ชี้ชะตาระบบเรทติ้ง'หลายจอ' : ขอกสทช.จัดงบเยียวยาทีวีดิจิทัล

ชี้ชะตาระบบเรทติ้ง'หลายจอ' : ขอกสทช.จัดงบเยียวยาทีวีดิจิทัล

เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมที่สำคัญ ในแวดวงโทรทัศน์ดิจิทัลอีกครั้ง

 เมื่อได้มีการประชุมร่วมกันของ 2 องค์กรหลัก ที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันในการดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ ว่าด้วยผลสรุปของคณะทำงานเพื่อพิจารณาข้อเสนอบริษัทวิจัย 3 บริษัทที่เข้าแข่งขันนำเสนอแนวทางและงบประมาณจัดทำระบบเรทติ้งใหม่ เปลี่ยนจากสำรวจเรทติ้งบนจอเดียวคือทีวีไปสู่บนหลายจอคือมัลติสกรีนที่รวมทั้งทีวี, เว็บไซต์ออนไลน์,มือถือและแท็บเล็ต

คณะทำงานที่มี"วรรณี รัตนพล" นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) เป็นประธาน ในนาม"สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ"(Media Research Bureau : MRB) ที่เป็นการจัดตั้งร่วมกันของทุกภาคส่วน ของวงการโทรทัศน์เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2557 คือสมาคมมีเดียอเยนซีฯ, สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งประเทศไทย, สมาคมเคเบิ้ลทีวีแห่งประเทศไทย, ชมรมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและสมาพันธ์ผู้ประกอบการวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย

 คุณวรรณีได้นำเสนอผลสรุปในรายละเอียดของข้อเสนอบริษัทวิจัยระดับโลก 3 รายที่เข้าร่วมประมูลครั้งนี้คือบริษัท Video Research แห่งประเทศญี่ปุ่น , บริษัท GFK ของประเทศเยอรมันที่มีตัวแทนในประเทศไทยเป็นบุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุนและบริษัท Kantar ของประเทศอังกฤษ ที่ได้นำเสนอต่อคณะทำงานไปแล้วเมื่อวันที่ 25-26 พ.ค.2558

ส่วนบริษัทเอจีบีนีลเส็นรีเสิร์ซประเทศไทย ที่เป็นบริษัทเรทติ้งทีวีรายเดียวในประเทศไทย ที่อุตสาหกรรมโทรทัศน์ใช้เป็นมาตรฐานในการซื้อขายโฆษณามานานร่วม 15-20 ปี ให้เหตุผลในการไม่ยื่นข้อเสนอว่าทาง MRB ได้เร่งรัดให้ตอบรับว่าจะยื่นข้อเสนอ ในเวลากระชั้นเกินไปและยังไม่ได้รับอนุมัติจากบริษัทแม่ให้เข้าร่วมประมูลครั้งนี้

หลังจาก"นีลเส็น"ตัดสินใจไม่ยื่นข้อเสนอแข่งกับอีก 3 รายได้มีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ในการปรับปรุงระบบการวัดเรทติ้งในประเทศไทย เตรียม"รับน้องใหม่"บริษัทเรทติ้งที่ยื่นข้อเสนอไปยัง MRB โดยมีการแถลงข่าวว่าจะลงทุนปรับปรุงระบบวัดเรทติ้งทีวีแบบใหม่ให้ครอบคลุม Multi-Screen ตั้งแต่ต้นปีหน้า 2559 และเพิ่มกลุ่มตัวอย่างในบ้านที่รับชมทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน และทีวีดาวเทียมมากขึ้นตั้งแต่เดือนก.ค. 2558

นีลเส็นมักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการปรึกษาหารือ หรือแจ้งกับผู้ซื้อบริการข้อมูลก่อนว่าจะทำการเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลวัดเรทติ้งใหม่ ผมได้รับทราบจากเอเยนซีโฆษณาแจ้งมาว่านีลเส็นได้เพิ่มกลุ่มตัวอย่างจาก 1,800 บ้านเป็น 2,200 บ้าน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2558 ที่ผ่านมา

