ทีวีดิจิทัล 'ผิดแผน'

ทีวีดิจิทัล 'ผิดแผน'

วาระครบรอบ 1 ปี“ทีวีดิจิทัล” ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ดูเหมือนสื่อ “ฟรีทีวี” ช่องใหม่ กลับมาถูกจับตามมอง

ถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับธุรกิจ ที่คาดหวังว่าจะกอบโกยเม็ดเงินให้กับผู้ถือใบอนุญาตอีกครั้ง!!

 หลังจากบริษัทไทยทีวี จำกัด ของพันธุ์ทพา ศกุณต์ไชย หรือติ๋ม ทีวีพูล ประกาศปิดฉากธุรกิจทีวีดิจิทัล 2 ช่อง ทั้งช่องข่าวและช่องเด็ก กับตัวเลขขาดทุน 320 ล้านบาท เพียงปีแรกของการดำเนินธุรกิจ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “ทีวีดิจิทัล” ในขณะนี้ แวดวงอุตสาหกรรมสื่อ โฆษณา และผู้ประกอบกิจการต่างวิเคราะห์กันว่าเป็นการดำเนินการมาอย่างผิดแผน

เริ่มจากการเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ในช่วงปลายปี 2556 สำนักงาน กสทช.ประสบความสำเร็จในการประมูลอย่างมากได้เงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท สูงกว่าราคาตั้งต้นที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ราว 3 เท่าตัว แสดงให้เห็นถึงความต้องการของผู้ประกอบการทั้งที่อยู่ในธุรกิจทีวีและหน้าใหม่ที่ต้องการเข้าสู่สนามแข่งขัน เพื่อหวังช่วงชิงเม็ดเงินโฆษณาทีวีที่ นีลเส็น รายงานว่ามีอยู่ราว 7-8 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยสำรวจจากราคาตั้งโฆษณา(rate card) ของแต่ละช่องที่เสนอขาย ขณะที่ตัวเลขมูลค่าโฆษณาทีวีที่เกิดขึ้นจริงอยู่ที่ราว 4-5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นการเคาะราคาประมูลที่ส่งผลต่อต้นทุนในวันนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการอาจประเมินพลาด!!

จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้อุตสาหกรรมโฆษณา “ไม่เติบโต” เม็ดเงินโฆษณาทีวียังมีอยู่เท่าเดิม อีกทั้งการออกอากาศทีวีดิจิทัลตั้งแต่เดือนเม.ย. ปี2557 ถึงปัจจุบันรวม 15 เดือน ช่องอนาล็อกในกลุ่มผู้นำทั้งช่อง 3 และช่อง 7 ยังคงครองงบโฆษณาเดิมไว้ได้ จากเรทติ้งที่สูงกว่าช่องดิจิทัล

งบโฆษณาทีวีที่กระจายมายังทีวีดิจิทัลช่องใหม่ จึงมีไม่มากโดยไหลมาจากช่อง 5 และช่อง 9 รวมทั้งช่องเคเบิลและทีวีดาวเทียม อีกทั้งช่องดิจิทัลใหม่ ยังมีเรทติ้งไม่สูง การกำหนดราคาจึงเป็นไปตามสภาพเฉลี่ยหลัก “หมื่นบาท” หรือมีอัตราส่วนลด 70-80% ของราคาโฆษณาที่เสนอขาย

ขณะที่ทีวีดิจิทัล ต้องแบกรับภาระต้นสูงทั้งค่าใบอนุญาต ค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดิน (Mux) ค่าเช่าดาวเทียม การผลิตคอนเทนท์ แต่หลายช่องกับทำราคาได้ระดับเดียวกับ “ทีวีดาวเทียม” กลายเป็นภาวะต้นทุนและรายได้ไม่สมดุล ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างรวดเร็ว

ในมุมมองของผู้ประกอบการผู้รับใบอนุญาต ต่างชี้ว่าการดำเนินงานของทีวีดิจิทัลในวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของ กสทช. ที่ไม่ดำเนินการตามแผนที่ระบุไว่ก่อนประมูล มุ่งประเด็นไปที่การขยายโครงข่าย การแจกคูปอง และการจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ล่าช้า!!ทำให้ ทีวีดิจิทัล มีฐานผู้ชมต่ำ ส่งผลต่อโอกาสการหารายได้โฆษณาตามมา

เมื่ออุตสาหกรรมโฆษณาไม่เติบโต เรทติ้งต่ำ ผู้นำอนาล็อกเดิมยังแข็งแกร่ง ...ความหวังของ “ทีวีดิจิทัล” ช่องใหม่ ที่ต้องการเข้ามาสร้างอาณาจักร การเป็นเจ้าของฟรีทีวี เพื่อหวังสร้างความมั่งคั่งจากอายุใบอนุญาต 15 ปี เป็นอันต้องผิดแผน ไปในที่สุด

จนกระทั่งเกิดสถานการณ์ทิ้งใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ของไทยทีวี เป็นรายแรก และกลายเป็นปมร้อน ให้ เลขาธิการ กสทช.ฐากร ตัณฑสิทธิ์  ออกมาเสนอแนวคิดผ่าทางตันทีวีดิจิทัล ด้วยการใช้ มาตรา44แก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ ที่ว่าการอนุญาตให้ผู้ได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ ในที่นี้ คือ ทีวีดิจิทัล สามารถเปลี่ยนมือ หรือขายไลเซ่นส์ที่ถืออยู่ให้กับรายใหม่ได้ โดยหวังสกัดปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จากปัญหาหนี้ที่เกิดจากการประมูลในอีก 4 งวดที่เหลือ ซึ่งมีมูลค่ากว่า3หมื่นล้านบาท

นโยบายการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของ “ทีวีดิจิทัล” หลังจากเริ่มต้นออกอากาศไปได้เพียง 1 ปี เพื่อหวังให้การจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ 24 ช่อง เป็นทางเลือกให้ผู้ชม มีคอนเทนท์หลากหลายในขณะนี้

นับเป็นสถานการณ์ ผิดแผน ในการกำกับดูแลทีวีดิจิทัลให้อยู่รอดตลอดอายุใบอนุญาต 15 ปีของ กสทช. เช่นกัน