รัฐประหารและการพยายามทำรัฐประหาร : ศตวรรษที่สิบเก้า-ปัจจุบัน

รัฐประหารและการพยายามทำรัฐประหาร : ศตวรรษที่สิบเก้า-ปัจจุบัน

ในช่วงศตวรรษที่สิบเก้าระหว่างปี ค.ศ.1800-1899 มีรัฐประหารทั้งที่สำเร็จและล้มเหลวเกิดขึ้นในโลกโดยประมาณรวมทั้งสิ้น 23 ครั้ง

การทำรัฐประหารและความพยายามในการทำรัฐประหารในศตวรรษที่สิบเก้าเกิดขึ้นแทบทุกทวีป ได้แก่ ยุโรป (ฝรั่งเศส [2 ครั้ง] ไอซ์แลนด์ สวีเดน โรมาเนีย สเปน) ออสเตรเลียเอเชีย (ญี่ปุ่น) อเมริกาเหนือ (สหรัฐอเมริกาและฮาวาย) อเมริกากลางและใต้ (บัวโนสไอเรส เวเนซูเอลา เม็กซิโก [6ครั้ง] คอสตาริกา [3 ครั้ง] บราซิล [2 ครั้ง])

ส่วนในกรณีประเทศไทย ในช่วงระหว่าง ค.ศ.1800-1899 (พ.ศ.2343-2442) อันเป็นต้นรัตนโกสินทร์ระหว่างรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 กล่าวได้ว่า ไม่มีรัฐประหารและการพยายามทำรัฐประหารที่เป็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจน

ในศตวรรษที่ยี่สิบระหว่างปี ค.ศ.1900-1999 มีรัฐประหารและความพยายามในการทำรัฐประหารเกือบ 300 ครั้ง ผู้เขียนได้ลองจัดอันดับประเทศที่มีการรัฐประหารและความพยายามทำรัฐประหารถี่มากที่สุดในศตวรรษที่ยี่สิบได้แก่

1.อาร์เจนตินา และกรีซ (11 ครั้ง) 2.บราซิล ไทย และปากีสถาน (8 ครั้ง) 3.เอธิโอเปียและไนจีเรีย (7ครั้ง) 4.อิรัคและบูกีนา ฟาโซ (6 ครั้ง) 5.เวเนซูเอลา ชิลี โบลีเวีย ตุรกี ลาว และกานา (5 ครั้ง) 6.เยอรมนี อิตาลี เม็กซิโก สเปน บัลแกเรีย ซีเรีย โซมาเลีย บังคลาเทศ และซูรินัม (4 ครั้ง)

7.โปรตุเกส โปแลนด์ อิหร่าน อัลบาเนีย เอสโตเนีย ญี่ปุ่น คิวบา กัวเตมาลา ปานามา เปรู ซูดาน ฟิลลิปปินส์  และเฮติ (3 ครั้ง) 8.รัสเซีย ฮังการี จอร์เจีย ลิธัวเนีย โดมินิกัน อุรุกวัย ลัตเวีย จีน แอลเจียร์ โรมาเนีย เยเมน ปารากวัย คองโก เกาหลีใต้  ศรีลังกา พม่า เอกวาดอร์ โตโก อัลจีเรีย แกมเบีย อาเซอร์ไบจาน เซียร์รา เลโอน ยูกานดา ชาด (2 ครั้ง)

และสุดท้ายได้แก่ โปรตุเกส ฟินแลนด์ อียิปต์ อิรัก ฝรั่งเศส เวียดนามใต้ ฮอนดูรัส การ์บอง อินโดนีเซีย เซอร์เบีย จักรวรรดิออตโตมาน คอสตาริกา สาธารณรัฐประชาชนตูวัน รัสเซีย ออสเตรีย ฯลฯ (หมายเหตุ : ยังมีอีกหลายประเทศที่ติดอันดับสุดท้ายนี้)

และหากนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000-2015 มีการทำรัฐประหารและความพยายามทำรัฐประหารเกิดขึ้นทั้งสิ้น 60 ครั้ง โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เคยมีรัฐประหารมาแล้วในศตวรรษที่ยี่สิบ เช่น เอกวาดอร์ ฟิจิ สาธารณรัฐแอฟริกันกลาง เวเนซูเอลา ฟิลิปปินส์ (เล่นไป 3 ครั้ง) คองโก (3 ครั้ง) เฮติ ชาด (3 ครั้ง) โตโก ฯลฯ และแน่นอนว่า ย่อมต้องมีพี่ไทยด้วยใน 15 ปีแรกของศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ระหว่าง ค.ศ.2000-2015 พี่ไทยเราก็เล่นไป 2 ครั้ง นั่นคือ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับ 22 พฤษภาคม 2557

