การทูตโยคะ (Yoga Diplomacy) ของอินเดีย

การทูตโยคะ (Yoga Diplomacy) ของอินเดีย

เมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ 21 มิ.ย.2558 ที่ผ่านมา ที่กรุงนิวเดลีของอินเดีย มีการจัดงานยิ่งใหญ่

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการที่สหประชาชาติประกาศให้เป็นวันโยคะสากล (International Day of Yoga) ตามมติของสมัชชาสหประชาติที่ 69/131 ซึ่งได้รับการรับรองอย่างท่วมท้นโดย 177 ประเทศ จากสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศทั่วโลก เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2557 (ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ร่วมอุปถัมภ์ข้อเสนอของอินเดียนี้ด้วย)

มติดังกล่าวเป็นความพยายามของอินเดียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่เสนอให้ประเทศต่างๆ เห็นความสำคัญและประโยชน์ของโยคะ และให้การยอมรับในฐานะเป็นศาสตร์สากลเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษชาติ แต่เพิ่งจะมาสำเร็จเอาในช่วงของนายกรัฐมนตรีโมดี ซึ่งก็เป็นผู้ที่ปฏิบัติโยคะทุกวัน

กระทรวงการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย (Ministry of Ayush) ซึ่งนายโมดีตั้งขึ้นเมื่อเดือน พ.ย.2557 เป็นผู้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นที่ถนนราชดำเนิน (Rajpath) ของกรุงนิวเดลี ซึ่งปกติก็ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมสำคัญๆ ของประเทศ ใช้งบประมาณไปกว่า 300 ล้านรูปี (ประมาณ 150 ล้านบาท) และได้รับการตอบรับอย่างดี มีผู้เข้าร่วม 35,985 คน ซึ่งรวมถึงนายโมดี คณะรัฐมนตรี บุคคลระดับสูง คณะทูตานุทูตและแขกวีไอพี ใช้พื้นที่ของถนนราชดำเนินยาว 2 กม.ปูพรมเพื่อวางเสื่อยางสำหรับปฏิบัติโยคะ ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กว่า 5,000 นาย รักษาความปลอดภัยเต็มที่

นอกจากนี้ งานนี้ยังได้รับการรับรองสถิติโดยนิตยสารกินเนสส์ (Guinness Book of World Record) ว่าเป็นกิจกรรมโยคะที่มีผู้เข้าร่วมพร้อมกันมากที่สุดในโลก ผู้เข้าร่วมงานต่างก็แฮปปี้ เพราะได้รับแจกเสื้อยืดและเสื่อยางให้กลับไปเล่นโยคะต่อที่บ้าน

รัฐบาลอินเดียยังสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมโยคะพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่ทางเหนือสุดมีการจัดบริหารโยคะ โดยหน่วยทหารของอินเดียบนธารน้ำแข็งไซเชน (Sichen Glacier) บนเทือกเขาหิมาลัยในรัฐจัมมู-แคชเมียร์ ชายแดนที่มีข้อพิพาทกับจีน จนถึงทางใต้บนเรือบรรทุกเครื่องบินวิรัติ (INS Viraat) ของอินเดียที่ลอยลำอยู่นอกชายฝั่งเมืองมุมไบ ในเรือนจำกลางทหารของกรุงนิวเดลี ก็มีนักโทษเข้าร่วมกว่า 10,000 คน ในกรุงเทพฯ ผมทราบมาว่ามีกิจกรรมโยคะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในเมืองต่างๆ ของโลกก็มีการจัดกิจกรรมโยคะในช่วงเช้าวันเดียวกัน สื่อมวลชนอินเดียคาดว่าน่าจะมีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก ในเช้าวันนั้น

หลังจบกายบริหารโยคะ ซึ่งนำโดยครูจากสถาบันโยคะแห่งชาติ (Moraji Desai National Institute of Yoga) นายโมดีก็ได้กล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับความสำคัญของโยคะ และการสนับสนุนให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพแบบองค์รวม ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประชาชน ปิดท้ายรายการด้วยการเปิดตัวแสตมป์ที่ระลึกราคา 5 รูปี และเหรียญกษาปณ์ราคา 10 และ 100 รูปี

โยคะ (Yoga) มาจากคำภาษาสันสฤตว่า ยุจ (Yuj) แปลว่า การเชื่อมต่อกัน (Joining) หรือรวมตัวกัน (Unite) ดังนั้น ศาสตร์ของโยคะจึงหมายถึง การรวมเอาทั้งร่างกายและจิตใจมาเป็นหนึ่งเดียวกัน

