การทูตเรือดำน้ำ

การทูตเรือดำน้ำ

การเฉลิมฉลองสัมพันธ์ไทย-จีน 40 ปี ดำเนินไปด้วยความคึกคักยิ่ง ในห้วงเวลานี้ ผู้นำสองชาติไปมาหาสู่กันบ่อยมาก

 แถมกองทัพเรือเสนอแผนซื้อ เรือดำน้ำจีน ผ่านคณะรัฐมนตรีเงียบๆเรียบร้อยโรงเรียนป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

ภาพประวัติศาสตร์ 1 ก.ค.2518 โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีน และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทย ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยยกคุณงามความดีให้กับ หม่อมคึกฤทธิ์ ผู้แหวกม่านไม้ไผ่ในสถานการณ์พิเศษ

อันที่จริง รัฐไทยได้พยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย-จีน มาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยการส่ง “คณะทูตปิงปอง” ของไทยเดินทางไปจีนตามคำเชิญของสหภาพปิงปองแห่งเอเชีย เมื่อ 30 ส.ค. -7 ก.ย.2515

หนึ่งในรายชื่อคณะปิงปองของไทย ยังมี ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา ซึ่งขณะนั้นเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจการคลัง และอุตสาหกรรม แห่งรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร

ดังที่ทราบกัน ในยุคสงครามเย็น เป็นการต่อสู้ “โลกเสรี” กับ “โลกคอมมิวนิสต์” แต่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ยังแยกออกเป็น 2 ค่ายคือ ค่ายจีน “ม่านไม้ไผ่” กับค่ายโซเวียต “ม่านเหล็ก”

ปี 2514 สหรัฐอเมริกาที่ติดหล่มสงครามในเวียดนาม ได้ลดการให้ความช่วยเหลือแก่เวียดนามใต้ และหันมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนได้เป็นผลสำเร็จ จึงทำให้ไทยต้องหันมาทบทวนบทบาทใหม่ของจีนในเวทีโลก ตลอดจนปรับท่าทีและนโยบายต่างประเทศที่เคยมีต่อจีน

การทูตปิงปอง จึงเป็นปฐมบทของการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-จีน แต่ยังไม่บรรลุผล ก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ส่งผลให้ “จอมพลถนอม” ลาออกจากนายกรัฐมนตรี จนกระทั่ง มีการเลือกตั้งทั่วไป และมีการจัดตั้งรัฐบาลผสม 11 พรรค นำโดย “หม่อมคึกฤทธิ์” จึงมีการสานต่อการเจรจาไทย-จีน

สถานการณ์รอบบ้านเราเวลานั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในกัมพูชา และเวียดนาม พร้อมกับการถอนตัวออกจากอินโดจีนของกองทัพสหรัฐ ตามมาด้วยการตั้งรัฐบาลผสม 2 ฝ่ายในลาว เค้าลางแห่งความยุ่งยากมาถึงเมืองไทยแล้ว

รัฐบาลหม่อมคึกฤทธิ์จึงต้องเร่งเปิดการเจรจาทางการทูตกับ “รัฐบาลปักกิ่ง” ขณะเดียวกัน พรรคคอมมิวนิสต์จีน ส่งสัญญาณไม่ไว้ใจพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ที่ได้รับการหนุนช่วยจากพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต

ในที่สุด จีนเปิดม่านไม้ไผ่ต้อนรับ “หม่อมคึกฤทธิ์” อย่างยิ่งใหญ่ ท่ามกลางความตื่นเต้นดีใจของคนไทยเชื้อสายจีน ก็มี “คนในกองทัพ” ออกอาการไม่พอใจการฟื้นสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน จึงมีปฏิกิริยาจาก “กลุ่มมวลชน” สายอนุรักษนิยม ที่โจมตี “หม่อมคึกฤทธิ์” ว่า เป็นสมุนประธานเหมา

ระหว่างปี 2518-2519 คนไทยหวาดกลัว “ภัยคอมมิวนิสต์” และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลผสม 11 พรรคไปไม่รอด เมื่อ “คนในกองทัพ” บีบให้ “หม่อมคึกฤทธิ์” ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เพื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ แต่อาจารย์หม่อมเลือกยุบสภาแทน

“พลังขวาจัด” ที่หวาดกลัวคอมมิวนิสต์ทั้งในกองทัพ และนอกกองทัพ ได้สร้างเงื่อนไขความรุนแรงอันนำไปสู่การนองเลือด 6 ตุลา และการรัฐประหารโดยคณะทหารสายอนุรักษนิยมสุดขั้ว

ปี 2522 สถานการณ์ภายนอกพลิกผัน กองทัพเวียดนามยึดพนมเปญ โค่นล้มรัฐบาลเขมรแดงที่จีนสนับสนุน จีนตกใจ ไทยตกใจยิ่งกว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น จึงส่ง “ทูตลับ” ไปเจรจากับจีน จนนำมาสู่ข้อตกลง “ไทยเปิดทางจีนช่วยเขมรแดง” และ “จีนเลิกหนุนช่วยคอมมิวนิสต์ไทย”

จากวันนั้นเป็นต้นมา สายสัมพันธ์ไทย-จีน ก็สนิทแน่นแฟ้น จนมาถึงยุค “การทูตเรือดำน้ำ”

คนไทยไม่ค่อยเรียนรู้ “อดีต” เพื่อรู้จัก “ปัจจุบัน” แต่นิยมแสดงความเห็นตาม “ความเชื่อ” และ “ความชอบ” โดยไม่ยอมศึกษาประวัติศาสตร์ มักเสพนิทาน “หลอกผู้ใหญ่” ในสื่อโซเชียล