เงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้ทหารเข้าสู่การเมือง

เงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้ทหารเข้าสู่การเมือง

Amos Perlmutter นักรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องทหารกับการเมือง กล่าวสรุปไว้ว่า รัฐที่เป็น “modern praetorian”

คือ รัฐที่ทหารมีแนวโน้มที่จะแทรกแซงรัฐบาลและการปกครอง และมีศักยภาพที่จะครอบงำฝ่ายบริหาร ลักษณะหนึ่งของรัฐแบบนี้คือ ความพุพังทางการเมือง นั่นคือ ฝ่ายบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพ กระบวนการทางการเมืองของรัฐแบบนี้จะเอื้อหรือเป็นประโยชน์ให้กับการพัฒนาสถาบันทหาร ในฐานะที่เป็นกลุ่มแกนสำคัญทางการเมือง และรัฐแบบนี้ยังส่งเสริมการเติบโตของความคาดหวังของกองทัพ ในฐานะที่เป็นชนชั้นปกครองอีกด้วย

รัฐบาลหรือการปกครองในแบบ “modern praetorian” นี้ มักจะมีโอกาสพัฒนาตัวเกิดขึ้นได้มากที่สุด เมื่อสถาบันพลเรือนขาดความชอบธรรม นั่นคือ ขาดเสียงสนับสนุนจากการเลือกตั้ง และขาดอำนาจบริหารที่มีประสิทธิภาพ นั่นคือ เหนือเงื่อนไขอื่นใด ในระบอบที่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรม รัฐบาลจะขาดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพ-ความน่าเชื่อถือ อันนำมาซึ่งการลดทอนหรือสูญสิ้นประสิทธิภาพของอำนาจตามกฎหมาย และการขาดความชอบธรรม คือ การขาดแนวโน้มที่จะยอมตามอำนาจตามกฎหมาย

Perlmutter กล่าวว่า รัฐบาลหรือการปกครองโดยทหาร มักจะเกิดขึ้นจากสภาพการณ์ทางการเมืองที่อ่อนแอแทบจะไม่เหลืออะไร ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ รูปแบบการปกครองชาตินิยมในศตวรรษที่สิบเก้าในสเปน และละตินอเมริกา โดยPerlmutter ชี้ว่า สเปนเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของ “praetorianism” ในศตวรรษที่สิบเก้า ระบอบการปกครองของสเปน เป็นผลพวงจากนักการเมืองที่มุ่งแสวงหาอำนาจ และพลเรือนที่หน่ายแหนงโกรธแค้นต่อเงื่อนไขสถานการณ์ที่เป็นอยู่ และทั้งสองฝ่ายต่างก็มุ่งใช้วิธีทุกวิธีทางที่จะครอบงำแกนกลางของอำนาจทางการเมือง โดยไม่สนใจหลักการใดๆ

และเมื่อขาดการสนับสนุนจากมวลชน นักการเมืองเสรีนิยมและก้าวหน้า ต่างก็เห็นทหารเป็นหนทางแห่งความหวังที่จะนำไปสู่เป็นการปลดปล่อย จากสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ และคาดหวังให้ทหารเป็นเครื่องมือสำหรับการได้มาซึ่งอำนาจ และสถาปนาการบริหารที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ในการหาการสนับสนุนจากทหาร นักการเมืองและพลเรือนเหล่านี้ กลับคุกคามแบบแผนทางการเมืองและทางรัฐธรรมนูญที่เป็นหลักการสำคัญ และเมื่อทหารเข้าสู่การเมือง ด้วยความคาดหวังที่จะได้อำนาจการปกครองโดยผ่านทหาร นักการเมืองและพลเรือนเหล่านั้น ก็กลับรับและปรับพฤติกรรมทางการเมืองของตัวเอง กับเงื่อนไขที่ทหารเข้าแทรกแซงการเมือง ซึ่งนำไปสู่การค่อยๆ สูญเสียอำนาจในการควบคุมทหาร อีกทั้งพลังหรือกำลังของพวกเขา จะถูกท้าทายโดยคู่แข่งภายในกองทัพ อันมักได้แก่ ทหารอาชีพ ที่ต้องการรักษาเส้นแบ่งที่ชัดเจน ระหว่างการเมืองกับเรื่องทางการทหาร ส่วนทหารที่มีแนวโน้มไปทางการเมือง ก็จะไม่พอใจกับการไม่มีอำนาจหรือสถานภาพตามที่พวกขาคาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งในกองทัพหรืองบประมาณทางการทหาร                                 

ส่วน Juan J. Linz นักรัฐศาสตร์ชั้นนำอีกท่านหนึ่งกล่าวถึง “องค์ประกอบของการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตย” ว่า เมื่อระบอบประชาธิปไตยใหม่สามารถเริ่มมีเสถียรภาพได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่อาจจะถูกคุกคามท้าทายได้ จากกลุ่มคนผู้ซึ่งสามารถจูงใจ โน้มน้าวภาคส่วนที่สำคัญของประชากร ให้หันเหความภักดีต่อรัฐบาล ไปให้การสนับสนุนพวกตนแทนกลุ่มผู้ท้าทายจะทำลายอำนาจตามกฎหมายหรืออำนาจอันชอบธรรมของระบอบ โดยการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไร้ความสามารถที่จะธำรงรักษากฎระเบียบเอาไว้ได้ และพยายามบีบบังคับให้รัฐบาลหันไปใช้อำนาจอย่างไม่เลือกปฏิบัติ และไม่มีความชอบธรรม ซึ่งบ่อยครั้งที่จะนำไปสู่การที่ผู้คนเริ่มถอดถอนการสนับสนุนรัฐบาล และฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ยึดมั่นในกติกากฎเกณฑ์ หรือหลักการของระบอบ จะมุ่งหมายไปที่การเชื่อมโยงการกระทำผิดกฎหมายของรัฐบาล กับกระบวนที่เป็นหนทางการถ่ายโอนอำนาจตามกฎหมาย อันได้แก่ การเลือกตั้ง โดยแสดงเจตนารมณ์ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง ในฐานะที่เป็นเครื่องมือถ่ายโอนอำนาจ ซึ่งอาจจะกลับคืนไปสู่รัฐบาลที่พวกตนต่อต้าน และในกระบวนการภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์เช่นนั้น  ความเป็นกลางของกองกำลังหรือบางภาคส่วนของกองกำลังดังกล่าวจึงเริ่มเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญยิ่ง