กล่าวได้ว่า ประเทศไทยเราคร่ำหวอดกับรัฐประหารและการพยายามทำรัฐประหารติดอันดับต้นๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ นักรัฐศาสตร์ของเราก็มิได้นิ่งนอนใจ ได้ทำการศึกษาค้นคว้าเรื่อง “ทหารกับการเมือง”มาตั้งแต่ พ.ศ.2521 (ค.ศ.1978) โดยสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และได้มีการตีพิมพ์เป็นบทความรวม ในวารสารสังคมศาสตร์ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน พ.ศ.2521 โดยมีบทความดังต่อไปนี้ คือ

1.แนวความคิดในการศึกษาทหารกับการเมือง โดย ดร.กนลา สุขพานิช เอกแสงศรี 2.การแทรกแซงของทหารในการเมืองไทย โดย ดร.สุจิต บุญบงการ 3.ทหารในฐานะนักเปลี่ยนสังคมให้ทันสมัย โดย ผศ.นรนิติ เศรษฐบุตร 4.บทบาทของทหารในการเมืองไทย โดย ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช 5.รัฐบาลทหารเหนี่ยวรั้งหรือส่งเสริมความเจริญของประเทศ โดย ดร.พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว และ 7.ทหารกับการพัฒนาประเทศ โดย ดร.จารุภัทร เรืองสุวรรณ (ปัจจุบันพลเอก)

เมื่อได้ฟังหัวข้องานวิจัยของนักรัฐศาสตร์ไทยในปี 2521 หลายคนคงสนใจเรื่อง “รัฐบาลทหารเหนี่ยวรั้งหรือส่งเสริมความเจริญของประเทศ” ของ ดร.พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว ในบทความนี้ ท่านอาจารย์พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว (ท่านเป็นอาจารย์ของผู้เขียนและดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สาขารัฐศาสตร์ และท่านได้เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว) อาจารย์พรศักดิ์ได้หยิบยกสมมุติฐานของ Samuel Huntington นักรัฐศาสตร์อมริกันผู้โด่งดังมาพิจารณา โดยฮันติงตันมีสมมุติฐานเกี่ยวกับกรณีทหารกับการพัฒนาทางการเมืองว่า

“ขณะที่สังคมเปลี่ยนไป บทบาทของทหารก็เปลี่ยนไปด้วย ถ้าอยู่ในสังคมอภิชนาธิปไตย ทหารเป็นพวกหัวรุนแรง ถ้าอยู่ในสังคมชนชั้นกลาง ทหารก็เป็นผู้ร่วมมือหรือเป็นพวกตามสบาย ถ้าอยู่ในสังคมของชนชั้นต่ำ ทหารก็เป็นผู้พิทักษ์แบบจารีตนิยมที่คอยรักษาความสงบเรียบร้อย ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ถ้าอยู่ในสังคมล้าหลัง ทหารก็จะเป็นพวกหัวก้าวหน้า และถ้าอยู่ในสังคมเจริญก้าวหน้า ทหารก็จะเป็นพวกจารีตนิยมหรือเป็นกลุ่มปฏิกิริยา”

จากสมมุติฐานนี้ อาจารย์พรศักดิ์ท่านเห็นว่า “ในทัศนะของฮันติงตัน ผลของการปกครองโดยทหารจะขึ้นอยู่กับระดับ‘ความล้าหลัง’ ของสังคม แต่ฮันติงตันไม่ได้บอกไว้ว่า ความล้าหลังดังกล่าวหมายถึงระดับความเจริญด้านใดบ้าง โดยกล่าวแต่เพียงว่าเป็นระดับของการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม ถ้าระดับการพัฒนาการต่ำ การปกครองโดยทหารก็จะมีผลเป็นไปในทางบวกต่ออัตราการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพราะไม่ต้องมาห่วงในการปกปักรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นกลาง หรือของกลุ่มทหารเอง ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นสังคมที่มีระดับการพัฒนาสูง การปกครองโดยทหารก็จะถ่วงอัตราการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพราะในประเทศที่มีสภาพสังคมเช่นนั้น ชนชั้นกลางเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่ต้องการความคุ้มครองจากการถูกรบกวนจากคนส่วนน้อย ซึ่งได้แก่ชนชั้นต่ำ”

อาจารย์พรศักดิ์กล่าวต่อไปอีกว่า “สมมุติฐานของฮันติงตันดังกล่าว เป็นที่น่าสนใจและน่าพิจารณาทดสอบจากประสบการณ์ความเป็นจริงของประเทศต่างๆ” ท่านอาจารย์พรศักดิ์ได้อ้างงานของ Phillippe Schmitter นักรัฐศาสตร์ผู้โด่งดังในเรื่องการเมืองเปรียบเทียบ เขาได้ลงพื้นที่ภาคสนามเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์ในละตินอเมริกา และพบความจริงที่สวนทางสมมุติฐานข้างต้นของฮันติงตัน !!  นั่นคือ การปกครองโดยรัฐบาลทหารไม่มีผลใดๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมากนัก เราคงต้องหันมาศึกษาในกรณีประเทศไทยกัน