คูปองนวัตกรรม

คูปองนวัตกรรม

หากประเทศไทยต้องการพัฒนานวัตกรรม ต้องสร้างแรงจูงใจทางการเงินให้แก่ภาคเอกชน เพื่อให้เขาสามารถพัฒนานวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่อง

กลไกสำคัญหนึ่งของประเทศไทยในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมคือ มาตรการคูปองนวัตกรรม ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งผมเองมีส่วนร่วมในการร่างและพัฒนากลไกนี้ให้เกิดขึ้นจริงทุกวันนี้

 

ไอเดียของคูปองนวัตกรรมนั้น ไม่ใช่ของใหม่เสียทีเดียวครับ อันที่จริง เราหยิบยืมความคิดมาจากประเทศแถบยุโรป และจะว่าไปเชิงประวัติศาสตร์แล้ว คนแรกที่จุดประกายในเรื่องนี้คือ ดร.ทิม เทอร์ปิน ที่ปรึกษาของธนาคารโลก ซึ่งได้เขียนรายงานเมื่อปี 2545 โดยท่านได้ศึกษามาตรการสนับสนุนและพัฒนาเทคโนโลยีของไทย สรุปได้ว่า ถ้าหากประเทศไทยต้องการพัฒนานวัตกรรม ก็ต้องสร้างแรงจูงใจทางการเงินให้แก่ภาคเอกชน เพื่อให้เขาสามารถพัฒนานวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่อง

 

เราต้องไม่ลืมครับว่า เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วนั้น ภาคเอกชนไทยเราส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต ไม่ค่อยคิดของใหม่ขึ้นมาด้วยตัวเองมากมายนักอย่างในปัจจุบัน ดังนั้น การจะกระตุ้นให้เอกชนหันมาพัฒนาสินค้าใหม่ บริการใหม่ ก็ต้องมีกลไกในการกระตุ้นกันบ้าง เพราะการสร้างสิ่งใหม่ ต้องการการลงทุน ตอนนั้น เป็นช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง เจ้าของบริษัทไม่ค่อยกล้าลงทุนใหม่มากเท่าไหร่นัก ยิ่งเรื่องนวัตกรรม ยิ่งมองว่าเป็นความเสี่ยง เพราะอาจสูญเสียเม็ดเงินก้อนสำคัญไปได้

 

จากนั้น ก็มีการศึกษาของ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ในปี 2546 ซึ่งท่านได้ออกรายงานการวิจัยเรื่อง “การปฏิรูประบบสนับสนุนการวิจัย-พัฒนาเชิงพาณิชย์และการสร้างนวัตกรรมในภาคเอกชน”  ซึ่งทั้งรายงานของ ดร.ทิม และ ดร.สมเกียรติ มีคำหนึ่งที่น่าสนใจคือ คำว่า Innovation Credit

 

คอนเซปต์ของเรื่องนี้ ไม่ซับซ้อนครับ คือ มีผู้เล่นอยู่สามฝ่าย ฝ่ายแรกคือ บริษัทเอกชน ฝ่ายที่สองคือ ผู้ให้บริการทางด้านเทคโนโลยี เพื่อช่วยเหลือฝ่ายแรกในการพัฒนานวัตกรรม และฝ่ายที่สามคือ ภาครัฐผู้สนับสนุนฝ่ายแรกและฝ่ายที่สอง ด้วยการออกเครดิตให้ฝ่ายแรกมารับบริการจากฝ่ายที่สอง โดยฝ่ายแรกอาจออกเงินเองบ้างจำนวนหนึ่ง แล้วฝ่ายที่สามก็ให้การสนับสนุนทางการเงินตรงไปที่ฝ่ายผู้ให้บริการ เท่ากับว่า ค่าใช้จ่ายในการให้บริการนั้น บริษัทได้เครดิตจำนวนหนึ่งไปจากรัฐ

 

กลไกนี้ทางทฤษฎีไม่ยุ่งยากครับ แต่พอปฏิบัติแล้วยุ่งมาก กว่าโครงการนี้จะได้เกิดผ่านการล้มลุกคลุกคลานมายาวนานหลายต่อหลายปี

 

สมัยผมทำงานที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ทีมของพวกเราเรียกโครงการนี้ว่า มาตรการเครดิตนวัตกรรม ต่อมา เรายกระดับถึงขั้นเรียกว่า การปฏิรูประบบสนับสนุนการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม และต่อมาก็แปรสภาพไปเป็นโครงการเครดิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness Building Credit: CBC)

 

จนกระทั่งผมถูกชักชวนให้ลาออกมาช่วยกันทำงานในสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้ง ผมก็ยังไม่ละทิ้งแนวความคิดนี้ พยายามขายไอเดียให้ผู้อำนวยการ ซึ่งท่านก็ซื้อ แต่กว่าที่เราจะลงเอยกันได้ก็ย่างเข้าปี 2553 นั่นแหละครับ หรือจะว่าไปก็ใช้เวลายาวนานข้ามทศวรรษกันเลยทีเดียว และที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เราเรียกกลไกนี้ว่า คูปองนวัตกรรม ครับ