นอกจากนี้ Linz ยังอธิบายว่า เมื่อรัฐบาลไม่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายที่ตนมีอยู่ปลดอาวุธของทุกฝักฝ่าย ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองได้ อีกทั้งก็ยังไม่สามารถปกป้องทุกฝ่ายจากการใช้ความรุนแรงของฝ่ายอื่นๆ จากเงื่อนไขสถานการณ์เช่นว่านี้ Linz เห็นว่า เริ่มเป็นเรื่องง่ายที่ในสังคมจารีตที่ทหารจะถูกคาดหวัง ให้เข้ามาผ่อนปรนสถานการณ์ โดยการเข้าแทรกแซงทางการเมือง ขณะเดียวกัน Linz ยังชี้ว่า มีเกณฑ์การทดสอบขั้นพื้นฐานอีกอย่างหนึ่ง สำหรับการดูว่าใครเป็นฝ่ายที่ต้องการรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ นั่นคือการปฏิเสธการเรียกร้องให้ทหารออกมา แต่ Linz ก็เห็นว่า ในสถานการณ์ที่ไร้เสถียรภาพที่ผู้มีส่วนร่วมจำนวนมาก ในกระบวนการทางการเมืองถูกมองว่า ไม่ภักดีต่อระบอบประชาธิปไตย (หรือแม้ว่าจะภักดีก็ตาม) ฝ่ายที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยเอง มักจะมีแนวโน้มหรือถูกยั่วยุให้สถาปนาการติดต่อกับกองทัพ หรือฝักฝ่ายของกองทัพที่ใกล้ชิดกับพวกตน

นอกจากนี้ ยังมีอีกเกณฑ์หนึ่งที่ Linz กล่าวไว้ก็คือ การปฏิเสธความชอบธรรมต่อฝ่ายที่อ้างว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมที่จงรักภักดี ต่อระบอบหรือพรรคที่มีสิทธิ์ในการปกครอง อันเนื่องมาจากการที่ฝ่ายนี้มาจากการเลือกตั้ง

ตัวอย่างหนึ่งในกรณีนี้คือ “retrainmiento”  อันเป็นแบบแผนของฝ่ายค้านในการต่อสู้ทางการเมืองในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา และแนวสเปน นั่นคือการถอนตัวจากฝ่ายนิติบัญญัติและปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในการอภิปรายในรัฐสภาหรือในการเลือกตั้งเสรี อันจะส่งผลลดทอนความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม            ขณะเดียวกัน การใช้การขับเคลื่อนมวลชนกดดันชุมนุมประท้วงต่อต้าน เพื่อสร้างปัญหาให้กับการบริหารงานของรัฐบาล ก็ถือว่าเป็นดัชนีบ่งบอกความไม่จงรักภักดีต่อระบอบได้อีกดัชนีหนึ่ง แต่กระนั้น การกระทำดังกล่าวใช่ว่าจะปลอดความคลุมเครือ เพราะฝ่ายที่สนับสนุนระบบเอง ก็อาจจะหันไปใช้กลวิธีเช่นเดียวกันนี้ เมื่อพวกเขารู้สึกว่าไม่มีโอกาสสำหรับการแข่งขันที่เป็นธรรม และเปิดกว้างในการเลือกตั้ง  กลุ่มหรือพรรคฝักฝ่ายที่สนับสนุนระบบ เมื่อต้องเผชิญกับการยึดกุมอำนาจที่เป็นทางการตามกฎหมาย ก็จะใช้พฤติกรรมเช่นเดียวกันนี้ เป็นหนทางสุดท้ายในการปกป้องระบบ และในกรณีดังกล่าวนี้ จึงยากที่จะตัดสินประเมินพฤติกรรมดังกล่าวนี้ได้                                        

สุดท้าย Linz ได้ให้ข้อสังเกตที่แหลมคมว่า เสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลเสมอไป การเปลี่ยนแปลงหรือการคงอยู่ของรัฐบาล หากดำเนินไปภายใต้กติกาที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ย่อมถือว่าสังคมนั้นมีเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมือง และหากทั้งฝ่ายที่มีอำนาจและฝ่ายที่ต่อต้าน ต่างมีความยึดมั่นในหลักการระเบียบกติกาของระบอบการปกครองที่ดำรงอยู่ แต่ถ้าเกิดมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย ต่างดำเนินการทางการเมืองใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามรักษาหรือเปลี่ยนแปลงการเข้าสู่อำนาจ - การรักษาอำนาจ และการขยายอำนาจ โดยไม่ยอมรับการยึดมั่นในกติกาที่เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่าย นั่นย่อมเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความไร้เสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองในสังคมนั้น ซึ่งอาจนำไปสู่สภาวะไร้ระเบียบ เกิดจลาจลจนถึงสงครามกลางเมืองได้ในที่สุด หากไม่สามารถสร้างความยอมรับยึดมั่นในกติกาหรือหลักการร่วมกัน อันได้แก่ นัยความหมายของระบอบการปกครองและรัฐธรรมนูญ

(ส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุน จากโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2557 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (WCU-071-HS-57)