จับตา Petroyuan มาแทนที่ Petrodollar

จับตา Petroyuan มาแทนที่ Petrodollar

ดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) เป็นสกุลเงินที่มีบทบาทสำคัญในทุกธุรกิจรวมถึงธุรกิจพลังงาน

แต่นับจากนี้ความพยายามของจีนที่ต้องการลดทอนบทบาทมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐฯ และผลักดันให้เงินหยวนผงาดขึ้นมาเป็นเงินสกุลหลักของโลกจะเห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ดังเช่นเทรนด์การใช้เงินหยวนในธุรกรรมซื้อขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า “Petroyuan” 

ล่าสุด Gazprom บริษัทผู้ผลิตน้ำมันใหญ่อันดับ 3 ของรัสเซีย ประกาศจะใช้เงินหยวนในการซื้อขายน้ำมันดิบทั้งหมดกับจีน ที่ผ่านทางท่อ East Siberian Pacific Ocean คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือกว่า 6.2 พันล้านหยวน นอกจากนี้ จีนและรัสเซียมีการเจรจาที่จะใช้เงินหยวนสำหรับสัญญาการส่งออกก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปจีน ผ่านท่อก๊าซฯ Power of Siberia ขนาดรวม 3.8 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เป็นระยะเวลา 30 ปี ซึ่งมีมูลค่ารวม 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.5 ล้านล้านหยวน
จากเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดคำถามที่ว่า Petroyuan จะมาแทนที่ Petrodollar จริงหรือ เหตุใด Petrodollar จึงมีบทบาทลดลงในขณะที่ Petroyuan มีความสำคัญมากขึ้น และจะส่งผลต่อจีน สหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกอย่างไร

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ Petrodollar ซึ่งใช้กำหนดราคาซื้อขายพลังงานทั่วโลกในปัจจุบัน ระบบ Petrodollar เริ่มมาตั้งแต่ปี 1973 โดยสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย ได้ตกลงซื้อขายน้ำมันและกำหนดราคาเป็น USD ซึ่งภายใต้ข้อตกลงนี้ประเทศที่ซื้อน้ำมันจากซาอุฯ ก็ต้องชำระค่าสินค้าเป็น USD เช่นกัน ต่อมาในปี 1975 ประเทศกลุ่ม OPEC ทั้งหมดตัดสินใจกำหนดราคาน้ำมันเป็น USD เพื่อแลกกับการซื้ออาวุธและการปกป้องทางทหารจากสหรัฐฯ

การใช้ Petrodollar อย่างแพร่หลายนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ ยังครองความเป็นมหาอำนาจในตลาดเงินตลาดทุน ความต้องการเงิน USD ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตราบใดที่โลกยังต้องใช้พลังงาน ส่วนผู้ส่งออกน้ำมันนำเงิน USD ที่ได้รับไปลงทุนซื้อสินทรัพย์ ตราสารหนี้ หลักทรัพย์ที่ถูกกำหนดมูลค่าเป็นเงิน USD (USD-denominated) ผลักดันให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ สูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เฟื่องฟู

อย่างไรก็ตาม บทบาทของ Petrodollar กำลังเริ่มลดความสำคัญลง จากการที่ราคาน้ำมันดิบตกต่ำกว่า 50% ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ทำให้ Petrodollar ซึ่งเป็นรายได้และเงินทุนสำรองของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันลดลงอย่างมาก ดังนั้นจึงต้องถอนเงิน Petrodollar ออกจากตลาดเงินทั่วโลกเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องให้กับงบประมาณแผ่นดินของตัวเอง ซึ่งจากสถิติปี 2014 เม็ดเงินดังกล่าวคิดเป็น 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี ที่ Petrodollar ถูกถ่ายโอนออกจากตลาดเงินมากกว่าการโอนเงินเข้าไปลงทุน ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นจากสภาพคล่องในตลาดที่ลดลง

ขณะเดียวกัน Petroyuan มีแนวโน้มที่จะถูกนำมาใช้เป็นตัวกลางการค้าในธุรกิจพลังงานมากขึ้นเนื่องจาก ประการแรก จีนเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในตลาดน้ำมัน นอกจากจีนจะมีอุปสงค์น้ำมันใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 13% ของความต้องการน้ำมันทั่วโลก สำหรับในด้านการค้า จีนยังเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งแซงหน้าสหรัฐฯ ไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2015 โดยจีนนำเข้าน้ำมันดิบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 7.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ น้อยกว่าจีนอยู่ 2 แสนบาร์เรลต่อวัน

จีนนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีอัตราการเติบโต 7% ต่อปี สวนทางกับการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลงหลังจากสหรัฐฯ ได้มีการขุดเจาะน้ำมันจากแหล่ง shale ขึ้นมาใช้ในปริมาณมหาศาลทำให้พึ่งพาการนำเข้าพลังงานน้อยลง ซึ่งอัตราการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ หดตัว 6% ต่อปี

ประการที่สอง รัฐบาลจีนมีนโยบายผลักดันให้เงินหยวนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของโลกอยู่แล้ว (RMB Internationalization) ซึ่งจีนมีบทบาทในเวทีเศรษฐกิจและการค้าโลกมากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนมูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2013 จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของโลกแซงหน้าสหรัฐฯ ปัจจุบันจีนมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 14% ของมูลค่าการค้าโลกทั้งหมด เทียบกับสหรัฐฯ และไทย มีสัดส่วน 13% และ 1.5% ตามลำดับ

