ความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขของผู้สืบราชสันตติวงศ์

ความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขของผู้สืบราชสันตติวงศ์

“ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาล

 ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์พระพุทธศักราช 2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อรับทราบและให้ประธานรัฐสภาอันเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ

ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา 22 ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในการนี้จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ

ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคหนึ่ง หรือให้ความเห็นชอบตามวรรคสอง”                     

นี่คือเนื้อหาของมาตราที่เกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ ที่ปรากฏทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 และรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนี้ มิได้มีความแตกต่างกันแต่ประการใด ในบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์       

และล่าสุด ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาปรับปรุงแก้ไข  บทบัญญัติเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ ก็ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับที่กล่าวไปข้างต้น                  

ในรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับได้กำหนดให้ “องค์รัชทายาทต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา”จริง แต่เฉพาะในเงื่อนไขที่ “พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้” เท่านั้น ดังข้อความที่ปรากฏในหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 นั่นคือ ในวรรคสองของมาตรา 23 ใจความว่า “ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา 22 ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อรัฐสภา เพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในการนี้ จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ” 

ส่วนวรรคแรกมาตรา 23 มีใจความว่า “ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ และรวมถึงในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2558)ก็ได้กำหนดไว้เหมือนกัน นั่นคือ องค์รัชทายาทจะต้องได้รับ“ความเห็นชอบจากรัฐสภา” ถึงจะขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ก็แต่ในกรณีที่ “พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้”เท่านั้น  แต่ในกรณีที่“พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้”  รัฐสภามีหน้าที่เพียง “รับทราบ” เท่านั้น     ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้แล้ว ดังที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร, เล่ม 89, ตอน 200 ก ฉบับพิเศษ, 28 ธันวาคม พ.ศ.2515, หน้า 1

 “เมื่อมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2515 มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”

ส่วนในกรณีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ ดังความว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ทรงได้รับความสำเร็จในการศึกษาอย่างงดงาม และทรงได้บำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองเป็นอเนกปริยาย โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่างๆ อยู่เสมอ ในด้านการพัฒนาบ้านเมือง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาและช่วยเหลือกิจการโครงการตามพระราชดำริทุกโครงการ พร้อมทรงรับพระบรมราโชบายมาทรงดำเนินการสนองพระเดชพระคุณในด้านต่างๆ นับเป็นการดูแลสอดส่องพระราชกรณียกิจส่วนหนึ่งต่างพระเนตรพระกรรณ ในด้านการพระศาสนา มีพระหฤทัยมั่นคงในพระรัตนตรัย และสนพระหฤทัยศึกษาหาความรู้ด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นอย่างแตกฉาน ในส่วนราชการในพระองค์นั้น ก็ได้สนองพระเดชพระคุณในพระราชภารกิจที่ทรงมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ กอปรด้วยพระจรรยามารยาท เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติแห่งขัตติยราชกุมารีทุกประการ เป็นที่รักใคร่นับถือ ยกย่องสรรเสริญพระเกียรติคุณกันอยู่โดยทั่ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น ให้ทรงรับพระราชบัญชาและสัปตปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 7 ชั้น) พร้อมทั้ง เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2520” ดังที่ปรากฏใน ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนา (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา), เล่ม 94, ตอน 131ก ฉบับพิเศษ, 21 ธันวาคม พ.ศ. 2520, หน้า 1                            

และการสถาปนาพระอิสริยยศสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในนี้ ตั้งแต่เริ่มตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน การสถาปนาพระยศ “สมเด็จพระ” นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการสถาปนาพระยศของสมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง สมเด็จพระบรมอัยยิกาเธอ พระวิมาดาเธอ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ในรัชกาลต่างๆ แต่การสถาปนาในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ขึ้นเป็น “สมเด็จพระ” จึงเป็นพระเกียรติยศที่สูงยิ่ง (วิกิพีเดีย)

 ดังนั้น ใครหรือแหล่งข่าวใดก็ตาม ที่พยายามให้ข่าวไปในทำนองว่า มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในมาตราที่ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ในร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 หรือพยายามหาช่องตีความให้มีปัญหา ก็เข้าข่ายต้องการปล่อยข่าวลือให้เกิดความสับสน หรือเพื่อสร้างความขัดแย้ง หรือไม่ก็เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างใสซื่อบริสุทธิ์ใจ