วาระแห่งชาติ'ยุติทีวีอนาล็อก' : อย่ายอมให้กสทช.ทำคนเดียว

วาระแห่งชาติ'ยุติทีวีอนาล็อก' : อย่ายอมให้กสทช.ทำคนเดียว

“ข่าวดี”ท่ามกลาง “ข่าวร้ายๆ” ของวงการทีวีดิจิทัล ว่าด้วยการแถลงข่าวแผนการยุติการออกอากาศ

โทรทัศน์แบบอนาล็อกภายในปี 2561ของ“ฐากร ตัณฑสิทธิื์”เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ น่าจะทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้มองเห็นแสงสว่างแว่บๆปลายอุโมงค์ได้บ้าง


นับจากวันนี้ไปจนถึงวันสิ้นสุดระบบอนาล็อกเหลือเวลาอีกประมาณ 2 ปี 6 เดืือน เพื่อก้าวเข้าเข้าสู่ยุคโทรทัศน์ระบบดิจิทัลในปี 2562 ที่พอจะเรียกได้ว่าสนามการแข่งขันของโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ทุกช่องจะมีความเท่าเทียมกันในระบบเดียวกันหรือ Level Playing Field ที่ไม่มีแต้มต่อใดๆให้กับช่องฟรีทีวีภาคพื้นดินเดิมอีกต่อไป


เมื่อรู้แผนการยุติระบบอะนาล็อกชัดเจนขึ้น คงทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจชัดขึ้นว่าจะ “ดำน้ำ” กลั้นลมหายใจไปอีก 2 ปี 6 เดือน


หรือเลือกโดดลงเรือเล็กเอาตัวรอดไปก่อนที่ยังเหลือเงินค่าประมูลที่ต้องชำระอีก 4 งวด ด้วยความไม่เชื่อมั่นในขีดความสามารถของกสทช.อีกแล้ว
อย่างกรณีเจ๊ติ๋ม-ทีวีพูล ที่ตัดสินใจไม่ไปต่อขอยกเลิกใบอนุญาต 2 ช่องพร้อมกัน แล้วไปเผชิญชะตากรรมฟ้องร้องกันบนศาลปกครองและกลับไปสู่เส้นทางเดิมที่เคยเฟื่องฟูคือ “ทีวีดาวเทียม” กับ “ฟรีทีวีอะนาล็อกช่อง 5”


ถ้าถามผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 16 บริษัทที่เหลือว่าเชื่อมั่นในการบริหารงานของกสทช.ชุดนี้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัลอีกประมาณ 2 ปี 6 เดือนหรือไม่


เสียงส่วนใหญ่หรือแทบจะเป็น“เอกฉันท์" คงตอบว่าไม่เชื่อมั่นอีกต่อไปแล้ว เพราะในช่วงหลังประมูลทีวีดิจิทัลเสร็จสิ้นปลายเดือนธ.ค. 2556 หลังจากนั้นเป็นหนังคนละม้วน กับช่วงก่อนการประมูลทีวีดิจิทัลที่ทุกอย่างดูสวยหรูชีวิตดี๊ดี


แล้วพี่น้องชาวไทยควรจะทำอย่างไรกับแผนการยุติการออกอากาศระบบอนาล็อก เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานและผู้บริโภคไม่สับสนอลหม่าน หลังจากนั้น


ข้อเสนอของผมที่เคยเสนอไปแล้วคือ การเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัลควรจะยกระดับเป็น“วาระแห่งชาติ” หาใช่วาระเล็กๆขององค์กรอิสระองค์กรเดียวอย่างกสทช.ที่ไม่ค่อยมีใครให้ความเชื่อถือในการทำงานมากนัก


อ่านจากข่าวการแถลงของ“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการกสทช.แล้วน่าจะพอเห็นร่องรอยในการทำงาน ที่น่าจะมีความหวังว่าสำนักงานกสทช.กำลังเดินถูกทาง ไม่หวงงานนี้ไว้ทำคนเดียวเหมือนเรื่องอื่นๆที่ล้มเหลวหลายครั้ง เช่น กสทช.จะเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบแผนการยุติออกอากาศระบบอนาล็อกเพื่อจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ในระดับชาติ ฯลฯ


แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง จนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าหากกรรมการกสท.บางท่าน ยังแยกไม่ออกระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมกับผลประโยชน์ของช่องจะเกิดกรณีช่อง 3 จอดำหรือไม่เกิดความขัดแย้งยืดเยื้อในกสท.จนกระทบความเชื่อมั่นของสังคมอย่างมาก


การเจรจากับช่อง 3 และช่อง 7 เพื่อให้ยุติการออกอากาศในระบบอนาล็อกก่อนสัญญาสัมปทานสิ้นสุดให้เป็นภายในปี 2561 การกำหนดเป้าหมายผู้บริโภคนำคูปองมาแลกเป็นกล่องรับสัญญาณให้ได้ถึง 75% การขออนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อแจกคูปองหรือกล่องรับสัญญาณให้ครบทั้งหมด 22 ล้านครัวเรือนจากเดิมแจกคูปองไปแล้ว 14.1 ล้านครัวเรือน ฯลฯ


แต่ยังอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าเลขาธิการกสทช. ไม่ได้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย การยุติการออกอากาศแบบอนาล็อก แต่กสท. 5 คนยังเคยแสดงความ่ชัดเจน ว่าหลังจากแต่ละสถานีได้ส่งแผนการยุติออกอากาศอนาล็อกมาแล้ว มีความเห็นเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร


เพราะเท่าที่ดูจากข้อมูลของแต่ละสถานีที่เลขาธิการกสทช. แถลงแล้วคงจะเกิดความสับสนอลหม่านแน่ๆ ข้อมูลบางอย่างไม่น่าจะ่ถูกต้องแล้ว เช่น
ช่อง 7 ยังมีอายุสัญญาสัมปทานสิ้นสุดปี 2566 ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้กสทช. ออกใบอนุญาตบริการโครงข่ายทีวีดิจิทัลให้ช่อง 5 จำนวน 2 ใบอนุญาตเพื่อแลกกับช่อง 5 จะเจรจาแก้สัญญาสัปทานลดอายุลง 5 ปีจากสิ้นสุดปี 2566 หรือเท่ากับแผนของช่อง 5 ภายในปี 2561 ทำไมกสท.ปล่อยให้เรื่องนี้เรื้อรังไม่ได้มีการแก้สัญญาก่อนให้ใบอนุญาตช่อง 5หรือไม่


ช่อง 3 ยังมีอายุสัญญาสัมปทานกับอสมท.ถึงวันที่ 24 มี.ค. 2563 น่าจะยินยอมลดอายุสัญญาลงให้สิ้นสุดปี 2561 เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานซ้ำซ้อนกับค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัล อสมท.เองนั่นแหละจะยอมเสียสละเงินรายได้ค่าสัมปทานอีก 2 ปีคือปี 2562-63 ปีละประมาณ 250 ล้านบาท โดยไม่มีสิ่งแลกเปลี่ยนเหมือนกับช่อง 5 ได้อย่างไร


อีกประเด็นที่สำคัญมากคือแนวทางแผนการยุติออกอากาศระบบอะนาล็อกของแต่ละช่องไม่ตรงกัน
ไทยพีบีเอสเป็นสถานีเดียวที่เสนอแผนยุติการส่งสัญญาณอนา้ล็อกแบบทยอยยุติในแต่ละพื้นที่ตั้งแต่ปีนี้ที่เริ่ม 3 สถานี , ปี2559 25 สถานี, ปี 2560 21 สถานี และปี 2561 3 สถานี


กรมประชาสัมพันธ์ ยุติการออกอากาศทุกสถานีพร้อมกันภายในปี 2560 แต่อสมท.จะยุติพร้อมกันทุกสถานีภายในปี 2561
ในขณะที่ช่อง 5 กลับทำเป็น 2 ขยักเริ่มยุติการออกอากาศอนา้ล็อก 4 สถานีในปี 2560 และสถานีที่เหลือ 37 สถานีในปี 2561
ประชาชนในแต่ละพื้นที่คงจะสับสนอลหม่านถึงขั้นโกลาหลแน่ถ้าไม่ได้นำคูปองไปแลกกล่องรับสัญญาณหรือไม่ได้ติดตั้งจานดาวเทียม หากแต่ละพื้นที่ยุติการออกอากาศระบบอะนาล็อกไม่พร้อมกัน จะทำให้เกิดภาวะจอดำในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน


กรรมการกสท.และที่ปรึกษากสท.ได้ใช้เงินไปดูงานต่างประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาหลายร้อยล้านบาท รวมทั้งประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่าจากระบบอนาล็อกไปสู่ดิจิทัลเสร็จสิ้นแล้ว แต่ละประเทศมีบทเรียนต่างกัน น่าจะมานำเสนอให้กับสาธารณชนทราบเพื่อร่วมแสดงความเห็น ประเทศเยอรมันใช้วิธีทยอยยุติการออกอากาศแบบอนาล็อกของทุกช่องพร้อมกันในแต่ละโซนย่อยๆ บางประเทศใช้วิธียุติการออกอากาศพร้อมกันทั่วประเทศในวันเดียวกัน ฯลฯ


การขยายโครงข่ายภาคพื้นดินของผู้ถือใบอนุญาตทุกรายควรจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดพื้นที่ยุติการออกอากาศอนาล็อก เมื่อได้สำรวจแล้วว่าประชาชนในพื้นที่นั้นๆสามารถรับชมทีวีดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงทุกครัวเรือนแล้วจริงๆ ทั้งแบบภายในอาคารและในรถเคลื่อนที่ได้ นั่นหมายความว่าผู้ถือใบอนุญาตโครงข่ายจะต้องเร่งลงทุนสถานีย่อยและสถานีเสริมไปตามแผนยุติออกอากาศอนา้ล็อกของทุกสถานี
ยิ่งคิดยิ่งมองเห็นปัญหาต่างๆมากมายที่จะตามมาจากการประกาศแผนการยุติออกอากาศระบบอนาล็อกที่ยังขาดรายละเอียดและขาดแผนในเชิงยุทธศาสตร์ในระดับชาติ


กสท.ควรจะเริ่มต้นกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัลแบบง่ายๆ ด้วยการปล่อยมือบ้างเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามามีส่วนร่วมจริงๆ ไม่ใช่แค่เป็นกรรมการแบบ “พระอันดับ” อยู่ในคณะอนุกรรมการเปลี่ยนผ่าน จากอนาล็อกสู่ดิจิทัลที่ได้ตั้งขึ้นเมื่อเดือนมี.ค. 2557 แล้วจัดประชุมเดือนละครั้งได้สัก 5-6 ครั้งเท่านั้น ปีนี้คณะอนุกรรมการชุดนี้ยังไม่เคยมีการเรียกประชุมอีกเลยโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งๆที่มีปัญหามากมายเกิดขึ้นในช่วง 1 ปี 6 เดือนที่ผ่านมาของการออกอากาศทีวีดิจิทัล


กสท.ควรจะเสนอคณะรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัล” ระดับชาติมีนายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนเป็นประธาน เพื่อใช้อำนาจที่มีขอบเขตกว้างขวางกว่ากสทช. สั่งการในเชิงนโยบายให้หน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น กลไกกระทรวงมหาดไทยที่เข้าถึงทุกครัวเรือนทุกพื้นที่ในประเทศไทย น่าจะช่วยกระจายคูปองหรือกล่องรับสัญญาญาณให้ไปถึง 22 ล้านครัวเรือนจริงๆ ฯลฯ


อย่ายอมให้กสท.ทำงานหวงอำนาจ ดันทุรังเดินหน้าแผนการเปลี่ยนผ่าน เพื่อยุติการออกอากาศแบบอนาล็อกตามลำพังอีกต่อไป มิเช่นนั้นอาจจะกลายเป็นเร่งยุติออกอากาศอนาล็อก เพื่อเปิดทางให้ทีวีดาวเทียมกลายเป็นแพลทฟอร์มหลักของประเทศ แทนระบบทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินที่มีเสถียรภาพมากกว่า และลงทุนไปไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท ทั้งจากผู้ถือใบอนุญาต 24 ช่องกับผู้ถือใบอนุญาตโครงข่าย 4 ราย