เงินหยวนยังถูกนำมาใช้ในธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นโดยมีอัตราการเติบโตเกือบ 50% ต่อปี และจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากสถิติปี 2014 เงินหยวนที่นำมาใช้ชำระเงินมีมูลค่าถึง 6.6 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วน 25% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีน เทียบกับปี 2010 ที่มีสัดส่วนเพียง 3% เท่านั้น ปัจจุบันการชำระเงินด้วยเงินหยวนโดยใช้ระบบ Letter of Credit (L/C) ได้แซงหน้าเงินสกุลยูโรขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจากเงิน USD แล้ว

ประโยชน์ของ Petroyuan จะช่วยให้ผู้นำเข้าและส่งออกพลังงานในจีนและประเทศคู่ค้าไม่ต้องแลกเงินหลายทอด ช่วยลดต้นทุนค่าแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ลดระยะเวลาในการชำระค่าสินค้า ลดความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน และลดต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน

นอกจากนี้ เงินหยวนจะถูกนำมาใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเมื่อเงินหยวนมีความต้องการมากขึ้น มีความเสี่ยงต่ำ จะทำให้มีการซื้อขายตราสารและพันธบัตรรัฐบาลจีนมากขึ้น ส่งผลต่อการแข็งค่าของเงินหยวน ปัจจุบันธนาคารกลางจีนได้ร่วมมือกับธนาคารกลางทั่วโลกมากกว่า 30 ประเทศ รวมถึงธนาคารกลางรัสเซีย และในประเทศตะวันออกกลางอย่างกาตาร์ที่จีนเป็นคู่ค้าด้านพลังงาน ในการจัดทำข้อตกลงการแลกเปลี่ยนเงินหยวนกับเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ (Currency swap arrangement) มูลค่ากว่า 3 ล้านล้านหยวน ทำให้มีการเก็บสินทรัพย์ในรูปเงินหยวนเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการผันผวนของเงินยูโรและเงินเยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และกระจายความเสี่ยงจากการถือเงิน USD

ในขณะที่ Petrodollar ยังมีบทบาทสูงอยู่ ความผันผวนของค่าเงิน USD จึงมีผลต่อการแกว่งตัวของราคาน้ำมัน โดยค่าเงิน USD มีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามกับราคาน้ำมัน หากเงิน USD แข็งค่าขึ้น ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลง ซึ่งในอนาคตหาก Petroyuan ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายจนมีการกำหนดราคาน้ำมันในรูปสกุลเงินหยวนทั่วโลก คาดว่าราคาน้ำมันจะมีความผันผวนลดลงเนื่องจากจีนใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ (Managed float) และควบคุมเงินหยวนให้เคลื่อนไหวจากอัตรากลางภายใต้กรอบ +/-2% ยกเว้นว่าความต้องการ Petroyuan จะมีจำนวนมหาศาลจนธนาคารกลางจีนต้องปล่อยให้มีการเคลื่อนไหวของเงินทุนเข้าออกอย่างเสรีมากขึ้น และขยายกรอบหรือปล่อยลอยตัวค่าเงิน ก็จะส่งผลต่อความผันผวนของราคาน้ำมันเช่นกรณี Petrodollar

สำหรับประเทศไทยนั้น ความเป็นไปได้ของการใช้ Petroyuan จะอยู่ในรูปแบบของการซื้อขายน้ำมันสำเร็จรูป (Petroleum product) เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่สำคัญของไทย คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปจีนราว 12% ของการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปทั้งหมด แต่โอกาสใช้ Petroyuan ในการซื้อขายน้ำมันดิบ (Crude oil) ยังมีน้อย เนื่องจากไทยนำเข้าน้ำมันดิบส่วนใหญ่หรือประมาณ 70% จากประเทศในตะวันออกกลางซึ่งมีการซื้อขายในรูปของ USD อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวหากการขุดเจาะ shale gas ซึ่งเป็นพลังงานรูปแบบใหม่ที่จีนมีปริมาณสำรองมากที่สุดในโลก ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์จนสามารถส่งออกได้ การใช้ Petroyuan จะมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกมาก

ดังนั้นผู้ประกอบการไทยที่มีคู่ค้าในจีนจะมีทางเลือกมากขึ้น สามารถใช้หยวนเป็นสกุลเงินในการทำธุรกรรมด้านการค้าโดยไม่ต้องพึ่ง USD เป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้า ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนและความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำลง ทั้งนี้สถาบันการเงินหลายแห่งได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินสกุลเงินหยวนรองรับไว้แล้ว เช่น บริการโอนเงินไปจีน การเปิด L/C เป็นเงินหยวน เป็นต้น

ต้องจับตาว่าหยวนจะก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในเงินสกุลหลักของโลกหรือไม่ แม้ว่าเงินหยวนจะไม่สามารถใช้ทำธุรกรรมทดแทน USD ได้ทั้งหมด แต่ในระยะยาว Petroyuan จะมีบทบาทมากขึ้นในตลาดพลังงานอย่างแน่นอน