ประเทศไทยกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ (ตอน 6)

ประเทศไทยกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ (ตอน 6)

บทความฉบับที่แล้ว เราได้ศึกษาถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้หลักประกันและผู้รับหลักประกันไปแล้ว วันนี้เรามาต่อกันด้วยเรื่องของลำดับของบุริมสิทธิ

หรือสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนหลังระหว่างผู้รับหลักประกันกับเจ้าหนี้รายอื่นๆ กันต่อค่ะ

เรามาเริ่มจากหลักการก่อนว่า ตามมาตรา 29 ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกำหนดให้ผู้รับหลักประกันมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันก่อนเจ้าหนี้สามัญ และมาตรา 17 ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกำหนดว่า เมื่อเจ้าพนักงานทะเบียนรับจดทะเบียนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจแล้ว ให้ถือว่าผู้รับหลักประกันเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

เจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย หมายถึง “เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกันกับผู้จำนำ” ถ้าผู้เขียนอธิบายแบบง่าย ๆ ในทางกลับกัน เช่น นำที่ดินไปจำนองเป็นประกันหนี้ของบุคคลอื่น กรณีนี้เจ้าหนี้ที่รับจำนองไม่ถือเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย เพราะการจะเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายล้มละลายได้ ต้องเป็นการรับเอาหลักประกันที่เป็นทรัพย์สินของลูกหนี้โดยตรงเท่านั้น เป็นต้น

การลำดับการได้รับชำระหนี้ก่อนหลังของเจ้าหนี้ตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ กำหนดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับลำดับสิทธิการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้ดังนี้

(1) กรณีผู้รับหลักประกันตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมีมากกว่า 1 ราย ในที่นี้ ผู้เขียนไม่หมายความถึงกรณีที่มีเจ้าหนี้หลายรายปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ในธุรกรรมเดียวกัน เช่น การปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการใดโครงการหนึ่ง ที่มีผู้ให้กู้มากกว่า 1 ราย เพราะลักษณะดังกล่าวถือเป็นเจ้าหนี้ในลำดับเดียวกันอยู่แล้ว แต่ในกรณีนี้ผู้เขียนหมายถึง กรณีที่หากมีการนำทรัพย์สินเดียวกันตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจหลายราย ต่างธุรกรรมและต่างเวลากัน กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ กำหนดให้ถือลำดับผู้รับหลักประกันเรียงตามวันและเวลาที่ได้รับการจดทะเบียน โดยผู้รับหลักประกันที่ได้รับการจดทะเบียนก่อนมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อน ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 33 ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ

(2) กรณีที่นำทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจไปจำนองเป็นประกันหนี้ตามกฎหมายอื่น : ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเช่นนำเอาที่ดินหรือเครื่องจักรมาเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจแล้ว ต่อมานำเอาที่ดินหรือเครื่องจักรดังกล่าวไปจำนองเป็นหลักประกันสำหรับหนี้อื่นซึ่งต่างธุรกรรมกัน โดยเป็นการจำนองตาม ป.พ.พ. หรือตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร เป็นต้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 33 วรรคสอง ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกำหนดกรณีที่มีการนำทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ไปจำนองเป็นประกันหนี้ตามกฎหมายอื่น ให้ถือลำดับผู้รับหลักประกันและผู้รับจำนองตามกฎหมายอื่นเรียงตามวันและเวลาที่ได้รับการจดทะเบียน โดยกำหนดให้ผู้รับหลักประกันหรือผู้รับจำนองที่ได้รับการจดทะเบียนจำนองก่อนก็จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อน

(3) กรณีที่มีบุริมสิทธิขัดแย้งกับสิทธิตามสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ : ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า คำว่า “บุริมสิทธิ” ในที่นี้คือ สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ก่อน ดังนั้น หัวข้อศึกษาในส่วนนี้ จะไม่ได้กล่าวถึงลำดับการชำระหนี้ของเจ้าหนี้สามัญทั่วไป แต่จะเป็นลำดับการชำระหนี้กรณีที่มีเจ้าหนี้ที่มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ก่อนตามกฎหมายหลายราย โดยบทบัญญัติในมาตรา 36 ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกำหนดให้มีการลำดับหลักประกันดังนี้

กรณีที่ 1 : ในกรณีที่ทรัพย์สินเป็นสังหาริมทรัพย์ กำหนดให้ผู้รับหลักประกันมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกับผู้รับจำนำตามมาตรา 282 ของ ป.พ.พ. โดยมาตรา 282 ของ ป.พ.พ. กำหนดกรณีที่มีบุริมสิทธิแย้งกับสิทธิจำนำสังหาริมทรัพย์ กำหนดให้ผู้รับจำนำมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกับผู้ทรงบุริมสิทธิในลำดับที่หนึ่งตามมาตรา 728 ของ ป.พ.พ.กล่าวคือ กำหนดให้มีการลำดับบุริมสิทธิดังนี้ (ก) บุริมสิทธิในมูลเช่าอสังหาริมทรัพย์ พักอาศัยในโรงแรม และรับขน (ข) บุริมสิทธิในมูลรักษาสังหาริมทรัพย์ และ (ค) บุริมสิทธิในมูลซื้อขายสังหาริมทรัพย์ ค่าเมล็ดพันธุ์ ไม้พันธุ์ หรือปุ๋ย และค่าแรงงานกสิกรรมและอุตสาหกรรม ตามลำดับ

นอกจากนั้น ตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจยังได้กำหนดกรณีที่มีการจำนองสังหาริมทรัพย์ (เช่น การจำนองเครื่องจักร) ไว้ด้วยว่า ให้ผู้รับหลักประกันมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกับผู้รับจำนองตามมาตรา 287 ของ ป.พ.พ. กล่าวคือ หากมีการจดทะเบียนบุริมสิทธิตามมาตรา 285 ของ ป.พ.พ. (บุริมสิทธิในมูลรักษาอสังหาริมทรัพย์) และมาตรา 286 ของ ป.พ.พ. (บุริมสิทธิในมูลจ้างทำของซึ่งเป็นการงานที่ทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์) ไว้แล้ว บุริมสิทธิตามมาตรา 285 และมาตรา 286 ของ ป.พ.พ. ดังกล่าวอาจใช้ได้ก่อนสิทธิจำนอง

กรณีที่ 2 : ในกรณีที่ทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ ตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกำหนดให้ผู้รับหลักประกันมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกับผู้รับจำนองตามมาตรา 287 ซึ่งหลักการก็จะเป็นไปตามที่กล่าวไว้ในกรณีที่ 1 ข้างต้น

บทความฉบับนี้อาจมีเนื้อหาที่ผู้อ่านอาจต้องศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียด เนื่องจากมีการนำเอาบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. บางมาตรา รวมถึงสถานะของผู้รับหลักประกันที่กำหนดให้มีสถานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมาย ว่าด้วยการล้มละลายมาปรับใช้กับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจด้วย โดยผู้เขียนเข้าใจว่า เพื่อไม่ให้หลักการของลำดับการได้รับชำระหนี้ต่างไปจากหลักการทั่วไปตามที่ได้มีบัญญัติไว้แล้วใน ป.พ.พ.หรือตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลาย

ฉบับหน้าเรามาต่อกันด้วยเรื่องของการบังคับหลักประกันตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจโดยผู้เขียนจะได้กล่าวถึงการบังคับหลักประกันประเภททรัพย์สิน และการบังคับหลักประกันประเภทกิจการ แล้วพบกันฉบับหน้านะคะ

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่