ขบวนการนักศึกษา

ขบวนการนักศึกษา

ทันทีที่มีการจับกุม “นักศึกษา” และ “นักกิจกรรม” รวม 14 คน ได้มีปฏิกิริยาผ่านสื่อโซเชียลอย่างหลากหลาย

 มีทั้งให้กำลังนักศึกษา และด่าทอนักศึกษา

บ้างก็วิเคราะห์ว่า “จับนักศึกษา” แล้วจะเกิดการลุกฮือของนักศึกษาและประชาชนทั่วประเทศ เหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งในข้อเท็จจริง ได้หาเป็นเช่นนั้นไม่?

เมื่อไม่นานมานี้ นักวิชาการท่านหนึ่งเคยศึกษาเรื่องขบวนการนักศึกษายุค 14 ตุลา ด้วยการมองผ่านแว่นโครงสร้างเศรษฐกิจระดับโลก ได้ค้นพบว่า พลังนักศึกษาจึงไม่ใช่แค่ “คนหนุ่มสาว” ที่รับรู้ทฤษฎีตะวันตกและกระหายจะเปลี่ยนแปลงโลกตามตำรา ขบวนการนักศึกษาเองก็ไม่ได้เป็นอิสระ มีเฉดสีที่มากมายในขบวนการ

ทั้งนักศึกษาที่อิงกับสถาบันกษัตริย์, นักศึกษาแนวเสรีนิยม ที่ได้รับการสนับสนุนจาก CIA (หน่วยสืบราชการลับสหรัฐฯ) ,กลุ่มจัดตั้งของทหารฝ่ายตรงข้ามจอมพลถนอม-จอมพลประภาส และกลุ่มนักศึกษาเอียงซ้าย ที่มีการจัดตั้งจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้เขียนหนังสือ “และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา” ซึ่งจากการศึกษาค้นคว้าอย่างรอบด้าน เขาจึงสรุปได้ว่า

  “กรณี 14 ตุลาฯ ยิ่งผู้เขียนศึกษาค้นคว้ามากเท่าไร ก็ยิ่งพบความซับซ้อนสับสน ลักลั่น ย้อนแย้ง และอีเหละเขะขะของประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ มากขึ้น ภาพของการผสมปนเปของวาทกรรมต่างๆ ที่ขัดกัน (กษัตริย์นิยม เสรีนิยม ประชาธิปไตยซ้ายเก่า ซ้ายใหม่ ชาตินิยม) แต่มารวมอยู่ด้วยกันได้ในขบวนการนักศึกษาปัญญาชนในช่วงก่อน 14 ตุลาฯ

ดังนั้น การสรุปง่ายๆว่า 14 ตุลา เป็นการต่อสู้ของพลังนักศึกษาผู้บริสุทธิ์ และมีศรัทธาในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ได้ลุกขึ้นมาขับไล่เผด็จการ ดูจะหยาบเกินไป และไม่ตอบโจทย์การศึกษาประวัติศาสตร์ในทัศนะใหม่

แม้แต่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็เคยยอมรับว่า “ขบวนการนักศึกษา” เมื่อ 40 ปีที่แล้ว มีความแตกต่าง อาจจะแบ่งได้ถึง 5 กระแส

    กระแสวรรณกรรม-แสวงหา ได้แก่กลุ่มนักเขียนที่ได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมตะวันตกกระแสหลัก คือมุ่งหวังเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งกระแสกลุ่มอิสระ คือพวกปัญญาชนนักคิด ที่ชอบอ่านหนังสือปรัชญาการเมืองกระแสเสรีนิยม คือพวกที่รักเพื่อนพ้องกระแสพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีน ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากครอบครัว

  ดังนั้น ประกายไฟ 14 ตุลาที่ จุดติดจึงมิใช่แค่ตำรวจจับธีรยุทธ บุญมี กับพวก หากยังต้องอาศัยเงื่อนไขของสังคม เศรษฐกิจและการเมืองในเวลานั้น

  ทำนองเดียวกัน การจับกุม “นักศึกษา-นักกิจกรรม” ในวันนี้ สภาพทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองก็แตกต่างจาก 40 ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรหยามหมิ่นจิตใจของ “นักอุดมคติหนุ่มสาว” ที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย และความเป็นธรรมเพื่อประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อชนชั้นนำกลุ่มใด

ไม่ว่ายุคใดสมัยใด “นักอุดมคติ” ยังปรากฏตัวให้เห็น นับแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ล่วงผ่านมาถึง 14 ตุลาคม 2516 และใน พ.ศ.ปัจจุบัน

  คนหนุ่มสาวในนาม กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เรามีคนหนุ่มสาวที่เร่าร้อน รุ่นแล้วรุ่นเล่า ซึ่งยืนหยัดต่อสู้ด้วยความเชื่อมั่น บนเส้นทางสายประชาธิปไตย