“อยู่ให้ได้-ไปให้ถึง” ยุติอนาล็อก (1) :

“อยู่ให้ได้-ไปให้ถึง” ยุติอนาล็อก (1) :

“วาระแห่งชาติ” ถนนสู่ทีวีดิจิทัล

 วาระประชุมที่มีความสำคัญอย่างมาก ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในวันที่ 15 มิ.ย.เรื่องข้อเสนอแผนการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบอนาล็อก กลับได้รับความสนใจจากสื่อและคนในวงการโทรทัศน์น้อยกว่า อารมณ์ดราม่าวิวาทะระหว่างกสท.,ธนาคารกรุงเทพและเจ้าของช่องไทยทีวี-โลกาว่าด้วยการยึดเงินแบงก์การันตีประมาณ 1,600 ล้านบาท

ไม่แปลกใจเมื่อสแกนบนหน้าสื่อหนังสือพิมพ์รายงาน เรื่องแผนการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ ในระบบอนาล็อกของสถานีโทรทัศน์ 4 ช่องหลัก น้อยกว่าวิวาทะยึดแบงก์การันตีของช่องไทยทีวี-โลกา

แต่แปลกใจที่ผู้คนในวงการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับวาระประชุมนี้มากนัก คงเป็นเพราะวัน ๆ ต้องจับจ้องกับสงครามการแข่งขันของทีวีดิจิทัล 24 ช่องที่เข้าสู่ขั้น“สงครามราคา” (Pricing War) ขั้นแตกหัก ถึงขั้นลูกค้าซื้อโฆษณา 1 นาทีเสนอแถมแบบไม่จำกัด กำขี้ดีกว่ากำตด ได้เงินค่าโฆษณากลับเข้ามาสถานีบ้างยังดีกว่าปล่อยให้เวลาออกอากาศออกไปเปล่าๆ

สถาบันการเงินที่ออกแบงก์การันตีให้กับช่องทีวีดิจิทัล 24 ช่องมีอยู่ 3 แห่งคือธนาคารกรุงเทพ 14 ช่อง วงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท, ธนาคารกสิกรไทย 8 ช่อง วงเงินประมาณ 9,000 ล้านบาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยา 2 ช่อง วงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท

อ่านจากคำแถลงของผู้บริหารธนาคารกรุงเทพแล้วคิดว่ายังอยู่ในขั้น“ปากแข็ง”ปลอบใจตัวเอง ยืนยันว่าลูกค้าช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมดยังไม่มีปัญหาผิดนัดชำระเงินกู้(คงจะจริงเพราะยังไม่ถึงเวลาชำระเงินกู้)

แต่ก็น่ายินดีที่ธนาคารกรุงเทพกับธนาคารกสิกรไทยที่เป็น 2 สถาบันการเงินใหญ่ที่ออกแบงก์การันตีให้ช่องทีวีดิจิทัลรวมกัน 22 ช่อง บอกว่าพร้อมจะให้การสนับสนุนลูกค้าทุกช่องให้อยู่รอดในท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง โดยหวังว่าในช่วง 3 ปีแรกย่อมเป็นปัญหาที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว

ผมยังมีความเชื่อว่าในที่สุดแล้วระบบการออกอากาศ ของโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลจะต้องเป็น “ระบบหลัก” ของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในประเทศไทยหลังระบบอนาล็อกยุติลงในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยมีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและเคเบิลทีวีเป็น“ระบบเสริม”หรือทางเลือก รวมทั้งการรับชมผ่านสื่อใหม่ออนไลน์ที่มีลักษณะคู่ขนานหรือควบคู่กันไป แบบ DUO/ Multiple Screen

แม้ว่าช่องทางรับชมโทรทัศน์ช่องหลัก ๆ ของคนไทยในปัจจุบัน ช่องทางหลักประมาณ 50% ผ่านทางจานดาวเทียมแบบ C-Band และ KU-Band , รองลงมาระบบอนาล็อก 20% และระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน, เคเบิลทีวีทางสายและทางดาวเทียม อย่างละประมาณ 10%

