ประเทศไทยกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ (8)

ประเทศไทยกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ (8)

บทความฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้พูดถึงการบังคับหลักประกันตามร่างกฎหมาย

หลักประกันทางธุรกิจประเภททรัพย์สินกันไปแล้ว วันนี้เรามาศึกษาในส่วนของการบังคับหลักประกันที่เป็นกิจการ

การบังคับหลักประกันที่เป็นกิจการนั้น เป็นไปตามหมวด 6 โดยแบ่งเป็นสองส่วน กล่าวคือ ส่วนที่กล่าวถึงผู้บังคับหลักประกันตั้งแต่มาตรา 56 ถึงมาตรา 62 และส่วนที่กล่าวถึงกระบวนการการบังคับหลักประกันที่เป็นกิจการ ตั้งแต่มาตรา 56 ถึงมาตรา 76

ตามที่ผู้เขียนได้พูดถึงไปแล้วในบทความตอนแรกๆ ว่า การนำทรัพย์สินประเภทกิจการมาเป็นหลักประกันตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจนั้น จะมีตัวละครที่สำคัญเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ราย ได้แก่ “ผู้บังคับหลักประกัน” ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 57 และต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานทะเบียน ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจด้วย และอาจถูกเพิกถอนได้หากผู้บังคับหลักประกันกลายเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ หรือถูกศาลพิพากษาให้พ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามมาตรา 12 และมาตรา 13 กำหนดให้ผู้ให้หลักประกัน และผู้รับหลักประกันสามารถเลือกผู้บังคับหลักประกันได้มากกว่า 1 ราย โดยผู้บังคับหลักประกันจะต้องส่งหนังสือแจ้งความยินยอมเป็นผู้บังคับหลักประกัน ให้ผู้ให้หลักประกันและผู้รับหลักประกันด้วย นอกจากนั้น จะต้องมีการระบุชื่อผู้รับหลักประกัน ไว้ในสัญญาหลักประกัน ที่นำไปยื่นขอจดทะเบียนกับเจ้าพนักงานทะเบียน ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจด้วย

เรามาศึกษากันต่อว่า กระบวนการบังคับหลักประกันประเภทกิจการนั้น มีขั้นตอนอะไรบ้าง และผู้บังคับหลักประกันเข้ามามีบทบาทอย่างไร สำหรับกระบวนการบังคับหลักประกันที่เป็นกิจการ

(1)  กระบวนการแจ้งการบังคับหลักและการชี้แจง: การบังคับหลักประกันที่เป็นกิจการ ต้องมีเหตุแห่งการบังคับหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหลักประกัน โดยเมื่อเกิดเหตุดังกล่าวแล้ว ผู้รับหลักประกันต้องมีหนังสือแจ้งผู้บังคับหลักประกันทราบ โดยผู้บังคับหลักประกันต้องกำหนดวัน เวลา และสถานที่ทำการไต่สวนข้อเท็จจริงภายใน 7 วัน นับจากวันได้รับหนังสือดังกล่าว และแจ้งให้ผู้ให้หลักประกันและผู้รับหลักประกันทราบเป็นหนังสือ ถึงเหตุแห่งการบังคับหลักประกันและประเด็นพิจารณา

ผู้ให้หลักประกันต้องส่งหนังสือชี้แจงรายละเอียด เกี่ยวกับกิจการที่เป็นหลักประกันให้แก่ผู้บังคับหลักประกันภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากผู้บังคับหลักประกัน ถ้าผู้ให้หลักประกันไม่ชี้แจงภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว กฎหมายให้ถือว่ากิจการที่เป็นหลักประกันนั้น มีเท่ากับจำนวนที่ปรากฏในรายการจดทะเบียน ณ วันที่ผู้รับหลักประกันได้รับหนังสือจากผู้ให้หลักประกัน ทั้งนี้ ผู้ให้หลักประกันไม่มีสิทธิที่จะจำหน่ายจ่ายโอนกิจการที่เป็นหลักประกัน ภายหลังจากที่ได้รับหนังสือจากผู้บังคับหลักประกัน เว้นแต่ (ก) กรณีที่กิจการมีทรัพย์สินที่เป็นของสดหรือของเสีย ได้ กำหนดให้ผู้บังคับหลักประกันพิจารณา จำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวออกได้ตามวิธีการที่เห็นสมควร แต่ต้องแจ้งให้ผู้ให้หลักประกันทราบล่วงหน้าก่อน หรือ (ข) ผู้ให้หลักประกันได้วางเงินประกันหรือให้หลักประกันเพื่อป้องกันความเสียหาย จากการจำหน่ายจ่ายโอนกิจการตามจำนวนที่ผู้บังคับหลักประกันกำหนด

