นักเลือกตั้ง VS นักแต่งตั้ง

นักเลือกตั้ง VS นักแต่งตั้ง

ในที่สุดประเด็นที่มาของ “สมาชิกวุฒิสภา” (ส.ว.) ในร่างรัฐธรรมนูญ ก็กลายเป็นเรื่อง เมื่อมีมนุษย์การเมือง

สายพันธุ์ “นักแต่งตั้ง” พยายามจะผลักดันให้ ส.ว. จำนวน 200 คน มาจากการสรรหาทั้งหมด

หลังจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฯ เห็นว่า ควรมี ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน และสรรหา 123 คน

“นักแต่งตั้ง” ระดับขาใหญ่ ได้ส่งเสียงผ่านสื่อใหม่คัดค้านการมี “ส.ว.เลือกตั้ง” โดยอ้างวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา ก็มาจากบรรดา ส.ว.เลือกตั้ง ที่อิงแอบอยู่กับพรรคการเมืองใหญ่

จะว่าไปแล้ว บ้านเราเคยชินกับ นักแต่งตั้ง ในนาม “ส.ว.” หรือ “สภาสูง” มานานกว่า 50 ปี ซึ่งในมุมของนักวิชาการรัฐศาสตร์ อาจมองเห็นข้อเสียของสภาแต่งตั้ง เพราะเมื่อปี 2539-2543 ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ “วุฒิสภา” สามารถแสดงบทบาทได้สมกับเป็นวุฒิสภา และร่วมหาทางออกให้บ้านเมืองได้อย่างสมศักดิ์ศรี

ต่อมา คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ลงมติกันในนาทีท้ายๆ กำหนดให้วุฒิสภายุค “ปฏิรูปการเมือง” เป็นสภาเลือกตั้ง ก็เพราะเหตุผลความจำเป็นทางทฤษฎีการเมือง

ด้วยความคาดหวังของกองเชียร์ธงเขียวสมัยนั้น ที่ต้องการเห็น “การเมืองสีขาว” จึงเห็นด้วยกับกระบวนการเลือกตั้ง ส.ว. ที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง

รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่กำหนดให้วุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการเลือกตั้ง ข้อดีของการที่ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง คือให้อำนาจประชาชนในการตัดสินเลือกผู้แทนของตนเองในแต่ละพื้นที่ ไม่ผูกขาดอำนาจการเลือกไว้ให้กับคนไม่กี่กลุ่ม

เมื่อผ่านการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรกในปี 2543 และครั้งที่สองในปี 2557 ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ “ส.ว.เลือกตั้ง” ทำนองว่า สภาผัวเมีย สภาพี่น้อง หรือสภาหมอนข้าง

ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จึงกำหนดให้มีทั้ง “ส.ว.เลือกตั้ง” กับ “ส.ว.สรรหา” ซึ่งมีความพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีแต่ “ส.ว.เลือกตั้ง” แต่สุดท้ายก็แก้ไขไม่สำเร็จ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า กระบวนการแก้ไขไม่ถูกต้องและมีผลประโยชน์ทับซ้อน

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ตอนแรกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็เขียนให้มี ส.ว.แต่งตั้ง 200 คน โดยจะมาจากคัดเลือกของกลุ่มต่างๆ เช่น ข้าราชการระดับสูง อดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพ หรือผู้แทนองค์กรวิชาชีพ ซึ่งจะทำให้ได้ผู้แทนที่มีความหลากหลายทางวิชาชีพ

เมื่อมีเสียงทักท้วงเรื่อง ส.ว.แต่งตั้ง จึงมีการปรับแก้ให้เป็น ส.ว.สรรหาผสมกับ ส.ว.เลือกตั้ง เหมือนในรัฐธรรมนูญ 2550 เพียงกระบวนการสรรหา ส.ว.จะมีความซับซ้อนกว่าในอดีต

ความโน้มเอียงของ ส.ว.เลือกตั้งทั้งสภาหรือ ส.ว.สรรหาทั้งสภาเป็นภาวะสุดโต่ง ของคนการเมืองที่คิดอ่านไม่สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง

นักแต่งตั้งกลุ่มหนึ่งที่ได้ดิบได้ดีจากการรัฐประหาร ก็รวมตัวกันเป็น “กลุ่มก้อนการเมือง” สร้างคอนเนกชั่นกับ “อำนาจพิเศษ” จนได้ตำแหน่ง ส.ว.หรือ สนช.ผู้ทรงเกียรติ โดยคนพวกนี้ พยายามจะให้มี “ส.ว.แต่งตั้ง” เต็มสภา

ตรงกันข้ามกับนักเลือกตั้ง ก็ยืนยันในทฤษฎีอำนาจมาจากประชาชน และอยากให้มี “ส.ว.เลือกตั้ง” เต็มสภาเช่นกัน

ว่ากันว่า นักแต่งอาชีพกังวลว่า การสรรหา ส.ว.ตามแนวคิดของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ อาจทำให้พวกเขาไม่ได้เป็น ส.ว. เนื่องจากมีการเปลี่ยนคนสรรหา จาก 8-9 คน มาเป็นหลายภาคส่วน

กล่าวอย่างถึงที่สุด บ้านเราเคยมี ส.ว.เลือกตั้งที่มาจากคนถือกระเป๋าตามก้นผู้แทนฯ และเราก็มี ส.ว.สรรหาที่มาจากคนผูกเชือกรองเท้าให้ทหาร

จะมีความแตกต่างกันอย่างไร ระหว่างผู้ทรงเกียรติที่มาจากคนขับรถ ส.ส. หรือคนขัดท็อปบู๊ตทหาร นี่คือภาพจริงของการเมืองไทย