 ข้อสังเกตุจากข้อมูลที่ได้รับและต้องการทำอธิบายจากนีลเส็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับทิศทางอุตสาหกรรม หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทร คมนาคม(กสทช.)ได้แจกคูปองเพื่อนำไปแลกซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินที่มีการไปแลกแล้วมากกว่า 5-6 ล้านคูปองหรือเทียบออกมาน่าจะเป็น 5-6 ล้านครัวเรือนที่รับชมทีวีผ่านกล่องทีวีดิจิทัล

ทำไมนีลเส็นเพิ่มกลุ่มตัวอย่างบ้านที่ดูโทรทัศน์ผ่านจานดาวเทียมจาก 700 บาทเป็น 1,020 บ้าน คิดเป็นเพิ่มจาก 38% เป็น 46% หรือเกือบ 50% ของกลุ่มตัวอย่างที่ถือว่ามีนัยสำคัญต่อผลการสำรวจมากกับช่องที่ได้ลงทุนไปซื้อหมายเลขหลักเดียวบนจานดาวเทียม อาจจะทำให้ผลการวัดเรทติ้งเบี่ยงเบนไปยิ่งขึ้น

แต่กลับคงสัดส่วนของผู้ชมผ่านกล่องทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินจากเดิมใช้ 360 บ้านจาก 1,800 บ้านคือเป็น 20% แล้วเพิ่มบ้านตัวอย่างเป็น 450 บ้านจาก 2,200 บ้านคิดเป็น 20% เท่าเดิม

ในขณะที่ลดจำนวนบ้านที่ผ่านอนาล็อกจาก 160 บ้านจาก 1,800 บ้านคิดเป็น 8% เป็น 150 บ้านจาก 2,200 บ้านคิดเป็น 6.8% และบ้านที่ดูทีวีผ่านเคเบิลทีวีกับทรูวิชั่นยังเป็นจำนวนเท่าเดิมน่าจะสมเหตุสมผล

 เงื่อนไขของการประมูลการจัดทำระบบเรทติ้งใหม่ของ MRB จะแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับระบบปัจจุบัน ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อจากระบบจอเดียวหรือ First Screen ไปสู่หลายจอหรือผ่านดีไวซ์ที่เป็น Seconn Screens ที่ส่วนใหญ่จะดูผ่านโทรศัพท์มือถือที่มีสัดส่วนผู้ใช้มากที่สุด, ออนไลน์ทางเว็บไซต์,โซเชียลมีเดียและแทบเล็ต

น่าสนใจมากว่าจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ MRB กำหนดเงื่อนไขในการประมูลครั้งนี้คือบ้านที่ดูทีวีแบบเดิมจอเดียว 3,000 ตัวอย่างกับดูผ่านดีไวซ์ต่างๆอีก 9,600 ตัวอย่าง เทียบกับระบบเดิมที่นีลเส็นจัดทำเรทติ้งเพิ่งยอมเพิ่มกลุ่มตัวอย่างจาก 1,800 ตัวอย่างเป็น 2,200 ตัวอย่าง แต่ยังไม่ได้วัดเรทติ้งบนดีไวซ์อื่นๆที่เป็นหลายจอ

องค์กรที่จัดทำระบบวัดเรทติ้งใหม่คือ MRB จะเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรและอุตสาหกรรมเป็นเจ้าของข้อมูลร่วมกัน แตกต่างจากบริษัทเอจีบีนีลเส็น ที่เป็นองค์กรธุรกิจที่แสวงหากำไรในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ไม่มีสิทธิ์ไปกำหนดเงื่อนไขการสำรวจเพราะไม่ใช่เจ้าของข้อมูล

และที่สำคัญมากที่สุด คุณวรรณีในฐานะนายกสมาคมมีเดียเอเยนซีฯ ประกาศชัดถ้อยชัดคำ ว่าหลังจากระบบเรทติ้งใหม่เสร็จสิ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า นับจากวันเริ่มต้นทำสัญญากับบริษัทวิจัยที่ชนะการประมูล

" MAAT จะให้รับรองข้อมูลเรทติ้งของบริษัทใหม่ให้เป็นข้อมูลทางการที่บริษัทเอเยนซี่ลูกค้าและสถานีโทรทัศน์นำไปใช้เป็น Currency ในการซื้อขายโฆษณา และจะไม่รับรองข้อมูลเรทติ้งของนีลเส็นอีกต่อไป"

