท่านสรุปออกมาได้เป็นตัว I ในภาษาอังกฤษ 5 ตัว

ตัวแรกคือ Inspiration (แรงดลใจ) เกิดจากการที่เราพบเจอผู้คน ในเวลา สถานที่ และบุคลที่ต่างกัน สามารถก่อให้เกิดแรงดลใจบางอย่างที่สามารถกลายเป็นแหล่งที่มาของความคิดที่จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมได้

ตรงนี้ นับว่าแตกต่างจากตำราฝรั่งมากพอสมควร เพราะส่วนใหญ่จะเริ่มกระบวนการนวัตกรรมตรงที่จินตนาการเลย แต่อาจารย์สมเจตน์จับเอาเรื่องของแรงดลใจมาก่อน ซึ่งท่านให้ความเห็นว่า เป็นเพราะการใช้ชีวิตปกติของเราทุกวัน เราจะพบเจอแหล่งของความคิดในผู้คนและในสถานที่ต่างๆ หรือหากจะกล่าวให้ง่ายที่สุดก็คือ เรื่องราวรอบตัวเรา ล้วนแล้วแต่สามารถหยิบจับออกมาให้เป็นนวัตกรรมได้

เมื่อเกิด “ปิ๊งแว้บ” บางอย่างขึ้นในใจแล้ว ต่อมาก็ต้องใช้ Imagination (จินตนาการ) ซึ่งคำนี้ ควรใช้อย่างระมัดระวัง เพราะในการทำนวัตกรรมนั้น ไม่มีเรื่องประเภทที่เรียกว่า “มโน” ไปเอง หากแต่จินตาการในความหมายของอาจารย์สมเจตน์คือ การใช้มุมมองเชิงความคิดเพื่อพัฒนาวิสัยทัศน์ มองไปให้ไกลกว่าจุดที่สร้างแรงดลใจให้เรา โดยการอาศัยการคิดในเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อประมวลภาพทิศทางที่เราควรจะมุ่งไป จินตนาการตรงนี้ จึงต้องอาศัยการขบคิดบนฐานความรู้มากพอสมควร

จากนั้น จึงนำไปสู่ขั้นตอนของ Ideation (การก่อร่างแนวคิด) ในตำราฝรั่งจะบ่งชี้ตัวนี้ว่า หมายถึง การกำเนิดความคิด โดยเป็นขั้นที่เราจะเริ่มมีความคิดว่า อยากจะทำอะไร อยากจะพัฒนาอะไร อาจารย์สมเจตน์ไปไกลและลึกซึ้งกว่าตรงที่ ท่านเห็นว่า ชั้นนี้เป็นการผสมผสาน ควบรวม หรือต่อเชื่อม บรรดาภาพความคิดต่างๆ ที่เกิดในขั้นตอนก่อน ซึ่งที่สำคัญที่สุดคือ การก่อร่างแนวคิดนี้ ทำไปเพื่อจุดหมายของการลงมือ “ปฏิบัติ” หรือมี actions ดังนั้น เวลาที่คิดผสานไอเดียที่หลากหลาย เราจึงต้องมีคำถามตามมาด้วยว่า คิดแบบนี้แล้ว จะต้องลงมือทำอะไรต่อ

ต่อมา เมื่อแนวคิดเริ่มเป็น “ร่าง” แล้ว ก็เป็นเรื่อง Integration (ควบรวม-บูรณาการ) ตัวร่างทั้งหมด ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ ข้อมูล

เรื่องบูรณาการนั้น มีคนจำนวนมากที่เข้าใจว่า แค่การแปะสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด อันที่จริงแล้ว สำหรับเรื่องนวัตกรรมผมอยากใช้คำว่า ควบแน่น ด้วยซ้ำไป เพราะมันต้องมาจากการกลั่นเอาชุดข้อมูลที่แตกต่างมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันให้ตกผลึกออกมาเป็น “ข้อเสนอ” หรือ “โซลูชั่น” ซึ่งมันไม่ใช่แค่การรวมเพียงอย่างเดียว เพราะพฤติกรรมสุดท้ายคือ การมีความรู้ในเชิงลึก (Insight)

ตัวสุดท้ายที่ท่านอาจารย์สมเจตน์กล่าวถึง วงจรในการสร้างสรรค์นวัตกรรมคือ Implementation (ทำให้เกิดผล) ซึ่งเป็นตัวสุดท้ายของบรรดาตัวไอทั้ง 5 ตัว ถ้าหากมองวิถีนี้ให้เป็นวงจรก็จะครบวัฎจักรของการปฏิบัติ ซึ่งถ้าทำไปเรื่อยๆ ก็จะสามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่อง

วิถีทั้ง 5 นี้ จึงอาจเปรียบเทียบได้ว่าเป็น “มรรคานวัตกรรม” ที่สมบูรณ์

โบราณว่า การสนทนากับผู้รู้หนึ่งวัน เหมือนเราได้เรียนสิบปี ผมสนทนากับท่านประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ เพียงชั่วโมงเศษ แต่ก็ได้เปิดหูเปิดตาถึงแนวคิดและมุมมองที่น่าสนใจของท่านอย่างมาก ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่า เมื่อผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลเช่นนี้แล้ว อนาคตเราคงมีโอกาสได้เห็นนวัตกรรมมากมาย หลั่งไหลออกมาสู่ภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไม่หยุดหย่อน

คำพูดสุดท้ายที่ท่านฝากผมไว้ก็คือ นวัตกรรมเกิดจากการลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่เอาแต่คิด

ดังนั้น ผมก็ขอเรียนเชิญผู้ประกอบการ บริษัท และองค์กร ได้ลองไปใช้บริการสนับสนุนนวัตกรรมต่างๆ จากท่านครับ อนาคตเราต้องร่วมกันสร้าง เพื่อให้เศรษฐกิจของเราเติบโตได้อย่างยั่งยืน