 

ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้ เรียกได้ชนิดที่ว่า ดังเป็นพลุแตก ผู้ประกอบการต่างสมัครใช้มาตรการอย่างล้นหลาม โดยเราร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เขาเป็นผู้ประสานระหว่างเอกชนด้วยกันหรือจะมองอีกมุม เราแปลงสภาอุตฯ ให้กลายเป็นฝ่ายที่สี่ แล้วเราก็ยังสร้างกลไกบริหารจัดการอีกระดับเรียกว่า ผู้ให้บริการนวัตกรรม (Innovation Service Provider: ISP) ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ให้เข้ามาเป็นผู้เล่นบทบาทประสานระหว่าง ความต้องการ กับ เทคโนโลยีที่จำเป็น เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม

 

ท่านอดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เคยกล่าวกับผมว่า คุณรู้ไหม นี่เป็นนโยบายด้านนวัตกรรมระดับใหญ่เรื่องแรกในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่สามารถนำมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมได้จริง

 

ผมเองก็ดีใจมากที่เห็นสิ่งที่ตัวเองเขียนกลายมาเป็นจริง แม้ว่าทุกวันนี้ ผมไม่ได้ทำงานที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติแล้วก็ตาม ผมก็ยังคงติดตามกลไกคูปองนวัตกรรมนี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ

 

วันนี้ คูปองนวัตกรรมระยะที่ 2 กลับมาแล้วครับ ภายใต้การบริหารงานของท่านประธานกรรมการคนใหม่ ดร. สมเจตน์ ทิณพงษ์ และน้องๆ ทีมงานสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติที่เข้มแข็ง ผมเชื่อมั่นว่า คูปองนวัตกรรม จะประสบความสำเร็จยิ่งกว่าในอดีต เพราะได้สั่งสมและเรียนรู้ประสบการณ์มาแล้วจากครั้งแรก เมื่อทำครั้งที่สอง ก็ย่อมดีกว่าเดิม แข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม

 

กลไกนี้ ไม่มีในแถบประเทศเพื่อนบ้านเราครับ ผมจำได้ว่า เมื่อหก-เจ็ดปีที่แล้ว ทางการมาเลเซียส่งคนมาดูงานเราที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ท่านผู้อำนวยการมอบหมายให้ผมดูแล เราอธิบายเขาถึงรูปแบบของเรา วิธีการทำงาน และกลไกต่างๆ พอเขากลับไปได้ไม่นาน เขาก็ตั้งสำนักงานนวัตกรรมแบบเดียวกับเรา ผิดแต่ว่า ของเขานายกรัฐมนตรีมานั่งกำกับดูแลเองโดยตรง ไอเดียหลายอย่างเขาก็หยิบยืมจากเราไป เรื่องแบบนี้เราไม่ว่ากันครับ เพราะเราเองก็หยิบยืมแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมมาจากหลายประเทศเหมือนกัน ก็ช่วยกันพัฒนาไป อย่างไรเสียเราก็เพื่อนบ้านกัน ถ้าเราไม่อยากอยู่ข้างหลังเขา ก็มีแต่ต้องวิ่งพัฒนาให้เร็วกว่า ครั้นจะมาคอยหวง ปิดประตูไม่เปิดเผยแต่อย่างเดียว มันไม่เพียงพอสำหรับโลกยุคดิจิตอลแล้วครับ

 

จนถึงวันนี้ ผมก็ยังเชื่อว่า ถ้าหากมาเปรียบเทียบความสำเร็จกันกับประเทศที่ใช้กลไกคูปองนวัตกรรมคล้ายคลึงกัน ผมมั่นใจว่า ประเทศไทยเราติดอันดับความสำเร็จในแง่ของประสิทธิภาพ ประสิทธิผล อยู่ในกลุ่ม 3 อันดับแรกของโลกแน่นอน

 

ผมทราบข่าวจากน้องๆ ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติว่า เมื่อเปิดตัวคูปองนวัตกรรม ระยะที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมานั้น ผู้ประกอบการให้ความสนใจกันมาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ถึงกับเข้าคิวต่อแถวกันลงทะเบียนแสดงความสนใจกันยาวเหยียดหลายแถว ซึ่งภายใต้สถานการณ์อย่างในปัจจุบันนี้ เชื่อได้ว่า ต้องการนวัตกรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะปีหน้าก็เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยสมบูรณ์แล้ว วันนี้ไม่ทำนวัตกรรมไว้รับมือ วันหน้าก็เตรียมตัวม้วนเสื่อกลับบ้านได้เลย

 

แนวคิดตอนที่เราสร้างกลไกนี้ขึ้นมา ก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ของนักวิจัยในประเทศ เราไม่อยากเห็นงานวิจัยและพัฒนาขึ้นหิ้งไปเฉยๆ จึงจำเป็นต้องสร้างกลไกขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอด นำเอาผลงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม

 

เราสร้างนวัตกรรม ก็เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจไทย จุดหมายปลายทางก็คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเอกชน ซึ่งย่อมทำให้ประเทศไทยเราแข็งแรงขึ้นนั่นเอง