สิ่งที่ต้องช่วยกันผลักดันให้ระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน จะเข้าไปทดแทนระบบอนาล็อกที่มีแผนยุติการออกอากาศภายในปี 2561 ได้มากน้อยแค่ไหนและจะเข้าไปอยู่ในบ้านครัวเรือนไทยมากน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องช่วยกันระดมสมองและระดมพลังให้เป็นวาระแห่งชาติ

เพื่อทำให้การจัดสรรการใช้คลื่นความถี่สาธารณะสำหรับช่องทีวีดิจิทัล 24 ช่องเอกชนในระดับชาติ,ช่องทีวีดิจิทัลเพื่อบริการสาธารณะ 12 ช่องและอีก 12 ช่องในระดับแต่ละชุมชน (ใน 39 พื้นที่) เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่าเป็นประโยชน์กับสังคมมากที่สุดในระยะยาว

ปัจจุบันช่องทีวีดิจิทัลเพื่อบริการสาธารณะมีอยู่ 3 ช่องคือช่อง 5 (ประเภท 2 ที่โฆษณาคอมเมอร์เชียลได้),ช่องไทยพีบีเอส(มีกฎหมายพิเศษให้ได้เงินจากภาษีบาปปีละ 2,000 ล้านบาท) และช่องกรมประชาสัมพันธ์(อาศัยงบประมาณของรัฐ) ในวันที่ 1 ก.ค.นี้จะมีอีก 1 ช่องออกอากาศผ่านโครงข่ายทีวีดิจิทัลของบริษัทอสมท. คือช่องทีวีรัฐสภาที่ออกอากาศทางดาวเทียมมาหลายปีแล้ว

เท่ากับว่ายังเหลือใบอนุญาตช่องทีวีเพื่อบริการสาธารณะอีก 8 ช่องที่ความกระตือรือร้น“อยากได้-อยากมี”ของหน่วยราชการต่าง ๆ ดูถดถอยลดน้อยลงไปในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่เข้มงวดการใช้เงินงบประมาณมาก เพราะผู้บริหารกระทรวงต่าง ๆ คงจะตระหนักกันแล้วว่าการได้ใบอนุญาตช่องทีวีสาธารณะจะต้องมีภาระงบประมาณอุดหนุนในการดำเนินการให้อยู่รอดได้ ช่องละอย่างต่ำ 500-1,000 ล้านบาท

ซึ่งเมื่อช่องทีวีระบบอนาล็อกทั้งหมดยุติการออกอากาศ และคืนคลื่นความถี่ให้กสทช.แล้วจะนำมาใช้“อัพเกรด” ความคมชัดของช่องทีวีดิจิทัล แบบความคมชัดปกติ (Standard Definition) ให้เป็นความคมชัดสูง (High Definition) แล้วสามารถยกระดับไปถึงในระดับ 4K หรือ Ultra Definition ที่หลายประเทศที่ผ่านประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัลสำเร็จไปแล้ว ได้ก้าวไปอีกขั้นความคมชัดสูงมากๆ 4K

ผมอยากให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เหลียวมามองกระบวนการการเปลี่ยนผ่าน จากโทรทัศน์ระบบอนาล็อกสู่โทรทัศน์ดิจิทัล อย่างน้อยที่สุดทำได้ง่ายๆ กับช่องทีวีดิจิทัลเพื่อบริการสาธารณะอีก 8 ใบอนุญาต น่าจะลงไปตีกรอบกำหนดยุทธศาสตร์ทีวีดิจิทัลของประเทศ ผ่านกสท.เพื่อไม่ให้ออกใบอนุญาตแบบสะเปะสะปะอย่างที่ผ่านมา

ช่องทีวีเพื่อบริการสาธารณะที่น่าจะเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะจริงๆ เช่น ช่องเกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศและภัยพิบัติ , ช่องอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่ทราบว่ามีการรวมตัวกัน 33 มหาวิทยาลัยพร้อมจะเสนอกสท.แล้ว , ช่องข่าวภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารกับคนต่างชาติในประเทศไทยและนักท่องเที่ยว , ช่องเกี่ยวกับสุขภาพและสาธารณสุข , ช่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ

ไทม์ไลน์แผนการยุติออกอากาศในระบบอนาล็อกของช่อง 5,ช่อง 9 , ช่อง 11 และไทยพีบีเอสที่เสนอให้กสท.พิจารณาไปเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. วันสิ้นสุดที่ช้าที่สุดเป็นของบริษัทอสมท.วันที่ 16 ก.ค. 2561 หรืออีกประมาณ 3 ปีเท่านั้นเอง ในขณะที่ช่อง 5 กับช่องไทยพีบีเอสเสนอวันสิ้นสุด 16 มิ.ย.2561 และน่าสนใจวันสิ้นสุดของช่อง 11 ระบบอนาล็อกคือ 31 ธ.ค. 2560 ที่เร็วกว่าทุกช่อง

ส่วนการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของช่อง 7 น่าจะอยู่ในกรอบเวลาเดียวกับช่อง 5 รวมทั้งช่อง 3 ที่ยังมีอายุสัมปทานถึงวันที่ 24 มี.ค. 2563 ที่อสมท.คงจะต้องเจรจาขอให้ช่อง 3 ยุติสัญญาในวันเดียวกันกับอสมท.

วาระของกสท.ชุดนี้ยังเหลืออีกประมาณ 2 ปี 4 เดือนที่เป็นเวลาไล่เลี่ยกันกับวันยุติระบบอนาล็อก ควรจะต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาเป็นหลักในการผลักดันกระบวนการเปลี่ยนผ่านให้เดินไปตามกำหนดให้ได้ ขอร้องให้ลดการใช้ดุลยพินิจส่วนตัวลงไปในเรื่องต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความลำเอียงหรือล่อแหลมต่อการแสวงหาผลประโยชน์ของกรรมการบางคน

ยกตัวอย่างกรณีข้อเสนอของเลขากสทช.ให้ใช้มาตรา 44 แก้ไขกฎหมายกสทช.เพื่อให้ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเปลี่ยนมือได้ ถือเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เปรียบเสมือนเลือดออกทางนิ้วมือ แต่กลับใช้วิธีผ่าตัดหัวใจเพื่อเปลี่ยนเส้นเลือดใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ตามอำนาจและหน้าที่ของกสทช.มีอยู่เพียงพอในการอนุญาตให้ผู้ถือใบอนุญาตหาผู้ร่วมทุนเข้ามาถือหุ้นเพิ่มเติมได้ แต่เมื่อคราวช่อง LOCA เสนอขอเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ถือใบอนุญาตช่อง LOCA กลับไม่ได้รับอนุญาต จนทำให้แผนทางธุรกิจไม่บรรลุ ผู้สนใจลังเลแล้วล่าถอยไป

กสท.เป็นเจ้าภาพทำคลอดผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัล 24 ช่อง 17 บริษัทมาแล้ว ด้วยต้นทุนของผู้ประกอบการรวมกว่า 50,000 ล้านบาท ผ่อนชำระเงินให้กสท.ไปแล้วเกือบ 20,000 ล้านบาท ยังเหลือรอชำระอีก 4 งวดรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท

คำถามที่อยากจะฝากไปถึงกสท. และคณะกรรมการรดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่มีรองนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นประธานว่าพวกท่านจะทำอย่างไร ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลที่เป็นหัวใจสำคัญในการ“จ่ายเงิน”ที่เหลืออีก 4 งวด รวมประมาณ 30,000 ล้านบาท ด้วยความเชื่ออีกว่าจะเกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกสู่ทีวีดิจิทัลแบบ 100% จะมีใครยังมีลมหายใจไม่รวยริน ยังรักษาชีวิตให้ไปถึงวันยุติอนาล็อกช่วงกลางปี 2561 ได้ครบทุกช่อ