นอกจากนี้หากสถานีโทรทัศน์แห่งไหนทั้งช่องทีวีดิจิทัล,ทีวีดาวเทียม,เคเบิลทีวี รวมไปถึงช่องทีวีบน Youtube ไม่ได้เป็นสมาชิก MRB และหากไม่ได้ร่วมลงทุนซื้อข้อมูลจะไม่มีการรายงานเรทติ้งของช่องนั้นๆไม่ว่าจะดูจากช่องทางไหน ซึ่งแตกต่างจากระบบเดิมของนีลเส็นที่รายงานทุกช่อง แล้วขายข้อมูลแบบรายช่องกับภาพรวม

 ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้มีการยืนยันตอนก่อตั้ง MRB และเพิ่มเติมเข้ามามีช่องทีวีดิจิทัล 23 ช่อง, ทีวีดาวเทียม 25 ช่อง, ช่องทีวีบนทรูวิชั่นส์ 11 ช่อง, เคเบิลทีวีท้องถิ่น 11 แห่ง , บริษัทเอเยนซีโฆษณา 26 บริษัท และรายอื่นๆ ที่แสดงความสนใจมา เช่น Thaicom และ Google ที่เป็นเจ้าของ Youtube

ระบบวัดเรทติ้งใหม่จะเป็นการ"ร่วมลงทุน"ของสถานีโทรทัศน์กับเอเยนซีโฆษณาเป็นหลัก การเพิ่มจากวัดเรทติ้งบนจอเดียวคือทีวีเป็นระบบหลายจอทำให้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีกร่วม 2 เท่าตัว อาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการตัดสินใจของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 24 ช่องที่ประสบปัญหาความไม่พร้อมของปัจจับแวดล้อมในการเรื่องโครงข่าย, การแจกคูปองและการประชาสัมพันธ์ของกสทช. ยกเว้นว่ามี"ตัวหาร"เพิ่มขึ้นอีกจากกลุ่มผู้ประกอบการมือถือและไทยคม

 แต่หากประเมินจากข้อมูลเรทติ้งที่จะได้รับแบบหลายจอ ที่มาจากกลุ่มตัวอย่างใหญ่ขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายเดิมที่จ่ายให้บริษัทเรทติ้งเดิมที่ไม่ได้สะท้อนข้อมูลเรทติ้งที่เป็นจริงมากพอ น่าจะเป็นเหตุเป็นผลเพียงพอในการตัดสินใจตามที่ MAAT ได้แจ้งกับทุกสถานีว่าจะขอคำตอบภายในวันที่ 29 ก.ค.นี้เพื่อให้คำตอบกับบริษัทวิจัยที่ได้ตัดสินใจเลือกแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการทำสัญญาจ้างอย่างเป็นทางการที่มีระยะเวลางวดแรก 5ปีและมีทางเลือกต่ออายุได้อีก 3 ปี

 รูปแบบของ Media Research Bureau ในหลายประเทศที่ใช้หลังการเปลี่ยนผ่าน จากระบบอะนาล็อกมาสู่ดิจิทัลมีลักษณะใกล้เคียงกัน เป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมเพื่อจัดตั้งระบบวัดเรทติ้งใหม่ โดยมีองค์กรกำกับดูแลให้การสนับสนุนทั้งทางการเงินและอื่นๆ เช่น ประเทศอังกฤษ Broadcasters' Audience Research Board(BARB) , ประเทศไอร์แลนด์ TV Audience Measurement , ประเทศแคนาดา Canada BBM Bureau of Measurement , ประเทศออสเตรเลีย OZTAM Meadsuring Audience

จึงอยากจะนำเสนอต่อประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พล.อ.อ.ธเรศ ปุณณศรีในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนาสื่อฯ ได้ให้การสนับสนุนทางการเงิน กับการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาสื่อเพื่อจัดทำระบบเรทติ้งใหม่ น่าจะประมาณ 700 ล้านบาทหรืออย่างน้อย 50% ของงบลงทุนทั้งหมดในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อเป็นการเยียวยาผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัล ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่พร้อมของการเปลี่ยนผ่าน จากอะนาล็อกไปสู่ดิจิทัลทมากที่สุด