เร่งประมูล 'เมกะโปรเจก' ก่อนรายเล็กสายป่านขาด

เร่งประมูล 'เมกะโปรเจก' ก่อนรายเล็กสายป่านขาด

ตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของไทย ระยะยาว ระหว่างปี 2558-2565 ประกอบด้วย หลายโครงการขนาดใหญ่

 (เมกะโปรเจก) ที่ต้องเดินหน้า เพื่อพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดย พล.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ย้ำว่า จะเร่งผลักดันการประมูลโครงการลงทุนหลายโครงการให้เกิดขึ้นในปีนี้

โดยกระทรวงคมนาคม ในฐานะแม่งานกำกับดูแลการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ได้กำหนดกรอบการประมูลโครงการรถไฟฟ้า และโครงการรถไฟทางคู่ ในปีนี้ รวม 5 โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 2.5  แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินลงทุนไม่น้อย ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วง “ครึ่งหลัง” ของปี หลังจากช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งบริษัทรับเหมารายใหญ่ บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า..

   แทบจะไม่มีโครงการประมูลงานรัฐออกมาให้เห็น ! 

    พวกเขา จึงต้องนั่ง กินบุญเก่า จากโครงการที่รอรับรู้รายได้ (แบ็กล็อก) ที่ตุนไว้ก่อนหน้านี้ และย้ำว่า หากโครงการขนาดใหญ่ ที่พวกเขาตั้งตารอ ถูกลากยาวออกไปอีก แบ็กล็อกที่เหลืออยู่อีก 2-3 ปีก็จะค่อยๆหมด หน้าตัก ถึงคราวต้องชักเนื้อ กระทบต่อ สภาพคล่องทางการเงิน กันละทีนี้

   ทว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน หากการประมูลโครงการรัฐ ล่าช้าออกไป ที่เห็นชัด คือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม หรือ เอสเอ็มอี หรือ “ผู้รับเหมาช่วง” (Subcontractors) ที่ขณะนี้อยู่ในสภาพ หายใจรวยริน จากสายป่านทางการเงินที่สู้รายใหญ่ไม่ได้ ภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ  บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น บิ๊กรับเหมาที่มองเห็นสภาพปัญหา บอกไว้เช่นนั้น

   นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อโครงการรัฐไม่ขยับ ยังส่งผลให้โครงการของ ภาคเอกชน ทั้งหลายต่างชะลอการลงทุน โดยเฉพาะการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพราะไม่มั่นใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ  

   “รับเหมารายเล็กจึงได้รับผลกระทบ ทั้งขึ้นทั้งล่องหลีกหนีบ่วงสภาพคล่องได้ยากยิ่ง !

    ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ระบุถึงหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล (บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม) ในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ของปีนี้ ว่าอยู่ที่  16,090 ยูนิต  "ลดลง" เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 17,980 ยูนิต

เฉพาะเดือนเม.ย.เดือนเดียว ยอดการเปิดขายใหม่ บ้านจัดสรร ลดลงเหลือเพียง 1,050 ยูนิต เทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่เปิดขายมากถึง 2,670 ยูนิต ขณะที่คอนโดมิเนียม เปิดขายใหม่อยู่ที่ 3,610 ยูนิต ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเปิดขายอยู่ที่ 3,580 ยูนิต 

ขณะที่ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี ที่จัดทำโดย “ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ” มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า จากการสำรวจ 1,452 ตัวอย่างทั่งประเทศ พบว่า ในไตรมาสแรก ดัชนีอยู่ที่ระดับ 50.0 ลดลง 0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ที่ดัชนีอยู่ที่ระดับ 50.5  ขณะที่ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจและดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจเอสเอ็มอี ที่อยู่ระดับ 51 

นอกจากนี้ยังระบุว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ภาคการผลิต มีแนวโน้มดัชนีลดลง เมื่อเทียบกับ “ภาคบริการ” ที่ยังเริ่มโงหัวจาก “ภาคการท่องเที่ยว” ที่เริ่มฟื้นตัว

นี่คือ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับเอสเอ็มอีไทย ไม่เฉพาะ ผู้รับเหมาแต่ยังขยายวงไปสู่ เอสเอ็มอี ในภาคส่วนอื่นๆ ดังค่าดัชนีที่ปรากฏ 

ขณะที่ “เอสเอ็มอี” คือ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อพวกเขาได้รับผลกระทบย่อม ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังทุกภาคส่วน ทำให้เกิดการชะลอ “กำลังซื้อ” กดดันภาวะเศรษฐกิจหนักข้อขึ้นไปอีก 

ดังนั้น การผลักดันโครงการขนาดใหญ่ ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว จึงเป็น “ภารกิจ” ที่เร่งด่วนของรัฐบาลชุดนี้ 

ซึ่งจะถือเป็น หนึ่งในมาตรการสำคัญในการ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” อย่างแท้จริง

อย่าได้ รีรอ”