น้ำท่วมบางกอก

น้ำท่วมบางกอก

ฝนตก และเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานครหลายจุดพร้อมกัน โรงเรียนบางแห่งปิดเรียน

 การสัญจรบนถนนนิ่งสนิททั้งเมือง สร้างความโกลาหลในมหานครแห่งนี้

ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) สัญญา ชีนิมิตร ยอมรับว่า พื้นที่กรุงเทพฯ รองรับปริมาณฝนตกได้ 60 มิลลิเมตร หากมากกว่า 100 มิลลิเมตร ก็ต้องรอน้ำระบาย

ส่วนผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ สุขุมพันธ์ บริพัตร และรองผู้ว่าฯกทม. รองปลัดกทม. เดินทางไปดูงานเรื่องระบบระบายน้ำ ที่ประเทศฮอลล์แลนด์ เกิดเสียงเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ

กรุงเทพฯ หรือ “บางกอก อยู่คู่กับปัญหาน้ำท่วม หลายปีมานี้ เอกชน และนักวิชาการ แนะนำกทม. ทำกทม.ให้หลวมๆ เนื่องด้วยกทม.ตอนในไม่สามารถรองรับความหนาแน่นประชากรได้มากกว่านี้แล้ว โดยการกระจายเขตเมืองใหม่ออกไปรอบนอก และเสนอให้ปฏิรูปการจัดการพื้นที่สีเขียว ความหนาแน่น และการระบายน้ำให้เหมาะกับขนาดพื้นที่ เพื่อป้องกันภัยน้ำท่วม ไฟไหม้ โลกร้อน และลดการใช้พลังงานเพื่อสู้ความร้อนเกินจำเป็น

โดยปี 2558 กทม.เกิดวิกฤติ เกาะร้อน เพราะมีพื้นที่สีเขียวต่ำกว่ามาตรฐานเมืองในโลกถึง 10 เท่าตัว สร้างพายุรุนแรงกลางเมือง

ผังเมือง ที่ผิดพลาด เร่งสร้างคอนโด สร้างห้างสรรพสินค้าจนแออัด ไม่คำนึงถึงการระบายน้ำ ไม่คำนึงถึงการกักเก็บรังสีความร้อน ส่วนถนน และขนส่งสาธารณะต่อพื้นที่ก็ไม่พอต่อจำนวนประชากร แถมมาเฟียทางเท้า ยัดไก่ ลงท่อเวลาขายไม่หมด โดยไม่กลัวกฎหมาย

จากสถิติกรุงเทพมหานครยังเป็นเมืองที่มีตึกระฟ้ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 12 ของโลก มีแหล่งชอปปิ้งและค้าขายที่สำคัญมากมาย ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากมาย โดยในปี พ.ศ. 2555 องค์กรการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ได้จัดอันดับกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีคนเดินทางเข้า เป็นอันดับที่ 10 ของโลก และเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย โดยมีคนเดินทางมากกว่า 26.5 ล้านคน

การจัดอันดับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ด ประจำปี พ.ศ. 2557 กรุงเทพฯ มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของนักท่องเที่ยวถึง 16.42 ล้านดอลลาร์ เป็นอันดับที่สองของโลก รองเพียงกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

การเติบโตอย่างรวดเร็วของกรุงเทพฯ ขาดการวางผังเมือง ทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ ถนนที่จำกัด และการใช้รถส่วนบุคคลอย่างกว้างขวางส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรแออัดเรื้อรัง

“บางกอก” นั้น สันนิษฐานว่าแม่น้ำเจ้าพระยา 372 กิโลเมตร คดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกกันว่า “บางเกาะ” หรือ “บางโคก” หรือไม่ก็เป็นเพราะบริเวณนี้มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงเรียกว่า “บางมะกอก” โดยคำว่า “บางมะกอก” มาจากวัดอรุณ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของวัดดังกล่าว และต่อมากร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่าบางกอก

“บางกอก” พื้นที่ส่วนมากเป็นที่ราบลุ่ม ตั้งอยู่บนพื้นที่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ซึ่งเกิดจากตะกอนน้ำพา มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1.50-2 เมตร ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้งในช่วงฤดู​​มรสุม

ฝนตก น้ำท่วมบางกอก เป็นความรับผิดชอบของผู้ว่ากทม. หรือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของผู้อยู่อาศัย ที่จะยอมรับความจริงว่า บางกอกแออัดเกินกว่าจะผลักปัญหาให้คนหนึ่งคนใด