การจัดสรรน้ำให้ได้ทั้งประสิทธิภาพและความเป็นธรรม
“น้ำ” ในแม่น้ำลำคลอง จัดเป็นสินค้าสาธารณะ (Public Goods) ที่คนทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตามความต้องการ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาความต้องการในการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น จากการขยายตัวของภาคการเกษตร และการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ประกอบกับปัญหาเรื่องมลภาวะจากการปล่อยทิ้งน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำลำคลองไม่ได้มีปริมาณเหลือกินเหลือใช้ดังเช่นที่ผ่านมา “น้ำ” ที่ใช้ประโยชน์ได้กลายเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่หายาก ต้องแย่งชิง และมีคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ
จากวิกฤตการณ์น้ำแล้งตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำในเขื่อนเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรเพียงแค่ 2.84 ล้านไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดกว่า 13 ล้านไร่
แน่นอนว่าจะมีเกษตรกรในพื้นที่การเกษตรอีกกว่า 10 ล้านไร่ ที่จะขาดน้ำสำหรับการเพาะปลูก
เมื่อน้ำไม่ได้มีมากพอกับความต้องการ คำถามก็คือ “ใคร?” ที่สมควรจะได้รับน้ำ และควรได้รับใน“ปริมาณเท่าใด?”
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่คำถามเหล่านี้ไม่เคยมีใครเป็นเจ้าภาพในการหาคำตอบ และด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ในหลายพื้นที่เกิด “ศึกชิงน้ำ” ระหว่างเกษตรกรต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีปากท้องของเกษตรกรและครอบครัวเป็นเดิมพัน
“คนกับน้ำ” นับเป็นประเด็นที่ทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความสนใจมาโดยตลอด และคำถามสำคัญข้อหนึ่ง ซึ่งส่งผลต่อความอยู่รอดของคนในฐานะผู้ที่ต้องอาศัยน้ำในการผลิตและการบริโภคก็คือ “คนจะใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการบริหารจัดการอย่างเป็นธรรมได้อย่างไร ท่ามกลางความขาดแคลน (Scarcity)?” และเพื่อหาคำตอบของคำถามดังกล่าว ทีดีอาร์ไอได้มีโครงการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำกลุ่มต่างๆ เพื่อจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่านี้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม
โครงการวิจัยนี้ได้เชิญกลุ่มเกษตรกรจากพื้นที่ภาคกลาง มาร่วมแสดงบทบาทสมมุติในแบบจำลอง ซึ่งสร้างขึ้นเลียนแบบพื้นที่การเกษตรจริง โดยเกษตรกรจะต้องสวมบทบาทเป็น “ชาวนา” ซึ่งมีพื้นที่นาสำหรับปลูกข้าวเป็นของตนเอง และใช้น้ำเป็นปัจจัยในการผลิต
ทั้งนี้ ชาวนาจะถูกสุ่มให้ไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ในแบบจำลอง (ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ) โดยชาวนาที่ถูกกำหนดบทบาทให้อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำจะเป็นกลุ่มที่ได้รับน้ำก่อน ซึ่งชาวนากลุ่มนี้สามารถร่วมกันตกลงกับสมาชิกในกลุ่มว่า จะกักเก็บน้ำไว้เพื่อใช้ในการเพาะปลูกปริมาณมากน้อยเพียงใด จากนั้นน้ำที่เหลือจะไหลไปสู่กลางน้ำ และปลายน้ำตามลำดับ และเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวนาตัดสินใจเสมือนกับทำการเกษตรจริง ในตอนท้ายของการทดลอง ชาวนาจะได้รับเงินในจำนวนเท่ากับมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตได้ตลอดการทดลอง ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
โดยในการทดลองแต่ละรอบ หรือแต่ละ “ปีการเพาะปลูก” จะแบ่งออกเป็น 2 ฤดู เริ่มจากฤดูฝน ซึ่งมีปริมาณน้ำถูกปล่อยออกมามากและเพียงพอสำหรับใช้ในการเพาะปลูก ตามด้วยฤดูแล้งซึ่งมีปริมาณน้ำถูกปล่อยออกมาน้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ทั้งนี้ ในแต่ละปีนั้นจะกำหนดเงื่อนไขของสถานการณ์ (Treatment) ที่แตกต่างกัน เพื่อศึกษาว่าสถานการณ์ใดสามารถทำให้ชาวนาในแต่ละพื้นที่ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการจัดสรรอย่างเป็นธรรมมากที่สุด โดย สถานการณ์ที่ 1 กำหนดให้ชาวนากักเก็บน้ำเพื่อทำการเกษตรตามปกติ โดยไม่มีการพูดคุยกันระหว่าง ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ (Control Treatment) ในขณะที่สถานการณ์ที่ 2 กำหนดให้ชาวนากลุ่มต่างๆ ทั้งต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ สามารถเจรจาต่อรองกัน (Negotiation Treatment) เพื่อตกลงเรื่องปริมาณน้ำที่กลุ่มต่างๆ ต้องการกักไว้ ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งก่อนที่จะมีการปล่อยน้ำ
ผลจากการทดลองพบว่า ในสถานการณ์ที่มีการเจรจาต่อรอง ชาวนาสามารถผลิตข้าวได้มูลค่ารวมกันสูงกว่าสถานการณ์ที่ไม่มีการเจรจาต่อรอง ภายใต้ทรัพยากรน้ำปริมาณเท่ากัน ซึ่งหมายความว่าชาวนาใช้น้ำได้มีประสิทธิภาพมากกว่า หากมีการเจรจาต่อรองกัน
นอกจากนี้ การเจรจาระหว่างชาวนาต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ยังเป็นพื้นฐานสำคัญนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรม เนื่องจากชาวนาที่อยู่ในพื้นที่ท้ายน้ำซึ่งมีความเสียเปรียบด้านทำเลที่ตั้ง จะมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชาวนาต้นน้ำและกลางน้ำ
ผลการศึกษาพบว่าในสถานการณ์ที่มีการเจรจา ชาวนาที่อยู่ปลายน้ำจะมีรายได้จากการปลูกข้าวสูงขึ้นจนใกล้เคียงกับชาวนาที่อยู่ต้นน้ำและกลางน้ำ นั้นหมายความว่าการเจรจาระหว่างชาวนาช่วยสร้างความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรน้ำระหว่างลุ่มน้ำได้
ดังนั้น รัฐบาลควรมีกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรจากต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ สามารถเจรจาต่อรองเรื่องน้ำ และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำด้วยตนเอง ซึ่งในปัจจุบันมีหลายพื้นที่ๆ ใช้แนวทางดังกล่าว
ยกตัวอย่างเช่นพื้นที่ “เขื่อนกระเสียว” จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งนับเป็นตัวอย่างที่ดีของการบริหารจัดการโดยเกษตรกรผู้ใช้น้ำ “ตัวจริง” ในขณะที่บางพื้นที่ การบริหารจัดการน้ำยังคงเป็นอำนาจหน้าที่ของทางราชการ หรือผู้มีตำแหน่งทางปกครองซึ่งไม่สามารถการันตีได้ว่าการจัดสรรทรัพยากรน้ำจะมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
--------------
ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร, อัครนัย ขวัญอยู่