(2) การไต่สวนและคำวินิจฉัย:ภายหลังการไต่สวนข้อเท็จจริง ผู้บังคับหลักประกันต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับจากวันที่มีการไต่สวนวันแรกว่า มีเหตุของการบังคับหลักประกันหรือไม่ โดยในกรณีที่มีผู้บังคับหลักประกันหลายรายให้ใช้มติเสียงข้างมาก ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของผู้บังคับหลักประกันจะต้องเป็นคำวินิจฉัย 3 กรณีคือ

(ก) มีเหตุให้บังคับหลักประกัน และผู้รับหลักประกันประสงค์จะบังคับหลักประกันทันที ให้ผู้บังคับหลักประกันมีคำวินิจฉัยให้บังคับหลักประกัน

(ข) มีเหตุให้บังคับหลักประกัน แต่ผู้รับหลักประกันประสงค์จะผ่อนผันให้แก่ผู้ให้หลักประกันเป็นหนังสือ กฎหมายให้ถือว่าไม่เคยมีเหตุของการบังคับหลักประกัน ให้วินิจฉัยว่า ไม่มีเหตุบังคับหลักประกัน และ

(ค) กรณีที่ไม่มีเหตุให้บังคับหลักประกัน ให้วินิจฉัยว่าไม่มีเหตุบังคับหลักประกัน โดยคำวินิจฉัยจะต้องประกอบไปด้วยเนื้อหาตามที่กฎหมายกำหนด เช่น สรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเหตุผลในการวินิจฉัย เป็นต้น ผู้บังคับหลักประกันต้องมีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยไปยังลูกหนี้ ผู้ให้หลักประกัน ผู้รับหลักประกัน และเจ้าหนี้บุริมสิทธิอื่นทราบ ตลอดจนเจ้าพนักงานทะเบียน นายทะเบียนทรัพย์สินตามกฎหมายอื่น และนายทะเบียนบริษัท ตลอดจนนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง (หากวินิจฉัยให้บังคับหลักประกัน)

(3)   การคัดค้านคำวินิจฉัย:การคัดค้านคำวินิจฉัยไม่สามารถทำได้ เว้นแต่ (ก) การไต่ส่วนข้อเท็จจริงไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ หรือ (ข) คำวินิจฉัยบกพร่องในข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ โดยผู้คัดค้านคำวินิจฉัยต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัย โดยศาลอาจมีดุลยพินิจยกคำร้องก็ได้ ในกรณีที่ศาลรับคำร้อง ศาลจะต้องนั่งพิจารณาติดต่อกันทุกวัน จนกว่าจะเสร็จการพิจารณาและมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง และหากศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะคัดค้านได้ ให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยได้ และให้คำพิพากษาของศาลถือเป็นที่สุด

(4)  ผลของคำวินิจฉัย:กำหนดให้สิทธิใดๆ ของผู้ถือหุ้นของผู้ให้หลักประกันในกิจการที่เป็นหลักประกันตกเป็นของผู้บังคับหลักประกันทันที (เว้นแต่สิทธิที่จะได้รับเงินปันผล) และห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่น ยึดหรืออายัดกิจการที่เป็นหลักประกัน แต่ให้เจ้าหนี้ดังกล่าวยื่นขอเฉลี่ยทรัพย์สิน หรือเงินที่ได้จากการจำหน่ายกิจการ และให้ผู้ให้หลักประกันต้องส่งมอบกิจการให้แก่ผู้ให้หลักประกันภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับคำวินิจฉัย

ฉบับหน้าเรามาต่อกันอีกเล็กน้อยในเรื่องของอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับหลักประกัน ตลอดจนวิธีการจัดสรรเงินที่ได้จากการจำหน่ายกิจการ และจบท้ายสำหรับบทความในเรื่องนี้ ว่าด้วยการระงับสิ้นไปของสัญญาหลักประกันทางธุรกิจกันนะคะ

-------------

กุลชา จรุงกิจอนันต์

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่