งัด‘ละคร’เรียกเรทติ้ง ศึกทีวีดิจิทัลครึ่งปีหลัง

งัด‘ละคร’เรียกเรทติ้ง ศึกทีวีดิจิทัลครึ่งปีหลัง

การขอเลิกใบอนุญาตและการประกอบกิจการ “ทีวีดิจิทัล” ของ “ไทยทีวี” ที่ยังต้องรอเคลียร์ปัญหาการจ่ายเงินประมูลอีก 5 งวดที่เหลือ

มูลค่ากว่า 1,600 ล้านบาท กับ กสทช. ท้ายที่สุดเชื่อว่าทางออกของกรณีนี้คงต้องไปจบที่ศาล

หลังอุตสาหกรรมโทรทัศน์ต้องเผชิญกับคำถามว่าจะไป รอด หรือ ร่วง และการคาดการณ์ล่วงหน้าของช่องทีวี ที่มีโอกาสได้ไปต่อตลอดอายุสัญญา 15 ปี เมื่อ“ไทยทีวี” ถอดใจ ไม่ทำต่อเป็นรายแรก

อีกฟากของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่จ่ายเงินค่าประมูลงวดที่2 เรียบร้อย แม้บางช่องจะมีคำถามต่อนโยบายการกำกับดูแลของ กสทช. ว่าได้ปฏิบัติตามแผนก่อนประมูลหรือไม่ แต่เมื่อธุรกิจยังต้องเดินหน้าต่อ... ภารกิจสำคัญจึงอยู่ที่การพัฒนาเนื้อหารายการ สร้างเรทติ้งผู้ชม เพื่อช่วงชิงเม็ดเงินโฆษณา ที่ปีนี้ภาพรวมอุตสาหกรรมไม่สวยหรู บรรดามีเดีย เอเยนซี ต่างฟันธงว่า ตลาดไม่มีกำลังซื้อ 

สรุปได้ว่าสิ้นปีนี้อุตสาหกรรมโฆษณา ไม่โต ดีที่สุดคงทำได้เท่าปีก่อนที่มีมูลค่า 1.35 แสนล้านบาท โดยโฆษณาผ่าน สื่อทีวี ทุกประเภททั้ง ทีวีอนาล็อก เคเบิล/ดาวเทียม และทีวีดิจิทัล รวมอยู่ที่ราว 8 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน แม้จะมี “ทีวีดิจิทัล” ช่องใหม่เพิ่มขึ้น แต่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว งบโฆษณาของสินค้าจึงใช้จ่ายเท่าเดิม แต่มี ตัวเลือก ช่องทีวีเพิ่มขึ้น

ภาวะตลาดดังกล่าวกลุ่มสื่อทีวี ทั้งฟรีทีวีรายเดิมและทีวีดิจิทัล ช่องใหม่ ที่ตัดสินใจเดินหน้าสู้ไม่ถอย ต่างเตรียมเข็นรายการเด็ด มาช่วงชิงเม็ดเงินโฆษณาทีวีในครึ่งปีหลัง

ท่ามกลางจำนวนช่องฟรีทีวีที่เพิ่มขึ้น ผู้ชมกระจายตัว คอนเทนท์ทรงพลังที่สามารถเรียกเรทติ้ง สองหลัก หากถูกคอผู้ชม ยังคงเป็น ละครและกีฬา ดูได้จากการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลของทีมชาติไทยทุกนัดในซีเกมส์ที่ผ่านมา มีเรทติ้ง 10-12 เทียบเท่าละครไพรม์ไทม์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด แต่รายการกีฬาที่คนไทยชื่นชอบ ลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่อยู่ในมือฟรีทีวีเดิมและเพย์ทีวีทั้งสิ้น

สนามแข่งขันสร้างเรทติ้งจึงโฟกัสมาที่ ละคร ที่แม้ปัจจุบันจะมีผู้เล่นรายใหญ่ “ช่อง3” และ “ช่อง7” ครองตลาดอยู่แล้ว และทั้งคู่ต่างโชว์ผังละครครึ่งปีหลังให้บรรดามีเดีย เอเยนซี ผู้ถือเงินโฆษณาได้เห็นล่วงหน้ากันไปแล้ว ...และต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทุ่มงบสร้างอลังการ ขนแม่เหล็กดารา เบอร์ต้นๆ ลงจอกันเพียบ ครึ่งปีหลังทั้ง 2 ช่อง ส่งละครลงผังอีกช่องละ 16-20 เรื่อง เป้าหมายหลัก“รักษา”เรทติ้งผู้ชมละคร ที่เป็นแหล่งรายได้หลักไว้ให้ได้!! หลังจากช่วงเปิดตัวทีวีดิจิทัลปีก่อน ทำให้เกิดภาวะผู้ชมกระจายตัว เรทติ้งฟรีทีวีเดิมลดลง บรรดาเอเยนซีผู้ลงโฆษณ จึงทวงถามเรื่องความคุ้มค่าการใช้เงิน

ฟากทีวีดิจิทัล ที่ชู“ละคร” เป็นเรือธงชัดเจนในขณะนี้ คือ ช่อง8” อาร์เอส แลช่องวัน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่มีเรทติ้งผู้นำในกลุ่มทีวีดิจิทัล ขณะที่ช่องอื่นๆ เริ่มส่งคอนเทนท์ละครและซิทคอม ลงจอตั้งแต่ครึ่งปีแรก เช่น ไทยรัฐทีวี พีพีทีวี จีเอ็มเอ็ม แชนแนล และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะการสำรวจพฤติกรรมผู้ชมต่อการรับชมทีวี “ละคร” ยังเป็นรายการที่คนไทยชื่นชอบสูงสุด

แม้ว่า“ละคร” จะมีฟรีทีวีเจ้าใหญ่ครองตลาดอยู่แล้ว อีกทั้งเป็นคอนเทนท์ที่มีต้นทุนสูง การผลิตต่อตอนอยู่ที่ราว 1-2 ล้านบาท ขณะที่รายการวาไรตี้ เรียลลิตี้ เกมโชว์ สารคดีคุณภาพดี ก็มีต้นทุนใกล้เคียงกันหรือต่ำกว่าไม่มาก แต่ในมุมเจ้าของช่องทีวี มองว่าละคร มีโอกาสเข้าถึงตลาดแมสและสร้างเรทติ้งได้สูงกว่า อีกทั้งสามารถนำคอนเทนท์มาออกอากาศซ้ำ ขายลิขสิทธิ์ กระทั่งจำหน่ายในรูปแบบดีวีดี และเห็นว่าการนำเสนอละครที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ยังมีโอกาสสร้างฐานผู้ชมในยุคที่มีตัวเลือกหลากหลาย ดังเช่น จีทีเอช มีลายเซ็นต์ชัดเจนในกลุ่มซีรีส์สำหรับวัยรุ่น

เมื่อเป้าหมายของทีวี คือเรทติ้ง ...ละคร จึงกลายเป็นคอนเทนท์ความหวังของทุกช่อง ในสมรภูมิทีวีดิจิทัลหลังจากนี้