เยียวยาเศรษฐกิจ อย่าคิดว่าเป็นประชานิยม!

เยียวยาเศรษฐกิจ อย่าคิดว่าเป็นประชานิยม!

คนที่ติดตามดูข้อมูลเศรษฐกิจ คงคุ้นหูกับคำว่าเศรษฐกิจไทย“ฟื้นตัวช้า” และ“เปราะบาง” เพราะเราได้ยินคำนี้จากหน่วยงานเศรษฐกิจ

ของประเทศมาร่วมๆ ครึ่งปีแล้ว โดยช่วงต้นปีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีเพียงคำว่าฟื้นตัวช้า แต่ช่วง 2-3 เดือนหลังนี้ เริ่มมีคำว่าเปราะบาง เพิ่มเข้ามา

 

คำว่า.. เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าและเปราะบางนั้น นักเศรษฐศาสตร์บางคนบอกว่า เป็นคำที่สุภาพ และดูถนอมน้ำใจภาครัฐ เพราะถ้าให้พูดกันตามตรง เวลานี้หลายคนใช้คำว่าชะงักงัน ไปเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังไม่เห็นวี่แววว่า เศรษฐกิจเราจะหลุดพ้นจากภาวะนี้ได้เมื่อไหร่

 

ผมเห็นด้วยกับดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่บอกว่า เราควรต้องให้กำลังใจทีมเศรษฐกิจ ของรัฐบาล เพื่อฝ่าฟันปัญหาเหล่านี้ไปให้ได้ ยิ่งเวลานี้ถือเป็น “โจทย์ยาก เพราะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่เผชิญปัญหา ส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทยโดยตรง

 

เพียงแต่หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าเศรษฐกิจแบบนี้ ถึงเวลารึยังที่ ภาครัฐควรต้องหามาตรการกระตุ้นออกมาเพิ่มเติม หรืออย่างน้อยควรจะมี มาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

 

สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ คือกลุ่มเกษตรกร ในระดับรากหญ้า” เพราะเวลานี้นอกจากจะเผชิญกับภาวะราคาสินค้าเกษตรโลกที่ตกต่ำแล้ว ยังต้องทนทุกข์กับปัญหาภัยแล้งในประเทศ ไม่สามารถปลูกข้าว ทำไร่ ทำนา ได้เหมือนปกติ ..ถามว่าคนเหล่านี้จะเอารายได้ จากที่ไหนมาเลี้ยงชีพ

 

ลองมาดูรายได้ภาคเกษตรกัน.. ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนพ.ค.2558 รายงานโดยธปท. พบว่า เกษตรกรมีรายได้ลดลง 12%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจาก จากราคาสินค้าที่ตกต่ำ อีกทั้งผลผลิตปรับลดลง

 

รายได้เกษตรที่หดตัวนี้ ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่เกิดมาต่อเนื่องและยาวนานพอสมควรแล้ว โดยถ้าดูตัวเลขย้อนไปในเดือนก่อนหน้าจะเห็นว่า รายได้กลุ่มนี้ลดลงประมาณ 18.6%หรือถ้าดูช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ก็มีค่าเฉลี่ยการปรับลดลงอยู่ที่ 11.8%และถ้าจะมองยาวไปในปีก่อนหน้า ค่าเฉลี่ยการปรับลดลงทั้งปีอยู่ที่ 5.6%แบ่งเป็น การหดตัวลงในครึ่งปีแรก 0.5%และครึ่งปีหลังหดตัวราว 10.1%

 

..ผมอดสงสัยไม่ได้จริงๆ ว่า “คนกลุ่มนี้” จะผ่านสถานการณ์อันยากลำบากเช่นนี้ไปได้อย่างไร ถ้าไม่ได้ภาครัฐเข้ามาช่วย?

 

นักเศรษฐศาสตร์ หลายคนเริ่มแสดงความเห็นว่าวิกฤติเศรษฐกิจ รอบใหม่ หากจะเกิดขึ้น ก็คงเกิดกับกลุ่มคนในระดับรากหญ้า ซึ่งผมเองก็เห็นว่า สถานการณ์ที่ว่านี้ เริ่มประชิดเข้ามาเต็มทนแล้ว

 

นักวิชาการท่านหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการเยียวยาใดๆ ที่เป็นชิ้นเป็นอันออกมา อาจเพราะยังเขินอาย เกรงถูกกล่าวหาว่าเป็นการดำเนินนโยบายแบบประชานิยม ซึ่งนักวิชาการท่านนี้ มองว่า ภาครัฐจำเป็นต้องแยกแยะให้ออกระหว่างคำว่าเยียวยา กับประชานิยม เพราะ 2 คำนี้มีเป้าหมาย ที่แตกต่างชัดเจน

 

สุดท้ายนี้..อยากบอก “ทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลว่า ขอเอาใจช่วยให้ท่านผ่าทางตันปัญหาเศรษฐกิจในรอบนี้ไปให้ได้ แต่สิ่งสำคัญที่ท่านต้องไม่ลืม คือ “ภาคเกษตร”

 

 อย่าลืมว่าคนกลุ่มนี้มี พลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้!