ไม่มีใครทราบชัดเจนว่า โยคะมีความเป็นมาอย่างไร แต่เชื่อกันว่ากำเนิดขึ้นในดินแดนชมพูทวีปนี้ เมื่อกว่า 3,000 ปีก่อน และมีหลักฐานที่ชัดเจนเมื่อมหาฤๅษีชื่อ ปะตันชลี (Patanjali) ซึ่งมีชีวิตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1 (แต่บางตำรากล่าวว่ามีชีวิตอยู่ในช่วงสมัยเดียวกับพระพุทธเจ้า) เป็นผู้รวบรวมและจัดหมวดหมู่พระสูตรต่างๆ มาเป็นศาสตร์หรือตำราโยคะ (Yoga Sutras of Patanjali) ประกอบด้วยท่ากายบริหารโยคะกว่า 196 พระสูตร หลังจากนั้นก็มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกระทั่งในช่วงคริตส์ศตวรรษที่ 19 จึงเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่ชาวตะวันตก เมื่อสวามี วิเวกอนันดา (Swami Vivekananda) นักบวชของศาสนาฮินดู ซึ่งมีชีวิตระหว่างปี 2406-2445 นำปรัชญาของฮินดูรวมทั้งกายบริหารโยคะไปเผยแพร่ในสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในปี 2436 ในการประชุมสภาศาสนาของโลก (Parliament of the Worlds’ Religions) และต่อมาก็ไปเผยแพร่ในยุโรป เมื่อกลับมาถึงอินเดีย สวามี วิเวกอนันดา ก็ได้ก่อตั้งวัดรามากฤษณะ (Ramakrisna Mission) ซึ่งตั้งตามชื่ออาจารย์หรือ Guru ของสวามี วิเวกอนันดา นั่นเอง เพื่อเผยแพร่ปรัชญาและศาสนาฮินดู นายกโมดีเองก็เป็นผู้หนึ่งที่เลื่อมใสในวัดฮินดูแห่งนี้

ศาสตร์โยคะได้รับการยอมรับจากชาวต่างชาติจำนวนมาก แต่ก็มิได้หมายความว่าชาวอินเดียทั้งหมดจะยอมรับด้วย มีการตอบโต้ไปมาทางปรัชญาความคิดด้านศาสนาของแต่ละฝ่าย ผู้นำศาสนาอิสลามในอินเดียบางฝ่ายประกาศไม่ยอมรับโยคะ เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาฮินดู โดยเฉพาะท่าสุริยะนมัสการ ซึ่งถือเป็นการบูชาพระอาทิตย์

ดังนั้น ชาวมุสลิมจึงไม่ควรรับเอาท่ากายบริหารโยคะ เพราะขัดกับคำสั่งสอนที่ว่าชาวมุสลิมควรกราบไหว้บูชาพระอัลเลาะห์ ซึ่งเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีพระเจ้าอื่นใดอีกแล้ว ในขณะที่หลายฝ่ายก็ออกมาแย้ง โดยเฉพาะนายโอโช (Osho) นักคิดนักเขียนที่มีชื่อเสียงของอินเดีย ได้กล่าวเปรียบเทียบว่า โยคะเป็นศาสตร์ มิใช่เรื่องของความเชื่อหรือเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาใดแม้กระทั่งฮินดู เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ ก็มิได้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคริสต์ศาสนาของชาวตะวันตก เพียงแต่โยคะบังเอิญกำเนิดในชมพูทวีป และก็มีวิวัฒนาการในตัวเองมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น โยคะจึงเป็นเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ที่ทุกคนสามารถนำเอาไปใช้ปฏิบัติใช้ประโยชน์ได้

ในที่สุดสังคมอินเดียก็มีการประนีประนอม ในงานที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ก็ได้ตัดเอาท่าสุริยะนมัสการออก หรือแม้กระทั่งไม่ต้องมีการกล่าวคำว่า โอม () เพื่อมิให้สะกิดใจผู้ที่มิได้นับถือศาสนาฮินดู

ต้องยอมรับว่านายโมดีประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการนำเอาโยคะซึ่งเป็นศาสตร์อันมีคุณค่าที่อินเดียได้สร้างไว้ให้กับชาวโลก มาเป็นเครื่องมือทางการทูตในการสร้างมิตร ปิดศัตรู หรือที่บางคนเรียกว่า อำนาจละมุน (Soft Power) เพื่อสร้างความนิยมยอมรับในวัฒนธรรมของอินเดียโดยไม่ต้องประกาศ ซึ่งโลกปัจจุบันนี้ ทุกประเทศต่างก็พยายามสร้างแบรนด์หรือความนิยมชมชอบให้เกิดขึ้นกับประเทศของตนเอง เพื่อที่จะนำไปสู่การยอมรับให้ความสนับสนุนค่านิยม หรือแม้กระทั่งกลายเป็นลูกค้าที่ดีสำหรับสินค้าและบริการที่ผลิตมาจากประเทศของตน

อินเดียภายใต้นายกรัฐมนตรีโมดี กำลังพลิกกลับมาแสดงให้ชาวโลกเห็นถึงภูมิปัญญา วิทยาการและค่านิยมของตนในแบบละมุนละม่อม ไม่หวือหวามาก และไม่ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านตกใจหวาดกลัว